รองโฆษกตำรวจเตือนลงทุนธุรกิจดิจิทัลในยุค 5 จีที่เข้าถึงง่ายขึ้น ผลตอบแทนสูงอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ แนะศึกษาให้ดีก่อน
06 ม.ค.2565 - พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงแนวโน้มการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ง่ายขึ้น และเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนน่าดึงดูด อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปอีกในอนาคต โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2564 มีผู้เปิดบัญชีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสูงถึง 1.77 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่า 1 ล้านบัญชี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลให้มีผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ซึ่งได้มีการนิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และได้จัดประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิใดๆ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ถูกจัดเป็นหนึ่งในประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงมีการกำหนดโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนอีกด้วย
พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุอีกว่า การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งในการยื่นขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาต เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมถึงเสียค่าธรรมเนียม ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านการคัดกรองจาก ก.ล.ต. และได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วจำนวน 8 ราย ได้แก่ BITKUB, Satang Pro, Huobi, ERX, Zipmex, Upbit, Z.comEX, และ SCBS (ข้อมูลจาก ก.ล.ต.) ซึ่งในส่วนของผู้ที่สนใจลงทุนก็ควรตรวจสอบว่าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตนเองได้ทำธุรกรรมนั้นมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ หากไม่ใช่ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตแล้ว 8 รายข้างต้น ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณให้มาก เนื่องจากการทำธุรกรรมนั้นๆ จะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. และอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาก็เป็นได้ ซึ่งหากพบว่าการทำธุรกรรมมีเงื่อนไขที่น่าสงสัย หรือดูดีเกินไป ก็ควรหลีกเลี่ยงไป
“จากสถิติของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 พบว่ามีการร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลกว่า 100 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 180 ล้านบาท จึงขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังให้มากไม่เช่นนั้นท่านอาจจะถูกฉ้อโกงจนสูญเสียทรัพย์สินหรือถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Theft) และอาจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปหาประโยชน์ในทางที่ผิดกฎหมาย จนท่านเองอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้”
พ.ต.อ.กฤษณะระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมที่อาจแฝงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวของให้เร่งทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงพิษภัยที่แอบแฝงมาและแนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์(Cyber Vaccine) ให้กับประชาชน และขอให้ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้ลงทุน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันและตัดโอกาสเหล่ามิจฉาชีพที่อาจจะฉวยโอกาสในการกระทำความผิดต่อไป
ในส่วนของผู้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นจะเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีโทษจําคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ในส่วนของผู้ที่ลงทุนกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย เนื่องจากธุรกรรมภายในธุรกิจนั้นๆ ไม่อยู่ ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต. และหากเกิดการหลอกลวงหรือฉ้อโกงขึ้นก็จะติดตามและตรวจสอบได้ยาก
“ขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมไปยังประชาชนผู้ที่สนใจในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถึงแนวทางในการป้องกันหลีกเลี่ยงเหล่ามิจฉาชีพที่แอบแฝงตัวมา โดยก่อนจะลงทุนใดๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เนื่องจากการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องใช้ความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้ดี ต้องตรวจสอบให้ดีว่าสินทรัพย์ดังกล่างนั้นได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th และควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องนอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจแนะ 6 ข้อเพื่อให้ลอยกระทงปลอดภัย
ตร.เตือนลอยกระทงปลอดภัย แนะ 6 สิ่งต้องคำนึง ก่อนนึกถึงพระแม่คงคา
เตือน 5 ผีร้ายวันฮาโลวีนหลอกจนหมดตัว!
ตำรวจออกโรงเตือนระวัง 5 ผีร้ายฮาโลวีน หลอกหลอนจนหมดตัว
ตร.เตือนสติ 'เกรียนคีย์บอร์ด' โพสต์ป่วนเมืองคุก 5 ปีปรับ 1 แสน
เตือนโพสต์เอาสนุก หวังป่วนเมือง โทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท
ตำรวจเตือนระวัง! เจอหลอกลงทุนธุรกิจขายตรง
ตร. เตือนระวังหลอกลงทุนธุรกิจขายตรง ใช้กลวิธีหลอกลวงเบื้องหลังเป็นแชร์ลูกโซ่
กมธ.ฟอกเงินข้องใจ 'กลต.-ดีเอสไอ-ปปง.' ทำหน้าที่ล่าช้าคดีหุ้นสตาร์ค
'กมธ.ฟอกเงิน' เผยผลสอบคดีฉ้อโกงหุ้นสตาร์ค ชี้ จนท.ดำเนินการล่าช้า ไม่สอบคน-เส้นทางเงินเกี่ยวข้อง ทั้งที่คดีสร้างความเสียหายให้ประชาชนกว่า 14,000 ล้าน