(แฟ้มภาพ)
22 พ.ค. 2567 - ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง “คืนสิทธิความเป็นคน คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสิทธิประกันตัว ให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี” วันที่ 22 พ.ค 2567
.
ตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีครอบครองอาวุธที่สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เหตุจากทั้งคดีสิ้นสุดแล้ว และอีกส่วนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 14 พ.ค. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 43 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 26 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 16 คน (มีเยาวชนอีก 1 ราย ถูกคุมขังตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาล)
.
ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 17 คน ตลอดจนมีผู้ต้องขังเสียชีวิตระหว่างต่อสู้คดีแล้วอีก 1 คน ส่วนในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือวางเพลิงรถตำรวจ มีผู้ไม่ได้ประกันตัว รวม 9 คน
.
ในวาระครบรอบ 10 ปี ของการทำรัฐประหาร ยังมีประชาชนจำนวนมากถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งในห้วงระยะเวลา 10 ปีผ่านมา บรรดาองค์กรทางกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ได้พยายามลบเลือนรอยร้าวของระบอบประชาธิปไตย โดยการนิรโทษกรรมให้กับคณะผู้ทำรัฐประหารที่ ทำลายระบบนิติรัฐของประเทศอย่างไม่เหลือชิ้นดี และทิ้งไว้เพียงซากความเสียหายที่ประชาชนต้องแบกรับชะตากรรมทางกระบวนการอยุติธรรม ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
.
ผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกคุมขังที่กำลังเผชิญหน้ากับชะตากรรมทางคดีการเมืองที่ไม่มีท่าทีจะยุติลงในเร็ว ๆ นี้ ได้แจ้งความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัว เพื่อใช้สิทธิของตนเองอีกครั้ง และเพื่อตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ายังมีคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับความเดือดร้อน รวมถึงยืนยันการผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมกับผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน และขอเรียกร้องให้องค์กรทางกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ยึดมั่นในหลักการและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
.
ในวันนี้ (22 พ.ค. 2567) ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังที่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิประกันตัว ทั้งหมด 19 ราย ได้แก่ อานนท์, ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์, สุขสันต์, อุกฤษฏ์, วีรภาพ, อุดม, “กัลยา”, จิรวัฒน์, ทีปกร, ณัฐชนนท์, ทานตะวัน, อัฐสิษฎ และสิรภพ โดยผู้ต้องขังได้ขอความช่วยเหลือเงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคของประชาชน ในการวางหลักประกันต่อศาล
.
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากต้องการยุติการต่อสู้ทางคดีแล้ว และในกรณีของ เก็ท โสภณ ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมจนกว่าผู้ต้องขังรายอื่นจะได้รับการประกันตัวทั้งหมด
.
ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของประชาชนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำริบหรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันของศาลในลักษณะเช่นเดิมที่ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ และเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเพื่อนผู้ต้องขังที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับอย่าง “บุ้ง เนติพร” กลายเป็นแรงผลักให้หลายคนต้องยืดหยัดในสิทธิการประกันตัวของตัวเอง และเพื่อให้พวกเขาได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตให้เร็วที่สุดอีกครั้ง จึงขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัว โดยหวังว่าจะไม่มีชีวิตใดต้องถูกกระบวนการยุติธรรมพรากชีวิตไปอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลสั่งคุก 'อานนท์ นำภา' 2 ปี ผิด ม.112-พรบ.คอมพ์ รวมโทษจำคุก 5 คดี กว่า 16 ปี
ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำอ.1395/2565 ที่อัยการสำนักงานคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้อง นายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำม็อบราษฎรในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และพระราชินีฯ มาตรา 112
'พิธา' เผยไม่ได้เห็นต่าง 'ทักษิณ' เรื่องเปลี่ยนโครงสร้าง เหน็บอย่ามัวแต่พูด ถึงเวลาต้องทำแล้ว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างลงพื้นที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร
ชทพ.หนุนนิรโทษกรรมแต่ต้องไร้ ม.110-ม.112
'ชาติไทยพัฒนา' หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องเว้น ม.110 และ 112 เชื่อก้าวข้ามความขัดแย้งได้
'เทพไท' ซัดพรรคเพื่อไทยตระบัดสัตย์เรื่องนิรโทษกรรม
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช
'เพื่อไทย' แถบอกรายงานนิรโทษกรรมแค่การศึกษาหากแก้ 112 จริงไม่ยอมแน่
'พท.' จ่อเห็นชอบรายงาน-ข้อสังเกตนิรโทษกรรม บอก แต่ละพรรคโหวตอย่างไร เป็นเอกสิทธิ์ ด้าน 'นพดล' ย้ำ ไม่มีความคิดนิรโทษความผิดม.110 และ 112
ไม่สำนึก! 'เฒ่าสามนิ้ว' จี้สภาฯล้างผิดคดี 112 อ้างเพื่อยุติความขัดแย้ง ประเทศเดินหน้าต่อได้
ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาฯ