รำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม ไม่ควรเสียเลือดเนื้อกันอีก ต้องทำให้รธน.เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

17พ.ค.2567 - ที่อนุสรณ์สถานฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา' 35 จัดงาน ‘รำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535’ ซึ่งช่วงเช้าเป็นพิธีวางพวงมาลา ก่อนมีพิธีการสงฆ์ และการเสวนาในช่วงบ่าย

โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงเจตนาที่สร้างอนุสรณ์นี้ เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจทุกฝ่าย ให้มีความอดทน สันติ ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน สำหร้บการเรียกร้องความเสียหายค่าชดเชย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลที่แล้วเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่พอได้รัฐบาลเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้ขอประกาศว่า เมื่ออนุสาวรีย์สร้างแล้ว ก็พร้อมที่จะรับการชดใช้ มิใช่การเยียวยา และย้ำถึงภารกิจ ซึ่งคือการต่อต้านการรัฐประหารด้วย

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานนี้ว่า เพื่อให้สิ่งที่สูญเสียไป ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอยู่กันได้โดยสันติวิธี และมีอำนาจสูงสุดของประเทศคือราษฎรทั้งหลายตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หากรัฐธรรมนูญ 2534 ไม่สืบทอดอำนาจ และผู้มีอำนาจ ไม่มีอำนาจต่อ การเรียกร้องในเดือนพฤษภา 35 ก็คงไม่จำเป็นต้องนองเลือด เราต้องหาทางเข้ารับฟังกัน และยอมรับว่า เราต้องอยู่กันภายใต้กติกาสูงสุดที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ

เวลาผ่านไป เหมือนเรายังไม่ได้ไปไหนไกล เรายังคงอยู่กับปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ จากการร่างของคณะรัฐประหารที่ใช้สืบทอดอำนาจเหมือนกัน ความผิดพลาดในอดีต เราไม่ควรต้องมาเสียเลือดเนื้อกันอีก ไม่ควรต้องมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ทั้งฉบับอีก ไม่ควรต้องมาต่อต้านการรัฐประหารอีก แต่น่าเสียดาย ที่เหมือนว่า 32 ปีผ่านไป ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เราทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เรามาช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญกลับมาเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแค่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ทุกคนยอมรับ ต้องมาจากกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่มีปัญหากับการประหัตประหาร เมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก วีรชนในประเทศไทยมีมากพอแล้ว ขอให้ความสูญเสียทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมายุติลง พาประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตยด้วยกัน“ดร.ปริญญา กล่าว

ต่อมา เป็นการวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชน ซึ่งมีตัวแทนจากทั้งฝ่ายต่างๆ และภาคประชาชน เข้าร่วม อาทิ นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา, นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย อาทิ นางศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ รองเลขาธิการพรรค, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรค ด้านพรรคก้าวไกล อาทิ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค, นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.บัญชีรายชื่อ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า วันนี้ เมื่อ 32 ปีที่แล้ว อาจจะเป็นวันที่อำนาจอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการนิยม ซึ่งได้พลัดพรากเอาความฝัน ความเชื่อมั่น ความสุข ความสมหวังในชีวิตของวัยหนุ่มสาว พลัดพรากความสุขในชีวิต การงาน และครอบครัวของผู้รักอิสระเสรีภาพ และเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยของพวกเราไปอย่างไม่มีวันหวนคืนกลับมา

สำหรับประชาชนผู้มีใจรักประชาธิปไตยทุกท่าน ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่มีความเกี่ยวสัมพันธ์กันเป็นญาติพี่น้อง แต่วีรกรรมเสียสละที่เกิดขึ้น ได้มีคุณูประการต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของพวกเราอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นเครื่องเตือนสติว่า ประชาธิปไตยของเรานั้น ยังต้องต่อสู้เพื่อพัฒนาก้าวต่อไป ตามเจตนารมณ์ของวีรชนของเรา

จากเหตุการณ์นี้ จนกระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในความทรงจำของพวกเราทั้งหลาย ทำให้เรามีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพมาสู่ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเนื้อหาสาระที่สะท้อนถึงการยอมรับนับถืออำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเราควรจะใช้ความพยายามให้มีรัฐธรรมนูญที่ดีเช่นนี้อีกในโอกาสต่อไป

ผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับที่ไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ปรากฏในการเมืองสังคมปัจจุบัน เช่น การแสดงออกการชุมนุมการเมือง และการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ที่ทำให้ประชาชนประชาชนได้ตระหนัก นอกเหนือจากการลงคะแนนในวันเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งหมดนี้คือผลจากเหตุการณ์พฤษภา 35

"อย่างไรก็ตาม บุคคลเหล่านั้น ก็ได้ทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง และประชาธิปไตย น่าภาคภูมิใจ และน่าจดจำไว้ในหัวใจของพวกเราตลอดไป สังคมเราจำเป็นต้องเดินต่อไปอย่างมีสันติภาพ แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างกัน แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง หรือดำเนินการแก้ปัญหาด้วยระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย เราต้องไม่ทำให้การสูญเสียของวีรชนเสียเปล่า เราต้องดำรงเจตนาของเหล่าวีรชนต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งหมายความว่า เจตนานั้น จะคงอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดกาลนาน"นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ด้าน นางสาวศศินันท์ กล่าวย้อนไปถึงเรื่องราวของผู้เป็นบิดาว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราจำเหตุการณ์นี้ได้อย่างดี คือบิดาของตนเป็นหนึ่งในนายทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งทำให้บิดาตนรู้สึกผิดมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อจบเหตุการณ์นั้น บิดาและเพื่อนๆ ของเขา ก็ได้ลาออกจากการเป็นทหารทั้งกลุ่ม

