'ทวี' ยืนยันราชทัณฑ์ยื้อชีวิต 'บุ้ง ทะลุวัง' ถึงที่สุดแล้ว พร้อมส่งหลักฐานให้ครอบครัวทั้งหมด

"ยธ." ยันราชทัณฑ์ยื้อชีวิต "บุ้ง ทะลุวัง" ถึงที่สุด พร้อมส่งหลักฐานการรักษาให้ครอบครัวทั้งหมด ส่วนภาพกล้องวงจรในห้องผู้ป่วยต้องขอความยินยอมจากผู้ต้องขังอื่นด้วย แจงมาตรฐานเดียวกันกับทักษิณ

17 พ.ค.2567 - ที่กระทรวง​ยุติธรรม​ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึง กรณีการเสียชีวิตของน.ส.นิติพร เสน่ห์คง หรือ บุ้ง ทะลุ​วัง​ ว่าขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพนั้น เบื้องต้นการชันสูตรผู้เสียชีวิตที่อยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง มาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและส่งศาลใน 30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาเหตุการเสียชีวิต จากนั้นศาลจะดำเนินการไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน ซึ่งญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาสอบถามหรือ ข้อสงสัย หรือหาพยานหลักฐานมาหักล้างสาเหตุการตายตามข้อสงสัยได้ จึงขอให้ครอบครัวมีความมั่นใจ แต่ตนไม่อยากกล่าวอะไรที่เป็นการชี้นำเนื่องจากกระบวนการต่างๆเหล่านี้ไม่มี ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์แต่พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลให้ ส่วนลำดับเหตุการณ์ขณะเสียชีวิตนั้นขณะนี้กรมราชทัณฑ์กำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อชี้แจงทั้งหมดว่า โดยเบื้องต้นทราบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 คน และจากการที่ดูกล้องวงจรปิดแล้วมีบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ทั้งหมดรวมถึงเหตุการณ์ย้อนไปหลายวัน จึงขอให้มีความมั่นใจได้ บุ้งรับประทานอาหารขณะอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีรายการจัดส่งอาหารที่พยาบาลบันทึกไว้ทั้งหมดว่าจัดส่งอาหารครบสามมื้อ

แล้วหลังจากนี้หากไม่ผิดระเบียบของทางกรมราชทัณฑ์ก็สามารถพาผู้สื่อข่าวไปดูทัณฑสถานได้ ได้ มองว่าทุกคนที่เข้ามา เป็นเหมือนครอบครัวไม่ว่าจะมีโทษอะไร ก็จะต้องดูแลให้เสมอภาค ไม่เคยรับใครกลับจากโรงพยาบาลถ้าไม่ได้รับการร้องขอซึ่งกรณีนี้นี้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้ มีหนังสือส่งตัวกลับหลายฉบับให้กลับมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตนเกรงว่าเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลจะเสียกำลังใจ เพราะทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะรักหมอ ยืนยันได้ว่าทางกรมราชทัณฑ์มีแต่ความเสียใจ และไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร

กรณีที่ทนายความ บอกว่าอยากดูภาพจากกล้องวงจรปิดนั้นโดยหลักการนั้น สามารถให้ได้อยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบก่อนและได้คุยกับทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วว่าให้เปิดเผยข้อมูลเป็นหลัก อะไรที่เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่ต้องขออนุญาตก่อน

ส่วนการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น เพื่อตรวจสอบเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว ขึ้นอีกและกรมราชทัณฑ์จะสามารถดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีได้ดีขึ้นมากกว่านี้หรือไม่

ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา ก็ต้องดูตามกฏหมาย อะไรที่เป็นกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฏหมายส่วนเรื่องมนุษยธรรมนั้น อยากให้น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ไปงานศพ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะมีอำนาจในการให้ผู้ต้องขังเด็ดขาดไปงานศพของพ่อและแม่ที่เสียชีวิตได้ แต่เนื่องจากกรณีเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งกรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจ ต้องให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในการให้ประกัน

กรณีที่สังคมมองว่าจะเป็นการดูแลสองมาตรฐาน หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับนายทักษิณชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น รมว.ยุติธรรมยืนยันว่า มีมาตรฐานเดียว โดยกรณีของบุ้งถ้าธรรมศาสตร์ไม่ทำหนังสือส่งตัวมา เราก็ให้อยู่ที่ธรรมศาสตร์ต่อไป ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เราไม่ใช่พนักงานสอบสวนเพราะเรือนจำมีไว้ให้ออก และทำอย่างไรให้เขาออกไปอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ

ด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากขั้นตอนที่ได้รับรายงานมานั้นในขั้นตอนแรกพบว่าบุ้งและตะวันตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03:00 น. และมีการพูดคุยกัน จากนั้นตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถามบุ้งที่ขณะนั้นนอนอยู่ที่เตียงผู้ป่วยว่า ยังปวดท้องอยู่หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจ สภาพร่างกายตามปกติทุกวันทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ

ตรวจเสร็จแล้วก็มาตรวจตะวันต่อ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06:00 น. บุ้งได้ลุกขึ้นนั่ง และปรากฏว่ามีอาการวูบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.)จำนวน 4 คนก็ได้ยกบุ้งทั้งที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียู และทำ cpr มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคลส ฉีดอะดรีนารีนเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด มีการทำ cpr ตลอดเวลาต่อเนื่องจนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11:00 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า เสียชีวิตอย่างสงบ

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าบุ้งได้เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นั้นนายสหการกล่าว ว่าจะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติมแต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุในการประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยทันที แต่ระหว่างนั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง ย้ำว่าได้พยายามสุดความสามารถแล้ว จากการได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นแพทย์ก็ยืนยันว่า ได้ทำไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล

ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป แต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียงพอหรือไม่

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ในการแถลงข่าวครั้งล่าสุด ผู้ให้ข้อมูลเป็นแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้และไม่ใช่แพทย์เวรจึงไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้ จึงทำให้เกิดการตอบคำถามที่ไม่ชัดเจน

ส่วนเรื่องการดูแลรักษาในวันนั้น เนื่องจากบุ้งเป็นผู้ป่วยพักฟื้น ไม่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษจะมีการตรวจ จัดอาหารและอาหารเสริมให้ตามปกติ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ในห้องนั้นมีหน้าที่ที่คอยเป็นหูเป็นตาให้กับแพทย์โดยมีแพทย์และพยาบาลควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง

ยืนยันว่าแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้พยายามยื้อชีวิตอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไปได้ ส่วนรายละเอียดทางการแพทย์ในเชิงลึกนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้ส่งตัวช้า เนื่องจากมีหลายขั้นตอนที่ต้องทำ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสัญญาณหัวใจ

นายสหการณ์ ยังเผยว่า สำหรับกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงการกลับมารับประทานอาหารของบุ้งนั้น ตนขอเรียนว่าการจัดอาหารสำหรับผู้ป่วย เราก็จะมีนักโภชนาการพิจารณาอยู่ว่าอาการป่วยลักษณะนี้จะต้องรับประทานอะไร ส่วนใหญ่เริ่มจากอาหารอ่อน ตามด้วยวิตามินเสริมและนม ขึ้นอยู่กับสภาพอาการของผู้ป่วย แต่ว่าทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็ได้จัดอาหารตามโภชนาการแก่บุ้ง ทุกมื้อ ส่วนที่ตนได้รับรายงานมาก็คือบางครั้ง บุ้ง ก็เลือกดื่มน้ำหวาน หรือรับประทานอาหารเบาๆก่อน ส่วนก่อนจะถึงวันที่เสียชีวิต เจ้าตัวก็ได้มีการเริ่มรับประทานข้าวต้มมาก่อน อย่างไรก็ตาม ในเช้าวันเสียชีวิต (14 พ.ค.) บุ้งและตะวัน ทั้งคู่นอนอยู่ในห้องผู้ป่วย มีการตื่นมาตอน 03.00 น. อย่างที่เราทราบคนป่วยมักจะมีสภาพหลับ ๆ ตื่น ๆ แต่ ณ ตอนนั้นมันยังไม่ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าแต่อย่างใด จนมาถึงช่วงเวลาประมาณ 06.20 น. บุ้งถึงเกิดอาการวูบหมดสติ

ส่วนกรณีที่ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส (ทนายความของบุ้ง) เผยว่าได้รับทราบผลการตรวจกระเพาะอาหารของบุ้งเบื้องต้นว่าภายในกระเพาะอาหารไม่มีอาหารเลยนั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถามว่า ผลชันสูตรศพออกมาแล้วหรือ ตนยังไม่ทราบในรายละเอียดส่วนนี้ แต่ได้ประสานไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์ แล้วทราบว่ารายละเอียดบางส่วน ทาง รพ.ธรรมศาสตร์ ยังต้องประสานการทำงานร่วมกับสถานพยาบาลอื่นในการตรวจชันสูตร ยืนยันว่าผลการชันสูตรพลิกศพยังไม่ออก ส่วนทนายความรับทราบจากทางใดตนไม่ทราบเช่นกัน

สำหรับกรณีที่ทนายกฤษฎางค์อ้างว่าบุ้งมีการเสียชีวิตมาก่อนจะส่งตัวถึง รพ.ธรรมศาสตร์ นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า อย่างไรขอให้รอการชันสูตรพลิกศพให้เสร็จสิ้นก่อน หากเราไม่รอกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มันก็ยังยืนยันไม่ได้ ส่วนการปั๊มชีพจรภายหลังที่บุ้งวูบหมดสตินั้น เจ้าหน้าที่ได้พาบุ้งไปห้องไอซียูทันที ไม่ได้ปั๊มชีพจรบนเตียงผู้ป่วย เพราะเตียงอาจยุบ จึงมีการยกเตียงจากชั้น 2 ที่บุ้งนอนอยู่ลงไปชั้น 1 ที่มีห้องไอซียูแทน เพราะมันคือเหตุฉุกเฉิน มีเจ้าหน้าที่จำนวน 4 ราย

"ตนขอยืนยันว่าตอนที่ รพ.ธรรมศาสตร์ มีการส่งตัวบุ้งและตะวันกลับมารักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น เนื่องจากทั้งคู่อยู่ในสภาวะพักฟื้นไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงต้องเป็นการรักษาตามอาการ และมีการจัดอาหารให้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือแพทย์ไม่มีสิทธิไปบังคับด้วยการกินหรือให้สารอาหารทางหลอดเลือด ตามที่มีการกำหนดสำหรับแพทยสมาคมโลก (WMA) ในกฎโตเกียวปี ค.ศ 1975 และกฎมนต้า ค.ศ. 1991 จึงทำให้แพทย์ไม่มีสิทธิไปบังคับหรือกระทำการใด ๆ ได้ หากผู้ป่วยไม่ยินยอม หากไปทำก็ถือเป็นการทำลายคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ.

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุอีกว่า จากกฎดังกล่าวของแพทยสมาคมโลก เราก็มีการนำมาปรับใช้ก่อนว่าหากผู้ต้องขังมีการอดอาหารและน้ำ ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการโน้มน้าวก่อน และบอกผลเสียต่อสุขภาพหากอดอาหาร แต่ถ้าเขายืนยันตามความมุ่งมั่นเราก็มีหน้าที่ประคับประคองดูแล หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็ต้องเข้าช่วยเหลือทันที

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยต่อว่า ส่วนประเด็นภาพกล้องวงจรปิดภายในห้องพักผู้ป่วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มี น.ส.ทานตะวัน อยู่กับ น.ส.เนติพร ก่อนเสียชีวิตและแผนการรักษาล่วงหน้า 5 วันที่ทนายกฤษฎางค์ได้ขอนั้น ตนทราบว่าเมื่อช่วงเช้าทางผู้แทนของผู้เสียชีวิต (พ่อหรือแม่ของบุ้ง) ได้เข้ามาติดต่อรับเอกสารการตรวจรักษาของบุ้งย้อนหลัง 5 วันเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิด คงต้องดูอีกที เพราะมันไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆในห้องนั้นด้วย คงต้องมีการเซ็นเอกสารยินยอมจากผู้อื่นก่อน ทั้งนี้ ถ้าหากทางครอบครัวยังมีความข้องใจเรื่องการเสียชีวิต อำนาจคำสั่งของศาลสามารถดำเนินการไต่สวนได้หมดเพื่อพิสูจน์ความผิดต่าง ๆ

ส่วนกรณีที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำพูดที่หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ (นพ.สมภพ สังคุตแก้ว) ระบุว่าไม่มีหมอเทวดาที่ไหนรักษาได้นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ตนมองว่าอาจจะเป็นในลักษณะการพูดมากกว่า เพราะถ้าพินิจกันตามตรง ผู้ป่วยมีหลายประเภท มีทั้งผู้ป่วยในห้องพักฟื้นและรอการกลับบ้าน ในขณะที่บุ้งไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน เขาคือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาไปตามอาการ แต่สิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้คือบางทีไม่ฉุกเฉินแต่วูบหมดสติก็มีโดยไม่มีข้อบ่งชี้ แต่แพทย์ได้ทำสุดความสามารถแล้ว เรามีการวัดค่าออกซิเจน อัตราการเต้นของชีพจร ค่ากลูโคสฯลฯ ทุกวัน ซึ่งมันไม่มีตัวบ่งชี้มาก่อนว่าบุ้งอยู่ในภาวะอันตรายหรือเสี่ยงอันตราย และบุ้งยังมีกิจกรรมกิจวัตรประจำวันปกติ ส่วนเรื่องการเต้นของชีพจรหัวใจของบุ้งก่อนเสียชีวิตอาจจะประมาณ 90 ครั้งต่อนาที ซึ่งมันเป็นค่าปกติ จึงไม่ได้ทำให้เห็นว่าต้องมีการกู้ชีพกระทันหัน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยต่อว่า ส่วนกรณีที่ตนได้ไปสอบถามเพื่อนที่เป็นแพทย์อยู่ภายนอกนั้น โดยเฉพาะในเรื่องเทคนิคการแพทย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการกู้ชีพบุ้ง เดี๋ยวตนจะไปตรวจสอบให้อีกครั้ง แต่ยืนยันว่าแพทย์ทำตามมาตรฐานขั้นทุติยภูมิในการช่วยเหลือผู้ป่วย อีกทั้งวานนี้ (16 พ.ค.) ตนได้สั่งการให้ผู้แทนไปตรวจสอบรายละเอียดมาตรฐานการให้การรักษาดูแลว่ามีสิ่งใดที่เป็นจุดอ่อนหรือไม่ ทั้งนี้ ตนไม่ได้บอกว่าแพทย์ลืมใช้สารอะไรในการฉีดกระตุ้นช่วยเหลือบุ้ง เพราะเขาทำตามกระบวนการการรักษาอยู่แล้ว แต่ในเรื่องที่สื่อมวลชนสงสัย เช่น มีการใช้สารอื่นในการขยายหลอดเลือดช่วยการเต้นของหัวใจหรือไม่นั้น แพทย์มีการใช้อยู่แล้ว แต่เป็นฟอสฟอรัสหรือไม่ ก็จะได้ให้ผู้แทนไปตรวจสอบให้ครบทั้งหมด

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ส่งตัวบุ้งไปเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงมากกว่านี้ ตนอยากเรียนว่าระยะห่างระหว่างทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กับ รพ.ธรรมศาสตร์ มันไม่ไกลขึ้นโทรล์เวย์ได้ และทั้งบุ้งและตะวันต่างมีประวัติการรักษาพร้อมอยู่แล้ว อาจทำให้กระบวนการรักษาน่าจะดีกว่า

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทวีไอพี สอดไส้' ยิ้มรับฉายาใหม่! แก้ข่าว 'ทักษิณ' แข็งแรงไม่เหมือนผู้ป่วย ภายนอกอาจใช่ แต่ภายในอาจป่วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ว่า ต้องขอบคุณในฐานะที่ตนเป็นบุคคลสาธารณะ แต่

'ทวี' เผย 'โกทร' ไม่เข้าเกณฑ์พักโทษ หากป่วยส่งหาหมอราชทัณฑ์

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการย้าย นายสุนทร วิลาวัลย์ และพวก จากเรือนจำจังหวัดนครนายก มายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

'รมว.ยุติธรรม' ยันรื้อคดีแตงโมได้หากมีหลักฐานใหม่

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยกรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลืออาชญากรรมได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อที่จะให้มีการรื้อคดีการเสียชีวิตของแตงโม

'สันธนะ' ซดแห้ว! 'ทวี' ยัน 'สุนทร' ไม่สามารถออกเรือนจำ มาแถลงข่าวปม 'สจ.โต้ง' ได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เปิดเผยกรณี นายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตตำรวจสันติบาล จะยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมขอให้ นายสุนทร วิลาวัลย์ หรือ โกทร ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตของ นายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง