นักวิชาการบอกหากมีรัฐประหารอีกไทยอาจถูกมหาอำนาจแทรกแซง!

ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช.คาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคตจะสร้างความเสียหายรุนแรง อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจ

22 พ.ค.2567 - รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นในโอกาสครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557ว่า คาดหวังเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย หากเกิดรัฐประหารอีกในอนาคตจะสร้างความเสียหายทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมรุนแรง พัฒนาทางการเมืองหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้เกิดพลังที่ไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลที่ได้ชัยชนะมาอย่างท้วมท้นจากการเลือกตั้ง โดยพลังนี้พยายามจะทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และพลังที่เป็นอุปสรรคอย่างแท้จริงต่อการพัฒนาการเมืองแบบเลือกตั้ง คือ พลังที่ไม่ค่อยพอใจกับการเมืองแบบเลือกตั้ง และพลังดังกล่าวนี้อาจถึงกับยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การรัฐประหาร เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งส่งผลกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เวลาเราต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง (Democratic Consolidation) นั้น เราไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม เราต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมภิบาล มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า รัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่มีลักษณะที่ผ่อนคลายกว่า เผด็จการทหารในยุค พ.ศ. 2500-2516 เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและไม่เกื้อหนุนต่อระบอบอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดรุนแรง รัฐบาล คสช ใช้อำนาจปกครองยาวนานเกือบ 5 ปี จึงยอมให้มีการเลือกตั้งได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาคล้ายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ

ต่อมา คณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed-Member Appointment System – MMA) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ในประเทศไทย การเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความล่าช้าและความคลาดเคลื่อนในการประกาศผลคะแนนเกือบทุกเขตเลือกตั้ง การคำนวณ ส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมของแต่ละพรรคและการนับคะแนนเสียงผลการเลือกตั้งก็ไม่มีมาตรฐาน มีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส ความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประยุทธ์ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นจากเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง และ คะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 และ การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช.และ สร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจของระบอบคณาธิปไตยมากกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่แพร่ขยายด้วยพลังของสื่อสังคมออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากลของทั่วโลก ต่อมาได้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม นำมาสู่การชุมนุมประท้วงโดยมีการจัดกิจกรรมเฟลชม็อบอย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบของนิสิตนักศึกษากว่า 50 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย เป็นไปในลักษณะการรวมตัวแบบรวดเร็วและสลายตัวเร็ว การส่องแสงแฟลช (Flash) ผ่านมือถือเสมือนเป็นการแสดงออกถึงความมีตัวตนและการแสดงความไม่พอใจต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช ผ่านการเลือกตั้ง การใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและตั้งคำถามต่อระบบความยุติธรรมและระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศไทย มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโชเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพในการรณรงค์ประชาธิปไตย มีการสร้างคำเพื่อติดแฮชแท็ก (hashtag) ต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบันด้วย ปรากฎการณ์ของแฟลชม็อบบ่งชี้ว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวได้กลับมาตื่นตัวและต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับพลังของนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การชุมนุมประท้วงแฟลชม็อบของนักศึกษาข้างต้นจึงสะท้อนความคับข้องใจต่อสภาวะความอยุติธรรมในสังคม การเรียกร้องทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา และ ความไม่พอใจต่อการถูกทำลายเสียงของพวกตน รวมทั้งพื้นที่ทางการเมืองของพวกตนจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและตั้งคำถามและการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงจุดยืนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วยคะแนนเสียงรวมมากกว่า 70% แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขั้วประชาธิปไตยได้ด้วยเสียงของวุฒิสมาชิกเป็นอุปสรรค จึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วแทน เสถียรภาพของรัฐบาลผสมข้ามขั้วยังคงอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ค.ส.ช. และ บทบาทการเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสมาชิกชุดแต่งตั้ง ส.ว. รักษาการกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหวยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่จะมีการพิจารณายุบ พรรคก้าวไกล ในช่วงเวลใกล้เคียง การรัฐประหารโดยตุลาการหรือองค์กรอิสระ หรือ การรัฐประหารโดยกองทัพ ล้วนทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยต้องสะดุดลง สร้างความเสี่ยง ความไม่แน่นอนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า หากเกิดรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้ ภูมิภาคนี้และประเทศไทยเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และ อียู อยู่แล้ว การสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของรัฐชาติ และ ลดความเสี่ยงของการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจ หากเกิดการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ อาจต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาใหม่ หรือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนอกวิถีทางประชาธิปไตยที่เปิดช่องเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้า ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมืองเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้ ผู้ได้รับเลือกตั้งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร และในบางประเทศจะมีกระบวนการเลือกตั้งผู้ทำหน้าที่ทางด้านตุลาการ สิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมพรรคการเมืองได้รับการรับรองไว้ในระดับสากล คือ มาตรา 20 ของคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมและสมาคมโดยสันติ” ในกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) รับรองสิทธินี้ไว้เช่นกันในมาตรา 22 “บุคคลย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมกับผู้อื่น รวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเอง การจำกัดสิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน หรือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ได้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการยุบพรรคการเมืองเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ และ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องมุ่งไปที่การรักษาสิทธิ เสรีภาพ และ หลักการประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ใช่เพื่อปิดกั้นหรือทำลายเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม และ หลักเกณฑ์ว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองมีลักษณะใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้การแต่งตั้งของคณะรัฐประหารได้ยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก เริ่มจาก การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) พรรคไทยรักษาชาติ (2562) พรรคอนาคตใหม่ (2563) พรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ และ ผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มของตน การยุบพรรคการเมืองตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมือง และ ค่อยๆสะสมสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา กฎหมายยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยถูกวิจารณ์ในแง่ความชอบธรรมเนื่องจากเป็นผลพวงของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ ปี พ.ศ. 2557 หลายกรณีเป็นการกระทำของบุคลากรบางคนของพรรคการเมือง ไม่ใช่การกระทำขององค์กร เกิดข้อสงสัยเรื่องความเป็นกลางและเป็นอิสระ

สถาบันพรรคการเมืองเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองโดยกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสังกัดพรรคการเมืองตลอดจนการกำหนดกติกาหลายประการเพื่อให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กร กลไกและองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเถลิงอำนาจของกลุ่มอำนาจนิยม และ อาจใช้อำนาจนั้นล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน หากพรรคการการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น อันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) มาตรการยุบพรรคการเมืองจึงถูกระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ปี พ.ศ. 2550 และ ปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยเองมีกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองและยุบพรรคการเมืองค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทัศนคติไม่ไว้วางใจนักการเมือง มาตรการเข้มงวดเกินพอดีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยได้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ได้ขยายเหตุแห่งการยุบพรรคกว้างขวางมากกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา นอกจากนี้ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้วถึงสองพรรคการเมืองคือ พรรคอนาคตใหม่ และ พรรคไทยรักษาชาติ จนเกิดตั้งคำถามในสังคมโดยเฉพาะในแวดวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ว่า ตกลง การยุบพรรคการเมืองตามหลักคิดประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ของไทยทำลายหรือปกป้องประชาธิปไตยกันแน่ มาตรการยุบพรรคการเมืองนั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์สมัยสงครามครั้งที่สอง ในช่วงการมีการขยายบทบาทของพรรคการเมืองแนวฟาสซิสต์อำนาจนิยม และได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยลง ฉะนั้นจึงมีพัฒนากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยปกป้องตัวเองด้วยการให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยได้

“มาตรการยุบพรรคนี้เป็นมาตรการที่ผลรุนแรงต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เป็นมาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมักถูกตั้งคำถามในความชอบธรรมและผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และ มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยหรือเป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอวรงค์' จวกยับเจ้าของคอก-พวกแพ้เลือกสว. แล้วโทษรัฐประหาร

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นกระบวนการที่ผูกโยงกับพร

ศูนย์ทนายฯ เผย ผูัลี้ภัยไทยยังมี 104 คน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมือง-นิรโทษ 112

ศูนย์ทนายฯ เผย สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112

'อนาคตไกล' ชี้รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หากบ้านเมืองยังมีนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด

ครบ 92 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 2475 การเมืองไทยยังวนลูปแย่งชิงอำนาจ “อนาคตไกล” ชี้รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หากบ้านเมืองยังมีนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด

ทักษิณดิ้นแรง! ทีมทนายยื่น 'อสส.' ขอทบทวนสั่งฟ้องคดี 112 อ้างถูกคสช.ยัดข้อหา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานอัยการว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมกฎหมายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาคดีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุด(อสส.)

ดร.เสรี ฟาดคนเห็นแก่ตัว อ้างโดนยัดคดี

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดแะลการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประกาศบนเวทีให้ FC ฟังว่าตัวเองโดนยัดเยียดคดี ก็หมายความว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหาสินะ

บี้ 'อัยการสูงสุด' เคลียร์ปม 'ทักษิณ' โวยคดี 112 ผลไม้พิษ โดนยัดข้อหา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อสส. ต้องชี้แจง ข้อกล่าวหาของ "ทักษิณ"