กสม.ชี้ร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

กสม. ตรวจสอบกรณีร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย

24พ.ค.2567- นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า ร้านสะดวกซื้อสาขาหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา (ผู้ถูกร้อง) เอาเปรียบผู้ร้องและพนักงานรายอื่น ๆ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น อนุญาตให้พักกลางวันน้อยกว่า 1 ชั่วโมง หักหรือปรับเงินในกรณีที่พนักงานมาสายหรือสินค้าสูญหาย และมีกรณีที่พนักงานรายหนึ่งซึ่งถูกหักเงินเข้าประกันสังคมมาโดยตลอด ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ และรัฐมีหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 รับรองสิทธิของแรงงานในการได้รับค่าจ้างในอัตราเท่ากัน สำหรับการทำงานที่มีลักษณะ คุณภาพและปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) นโยบายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)

จากการตรวจสอบเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก กรณีการลงโทษพนักงานโดยผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำและเผยแพร่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนของวินัยและโทษทางวินัย เห็นว่า ร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ใช้วิธีแจ้งหรือบอกกล่าวพนักงานให้ทราบด้วยวาจา ประกอบกับได้ลงโทษพนักงานที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวโดยไม่ได้กำหนดโทษสำหรับการกระทำนั้นไว้ ได้แก่ การหักเงินพนักงานที่เข้าทำงานสาย การหักเงินกรณีมีสินค้าสูญหาย อีกทั้งไม่ได้มอบสลิปค่าจ้างซึ่งแสดงเงินรายรับและรายการหักให้พนักงานได้รับทราบ เพียงแต่ให้พนักงานตรวจสอบวัน/เวลาทำงาน ค่าจ้าง และเงินพิเศษอื่น ๆ ก่อนการจ่ายค่าจ้างแต่ละเดือน เป็นเหตุให้พนักงานไม่มีโอกาสตรวจทานรายรับและรายการหักเงินของตนเองอย่างรอบคอบ จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกระทบต่อสิทธิแรงงานของพนักงาน จึงเป็นการกระทำและละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ การที่ร้านสะดวกซื้อฯ ปรับสถานะพนักงานรายเดือนเป็นพนักงานรายวันด้วยเหตุแห่งการลา โดยไม่ได้กำหนดโทษของการลาที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และโทษของการขาดงานติดต่อกัน
ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งไม่ได้ปิดประกาศเผยแพร่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้พนักงานทราบ ส่งผลให้พนักงานไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและไม่ได้รับสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้าง จึงกระทบต่อสิทธิและความมั่นคงในการทำงานของลูกจ้าง อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง กรณีผู้ถูกร้องไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้แก่พนักงาน จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกร้องได้นำส่งเงินสมทบย้อนหลังทันทีที่ทราบว่ายังมิได้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องมิได้เพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของพนักงาน

ประเด็นที่สาม กรณีการให้พนักงานพักระหว่างการทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมงได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อพิจารณาลักษณะการประกอบกิจการของผู้ถูกร้อง ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีการแบ่งเวลาการทำงานเป็น 3 กะ ร้านได้แบ่งเวลาพักให้แก่พนักงาน 1 ชั่วโมงต่อรอบการทำงาน เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ได้ตกลงกันแล้วว่าอาจเรียกพนักงานที่อยู่ระหว่างการพักไปให้บริการลูกค้าก่อนแล้วจึงกลับไปพักต่อ ซึ่งเป็นการบริหารงานภายในร้านเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ดี กสม. มีข้อสังเกตว่า แม้บริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อฯ จะไม่ได้มีสถานะที่ถือเป็นนายจ้างและไม่ได้มีอำนาจบังคับบัญชาร้านสะดวกซื้อ สาขาดังกล่าว แต่มีการทำธุรกิจร่วมกัน
ในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า โดยคัดเลือกผู้ลงทุนภายนอกเพื่อดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อตามกระบวนการของบริษัท วางระบบการบริหารจัดการร้านและดูแลลูกค้า กำกับดูแล รวมทั้งส่งต่อนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทให้ร้านสะดวกซื้อทราบและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริษัทเจ้าของแบรนด์จึงสามารถยกเลิกสัญญาได้ หากพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่
21 พฤษภาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) ให้ร้านสะดวกซื้อฯ (ผู้ถูกร้อง) จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ชัดเจนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะวินัยและโทษทางวินัย เผยแพร่และปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ทำงานของพนักงานโดยเปิดเผย โดยอาจแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกจ้างได้ทราบและเข้าถึงได้โดยสะดวก และให้ดำเนินการตรวจสอบการหักเงินพิเศษกับพนักงานที่มาทำงานสายและทำสินค้าในร้านสูญหาย และชดใช้เงินคืนให้แก่พนักงานดังกล่าว เพื่อชดเชยเยียวยาให้แก่พนักงานที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจาก
การลงโทษทางวินัยโดยที่ยังไม่เคยรับทราบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร