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตนเติบโตมาสนใจการเมือง และอยู่ในพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ตนขอเป็นตัวแทนพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน ขอคารวะวีรชนที่มีและไม่มีมีชีวิตอยู่ก็ตาม คารวะญาติวีรชนทุกท่าน พรรคก้าวไกลจะยังคงยึดอุดมการณ์หลักการประชาธิปไตย และยืนข้างประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านต่อไป

“หวังว่าในอนาคตถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการขอโทษโดยผู้นำรัฐบาลทุกปี เหมือนที่ต่างประเทศทำ และมีการสนับสนุนจากรัฐบาลในการจัดงานต่อไป” นางสาวศศินันท์ กล่าว

ส่วน ทพญ.ศรีญาดา กล่าวว่า ปี 2546 เป็นปีที่หนึ่งที่มติครม. สมัยนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย ได้กำหนดให้วันที่ 17 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความเสียสละชีวิตของวีรชนทุกท่าน ยังติดตาตรึงใจเราดี

กระทั่ง 32 ปีผ่านมาแล้ว ความกล้าหาญของวีรชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จุดประเด็นทำให้เราเกิดการเลือกตั้งที่มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากประชาชนจังหวัดละหนึ่งคน ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

"การเดินทางประชาธิปไตยนับทศวรรษ ผ่านการรัฐประหาร และการปฏิวัติ เราสูญเสียเลือดเนื้อพี่น้องพรรคเพื่อไทยไปหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ ดิฉันขอชื่นชม และขอบันทึกไว้ เราจะมาไกลขนาดนี้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้พี่น้องเหล่านั้น เพราะการเสียสละ และต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 พรรคเพื่อไทยจะสานต่อเจตนารมย์เดิมในการปฏิรูปการเมือง เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อประชาชน" ทพญ.ศรีญาดา กล่าว

ฝ่าย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันทร์แรงงานไทย แล้วหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย กล่าวว่า นี่คือภารกิจที่เราต้องต่อยอดสืบสาน ตราบใดที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น เราต้องร่วมกันยืนหยัดต่อสู้ และพยายามออกแบบเครื่องมือในการต่อสู้ เราไม่อยากเห็นความรุนแรง ไม่อยากเห็นการรัฐประหาร

ดังนั้น ตนอยากเรียกร้องทุกคนทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชน ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สส.ทั้งหลาย จงทำหน้าที่อย่างที่สัญญากับประชาชนไว้ เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง

ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าทุกคนมีความฝันที่ต้องการประชาธิปไตย น่าเสียดายที่ตอนนี้ เราไม่ได้รับอนุญาตให้มีความฝันขนาดนั้น เวลานี้ชัดเจนแล้วว่า สังคมไทยยังไม่ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาธิปไตย หรืออิทธิพลองค์กรที่แทรกแซงการเลือกตั้งก็ยังไม่หมดไป ไม่เพียงแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 แต่รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา ด้วย

“โดยเฉพาะรัฐบาลและนักการเมืองผู้ได้รับการอนุญาตให้ถือครองอำนาจจากประชาชนทุกท่าน ได้โปรดอย่าทำแค่มาร่วมงานรำลึกถึง หรือพูดด้วยถ้อยคำสวยงาม แต่สิ่งที่ท่านสามารถทำได้คือ ท่านสามารถอำนวยความยุติธรรมเกิดในประเทศนี้ได้ สามารถชำระประวัติศาสตร์ และหยุดยั้งไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้ สามารถสร้างสังคมการเมือง เพื่อความฝันของประชาชนได้ นี่คือความกล้าที่พวกเราคาดหวังจากพวกท่าน”

จากนั้น จึงเข้าสู่พิธีกรรมทางศาสนาพระสงฆ์สวดอุทิศส่วนกุศลแด่วีรชน ทั้งนี้ ในเวลา 13.30 น. จะเป็นการเสวนาวิชาการ หัวข้อ ‘การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย’ ณ ห้องประชุม 211 (ห้องศาลจำลอง) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา และดำเนินรายการโดย โสภิญญา สุวรรณมณี ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กันลืม! ย้อนอ่านบันทึก 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ที่มา 200 สว. จาก 20 กลุ่มอาชีพ

เราแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้สามารถกระจายกันไปแต่ละกลุ่มจะมีหลักประกันว่าจะมีตัวแทนของคนอยู่ในวุฒิสภา มีคนตั้งข้อสงสัยว่าการกำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่มีเหตุผลอะไร ทำไม่จึงไม่เป็น 25

'อนาคตไกล' ค้านเลิกสส.ปาร์ตี้ลิสต์ หวั่นขาดสมดุลการเมืองไทย

นายณัษฐพล ทิพย์อักษร ทนายความคนดัง มือกฎหมายพรรคอนาคตไกล กล่าวว่า ที่มีการปูดข่าวจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัว

'พิชิต' หมดสิทธิ์นั่ง รมต. ตลอดชีวิต เหตุศาลตีตกคำร้อง ไม่ใช่ล้างข้อกังขา

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กรณี ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 8:1 ยกคำร้องนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี