กสม. ทำข้อเสนอแนะเรื่อง 'ทรงผมนักเรียน' ชี้ต้องรับฟังความเห็นและเน้นการมีส่วนร่วม

กสม. ทำข้อเสนอแนะเรื่องทรงผมนักเรียน ชี้การกำหนดระเบียบทรงผมต้องรับฟังความเห็นและเน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก

31พ.ค.2567 - นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับให้นักเรียนตัดทรงผมตามข้อบังคับของโรงเรียนตลอดจนการทำโทษนักเรียนที่ฝ่าฝืนเกินสมควรแก่เหตุ โดยในปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาและต่อมาได้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนได้เอง กสม. เห็นว่าการกำหนดแบบทรงผมนักเรียนและการลงโทษนักเรียนที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมนักเรียนเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จึงเห็นสมควรให้มีการศึกษาเรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิของเด็ก โดยได้พิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้อง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และความเห็นจากหน่วยงานของรัฐและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้วมีข้อพิจารณาสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของกฎเกณฑ์ที่กำหนดทรงผมนักเรียนและนักศึกษา เห็นว่า แม้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในทางปฏิบัติผลของระเบียบนั้นยังคงอยู่และได้รับการรับรองให้ใช้ต่อไปเพื่อกำหนดเจตจำนงร่วมกันระหว่างนักเรียน สถานศึกษาและผู้ปกครองในเรื่องทรงผม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงอำนาจในการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนฯ เห็นว่า เป็นการออกระเบียบโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นเพียงกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างหน่วยงานของรัฐ มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจออกกฎหรือคำสั่งอันจะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลภายนอกขอบข่ายการบริหารจัดการภายในองค์กร

นอกจากนี้ แม้ปัจจุบันสถานศึกษาแต่ละแห่งจะมีอำนาจกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เองตามแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ แต่การกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เป็นการก้าวล่วงเข้าไปยังแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับเส้นผมอันเป็นส่วนประกอบของร่างกาย ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมาย ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้หากไม่ได้รับความยินยอม ประกอบกับนักเรียนมิใช่บุคลากรด้านการศึกษาหรือมีตำแหน่งหน้าที่เช่นเดียวกับบุคลากรที่อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ การมีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมก็ดี การกำหนดมาตรการบังคับกรณีที่มีการฝ่าฝืนแบบการไว้ทรงผมก็ดี ล้วนแต่เป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานทั้งสิ้น ดังนั้น การกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนจึงต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้เสียก่อน และไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจทั่วไปในการบริหารงานภายในหน่วยงานด้านการศึกษามาใช้ได้

ประการที่สอง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับหลักการคุ้มครองสิทธิของนักเรียนในการไว้ทรงผม เห็นว่า หากกระทรวงศึกษาธิการหรือสถานศึกษาจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนในกรณีต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการต้องมีหลักประกันสิทธิของเด็กในสถานศึกษาว่าคำสั่งหรือข้อบังคับที่มีผลให้นักเรียนต้องไว้ทรงผมนั้นมีรูปแบบที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ข้อ 28 วรรคสอง และปรากฏเหตุผลความจำเป็นในบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการป้องกันสุขอนามัย หรือการคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งยังต้องประกันว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการไว้ทรงผมของนักเรียนจะต้องไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การเคารพในวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น เพศสภาพ กลุ่มศาสนาหรือวัฒนธรรมส่วนน้อยในท้องถิ่น นอกจากนี้ การกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงสิทธิของเด็กที่จะได้รับการรับฟังและมีส่วนร่วมตัดสินใจในบรรดาหลักเกณฑ์หรือนโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กด้วย

ประการที่สาม ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการใช้มาตรการบังคับให้นักเรียนกระทำตามแบบทรงผม ปรากฏว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษากรณีฝ่าฝืนการไว้ทรงผมนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการกระทำให้อับอาย การตัดผมของนักเรียนโดยพลการ รวมถึงการลงโทษโดยการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ โดยเห็นว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เป็นหลักเกณฑ์ที่มีขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการควบคุมกำกับการประพฤติตนของนักเรียนและนักศึกษา มิได้รวมถึงการแต่งกาย อันได้แก่ การไว้ทรงผม การไว้หนวดเครา การย้อมสีผม ดัดผม จึงไม่อาจนำระเบียบดังกล่าว มาใช้บังคับกับนักเรียนที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการไว้ทรงผมได้ ดังนั้น หากนักเรียนผู้รับคำสั่งฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ตัดผม บุคลากรทางการศึกษาย่อมไม่มีอำนาจกระทำการในทางใดที่จะบังคับเอากับตัวนักเรียนได้ทั้งทางตรง เช่น การบังคับตัดผม กล้อนผม หรือการบังคับทางอ้อม เช่น การให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นมาตัดผมให้ ทั้งนี้ การสั่งการให้นักเรียนปฏิบัติตามจะต้องเป็นการสร้างความเข้าใจที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยการพูดคุยกับเด็กหรือผู้ปกครอง ซึ่งมิใช่มาตรการลงโทษ แต่เป็นไปเพื่อการสร้างความเข้าใจที่เกิดจากการมีส่วนร่วม

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้กระทรวงศึกษาธิการแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดถือปฏิบัติว่ากระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาไม่มีอำนาจกำหนดแบบทรงผมของนักเรียนไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ทั้งต้องมีมาตรการว่า หากมีความจำเป็นต้องสั่งการให้นักเรียนตัดผมหรือไว้ทรงผมในกรณีใดจะต้องปรากฏความจำเป็นเพื่อการรักษาสุขอนามัย หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนเองหรือผู้อื่นเท่านั้น ทั้งนี้ ระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนของสถานศึกษาจะต้องเกิดจากการรับฟังความเห็นของนักเรียนโดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียนเป็นสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการคุ้มครองสิทธิของเด็ก

(2) ให้คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หมวด 7 การส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งกายโดยเฉพาะเรื่องทรงผมของนักเรียนว่าจะต้องมีขึ้นได้แต่โดยเหตุผลอันสมควรเท่านั้น และให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตรากฎกระทรวงฉบับใหม่ที่เป็นมาตรฐานกลางในการออกระเบียบ หรือข้อกำหนดของสถานศึกษาเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียน กฎกระทรวงเกี่ยวกับมาตรการบังคับให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎว่าด้วยทรงผมนักเรียนของแต่ละสถานศึกษา และกฎกระทรวงว่าด้วยวิธีการรับฟังความเห็นของนักเรียนและนักศึกษาโดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสำคัญ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

กสม.ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมาน-การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

กสม. ส่งมอบแผนพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ตร. ขานรับพร้อมยกระดับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในสถานที่ควบคุมตัว

กสม.แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ให้ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สวมเสื้อชั้นในได้

กสม. แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขัง ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสวมเสื้อชั้นในหรือแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