นอกจากนี้ ให้เพิ่มการสื่อสารกับพนักงานเกี่ยวกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ กฎระเบียบ บทลงโทษ
ในการทำงาน และรับฟังข้อคิดเห็นจากพนักงานตามความเหมาะสม เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน
หากพนักงานกระทำผิดกฎระเบียบให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามหลักธรรมาภิบาลก่อนใช้มาตรการลงโทษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมและสภาพการทำงานที่น่าพึงพอใจตามหลักสิทธิมนุษยชน

(2) ให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ตรวจสอบร้านสะดวกซื้อฯ
(ผู้ถูกร้อง) ตามหน้าที่และอำนาจ หากพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างของร้านสะดวกซื้อขณะตรวจสอบสถานประกอบกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เช่น การลา การพักระหว่างการทำงาน เป็นต้น

(3) ให้บริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ กำหนดเรื่องสิทธิแรงงานและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นหนึ่งในหัวข้อรายการตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทนำไปใช้ประเมินความเสี่ยงด้านแรงงานและธรรมาภิบาลในร้านสะดวกซื้อที่เกี่ยวข้องทุกสาขา และพัฒนาการเข้าถึงช่องทางการแจ้งเรื่องร้องเรียนให้พนักงานร้านสะดวกซื้อของผู้ลงทุนภายนอก สามารถร้องเรียนต่อบริษัทได้โดยตรง โดยรับประกันว่าการร้องเรียนจะไม่กระทบต่อการทำงานของพนักงาน และประกาศนโยบายดังกล่าวให้พนักงานทราบโดยทั่วกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กสม.' ชี้ ก่อสร้างโรงแรมใน ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมปชช. จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

'กสม.' ชี้ โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบสิทธิและวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

กสม. ชงแก้กม. ให้ผู้ติดยาเสพติดได้บำบัดรักษา โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ

'กสม.' ชงแก้ไข กม. ให้ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล 'ผู้เสพคือผู้ป่วย'

กสม. ชี้ตร.ปล่อยให้มีการถ่ายภาพ-คลิปเด็กกราดยิงในห้างฯเผยแพร่ในโซเชียล ละเมิดสิทธิ

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ

'ณัฐชา' โอดชาวประมงเลี้ยงกุ้งโดน 'ปลาหมอคางดำ' กินเกลี้ยงบ่อ เรียก 'ซีพีเอฟ' แจงอนุกมธ.

'ณัฐชา' โอด ชาวประมงในพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 3 แสนตัว โดน'ปลาหมอคางดำ' กินเกลี้ยงบ่อ ต้องกู้เงินทำทุน สุดท้ายขายโฉนด เผย 11 ก.ค.นี้ เรียก 'ซีพีเอฟ' เข้าแจง อนุ กมธ. จี้ส่งซากปลาขวดโหลตรวจ DNA ตรงกันกับที่ระบาดหรือไม่

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน