'ปานเทพ' แฉ แผนลึก ให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทำลายยาแพทย์แผนไทย เอื้อประโยชน์นายทุน

17พ.ค.2567- นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความเรื่อง แผนลึกกว่านั้น!? ให้กัญชาเป็นยาเสพติด ทำลายยาแพทย์แผนไทย เอื้อประโยชน์สิทธิบัตรยาต่างชาติ ใช่หรือไม่? มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ได้ก่อกระแสทำให้เกิดความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วน ซึ่งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องพิเคราะห์สถานการณ์ที่แท้จริงนี้ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ได้มีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดมา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อออกมา “ควบคุมกัญชาทั้งระบบอย่างเข้มข้น” เพราะด้วยปัญหาทางการเมืองมากกว่าปัญหาข้อเท็จจริง

การปลดล็อกกัญชาได้ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถจ่ายยากัญชาได้สะดวกขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยก็สามารถจะปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

อีกทั้งยังมีคนสุจริตซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาจำนวนมาก เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มผสมกัญชาหรือกัญชง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ยาที่ทำจากน้ำมันหรือสารสกัดกัญชาและกัญชง ตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ฯลฯ

นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางรายสามารถส่งออกช่อดอกกัญชงหรือสารสกัดจากกัญชงไปยังต่างประเทศเพื่อทำไปผสมเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆอีกด้วย

แต่ก็ยังมีผู้ที่ดำเนินธุรกิจกัญชาอย่าง “ผิดกฎหมาย” เช่น การเปิดร้านกัญชาอย่างผิดกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต การจำหน่ายกัญชาให้เด็กและเยาวชน การลักลอบการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ การเปิดให้มีการสูบกัญชาในร้านเพื่อนันทนาการ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะปัญหา 2 ปัจจัยสำคัญคือ

1.มีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้สำหรับการควบคุม “ชั่วคราว” นานเกินไป โดยในระหว่างการรอกฎหมายกัญชา กัญชงทั้งระบบ ได้มีการควบคุมกัญชาอยู่แล้วหลายฉบับ เช่น การประกาศให้ช่อดอกกัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม โดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542, พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518, พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ฯลฯ

อย่างไรก็ตามกฎหมายควบคุมกัญชา “ชั่วคราว”เพื่อเอามาใช้ไปพลางๆก่อนนั้น แต่เนื่องจากมีบทลงโทษทางกฎหมายที่ไม่รุนแรงเพียงพอและกลไกที่แยกหลายส่วนงาน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมกัญชาอย่างเป็นระบบและมีบทลงโทษที่รุนแรงในการกระทำความผิดทั้งหมดด้วย การใช้กฎหมายชั่วคราวในการควบคุมกัญชานานเกินไป ทำให้ผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายมีวิวัฒนาการ เห็นช่องว่างและจุดอ่อน ตลอดจนอัตราโทษทางกฎหมายที่ไม่รุนแรง จึงหาช่องทางในการกระทำความผิดมากขึ้น

2.ถึงแม้จะมีการใช้กฎหมายชั่วคราวในการควบคุมกัญชา แต่หากมีการ “บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง” ปัญหาก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่จำหน่ายให้เด็กและเยาวชน ผู้ที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่มาเปิดร้านขายกัญชาอย่างผิดกฎหมาย หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารสกัดกัญชา(ซึ่งเป็นยาเสพติด) เปิดขายอย่างผิดกฎหมาย ย่อมต้องถูกปิดกิจการ หรือมีบทลงโทษทางกฎหมายไปแล้วทั้งสิ้น

แต่ “การปล่อยปละละเลย”ให้มีการกระทำผิดจำนวนมากนั้น ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์กัญชาอย่างใหญ่หลวง ก็เพื่อจะหวังความชอบธรรมทางการเมืองในการ “นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด”มากกว่าหรือไม่?

แต่คำถามข้างต้นคงยังไม่สำคัญกับปัญหาในประเด็นที่ว่า หาก “เปลี่ยนแนวทาง”จากการทำกฎหมายกัญชา กัญชงออกมาต่างหากมาเป็น “การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” เราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรบ้าง?

หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน จะสามารถใช้กัญชาจ่ายให้กับคนไข้ได้เหมือนเดิม เพราะคิดว่ารัฐบาลแม้จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแต่ยังให้ใช้ทางการแพทย์ได้

หลายคนฝันหวานไปว่าหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว ฟาร์มกัญชาของตัวเองจะขายดีขึ้น เพราะไม่ให้ชาวบ้านปลูกแล้ว ต้องซื้อกัญชาจากผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นข้างต้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะในที่สุดแล้วการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะทำให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านจะไม่สามารถจำหน่ายกัญชาให้กับคนไข้ได้เหมือนเดิม คงเหลือแต่ “ยากัญชานำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงเพราะได้จดสิทธิบัตรแล้ว” และแพทย์แผนปัจจุบันพร้อมจะจ่ายกัญชาเหล่านี้ด้วย

หรือจะเหลือแต่กัญชาของฟาร์มผู้ที่มีเส้นสายของกลุ่มทุนใหญ่พวกพ้องนักการเมืองไม่กี่รายเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิผูกขาดการค้าขายกัญชาให้กับประชาชน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ได้โปรดติดตามเนื้อหาดังนี้
ในวงการกัญชาทางการแพทย์นั้น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือ หมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพหลัก ที่มีโอกาสจะ “จำหน่าย” กัญชาหรือน้ำมันกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ให้กับคนไข้ได้มากที่สุด

เพราะสามารถก้าวข้ามการผูกขาดยากัญชาของชาติที่มีสิทธิบัตรที่ต้องซื้อมาในราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายในรูปแบบของตำรับยาแพทย์แผนไทย หรือ การปรุงยาเฉพาะรายให้กับคนไข้แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ตามพระราชบัญญัติ วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ซึ่งทำให้เป็นวิชาชีพที่สำคัญเพราะสามารถจำหน่ายกัญชาให้คนไข้ได้ตามลักษณะความสมดุลของธาตุของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันได้ด้วย

หากพิจารณาจากประกาศของสภาการแพทย์แผนไทย ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2563 ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ได้ครอบคลุมทุกวิธีการใช้กัญชาในหลายรูปแบบที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน ซึ่งรวมถึง การสกัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์แล้วรับประทาน, การตำเป็นผงบดละเอียดละลายน้ำกระสายยาให้กิน, การบดเป็นผงอัดเม็ด, การทำเป็นเม็ดแคปซูล, ยาประสมแล้วเผาไฟใช้ควันรม, ยาประสมแล้วมวนบุหรี่สูบเอาควัน ฯลฯ[1]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทด้วยแล้ว จึงต้องมีความระมัดระวังด้วยการ ค่อยๆให้จากน้อยที่สุดและเพิ่มปริมาณไปเรื่อยๆ ด้วยเพราะตัวรับสารกัญชาของแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนอะไรในโลกนี้ ก็ต้องมีวิธีการไปในทิศทางเดียวกัน

ตัวอย่างยากัญชาสกัดที่ทำโดยหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อนการแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น น้ำมันเดชา น้ำมันกัญชาตำรับเมตตาโอสถ น้ำมันกัญชาตำรับการุณย์โอสถ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เรียนรู้มาจากการใช้น้ำมันกัญชาจริงจากชาวบ้านทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยการแพทย์แผนไทยที่มีลักษณะยืดหยุ่นปรับได้ตามลักษณะของคนไข้แต่ละคนที่ไม่เหมือนกันสอดคล้องไปกับวิถีของการใช้กัญชาอย่างลงตัวที่สุด แต่เนื่องด้วยเพราะกัญชาหากปลูกในประเทศย่อมมีราคาที่ไม่แพงเท่ากับยากัญชาต่างชาติ วิถีของการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน จึงกลายเป็นคู่แข่งตามธรรมชาติของบริษัทยากัญชาของต่างชาติที่หวังจะนำมาขายในประเทศไทยในราคาแพงๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยากัญชาที่มีสิทธิบัตรของต่างชาตินั้น ต่างปลูกในเรือนปิดเกือบทั้งหมดทำให้มีการลงทุนอย่างมหาศาลที่คนไทยหรือวิสาหกิจชุมชนทั่วไปไม่สามารถจะไปลงทุนได้ หรือหากมีผู้ลงทุนในประเทศได้ก็จะเป็นกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยไม่กี่รายที่จะมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตให้ยากัญชาที่มีสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติได้เท่านั้น

นอกจากนั้นในวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ก็มีการควบคุมมาตรฐานเรื่องกัญชากันเองเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วยและประชาชน โดยสภาการแพทย์แผนไทยได้ควบคุมมาตรฐานโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ด้วย

โดยสภาการแพทย์แผนไทยได้มีการออกประกาศสภาการแพทย์แผนไทยหลายฉบับในการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของการดำเนินกิจการเกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์แผนไทยด้วยความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมถึง ผู้ปลูกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย[2], ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แผนไทย[3], สถานบริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย[4], ผู้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนไทย[5], ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แผนไทย[6], มาตรการและบทลงโทษผู้กระทำความผิดในการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต[7]

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงนามโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2567 โดยมีสาระสำคัญปรากฏอยู่ในข้อ 3 และ ข้อ 4 ความว่า

“ข้อ 3 ให้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผสมอยู่ และได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคได้

ข้อ 4 ให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผสมอยู่ และได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อการศึกษาวิจัย เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อการเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้”[6]

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีความหมายซ่อนปมเอาไว้ 2 ประการ

ประการแรก ห้าม “สกัดยาที่มาจากกัญชาหรือกัญชง” ทั้งสิ้นในการใช้ทางการแแพทย์ ให้ใช้ได้ในรูปอื่นที่เป็นตำรับยาที่ห้ามสกัด ไม่ว่าจะมีสารเมา (THC)อยู่หรือไม่ก็ตาม หรือปริมาณเท่าใดก็ตาม ซึ่งจากเดิมแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ สามารถสกัดและใช้ได้ตามกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย และประกาศของสภาการแพทย์แผนไทย รวมถึงการปรุงยาเฉพาะรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสารสกัดกัญชามีปริมาณ THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก

สำหรับประเด็นนี้อาจจะอ้างว่า ปัจจุบันนี้ตำรับยาที่เป็นน้ำมันกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขยอมรับนั้น ไม่นับเป็นยาเสพติดแล้วแพทย์แผนไทยจะสามารถจ่ายได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเป็นยาเสพติด ก็ไม่สามารถผลิตหรือสกัดเองได้ ต้องรอภาครัฐอนุมัติเท่านั้น และไม่สามารถปรุงยาเฉพาะรายได้ด้วย

ประการที่สอง ปัจจุบันยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีพืชเหลือเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควาย หากแต่การเขียนเช่นนี้เป็นการรองรับ พืชกัญชาที่กำลังจะเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามมาใช่หรือไม่

ผลคือ…จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายยากัญชาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแบบดั้งเดิมได้ ไม่สามารถสกัดเองได้ แม้จะไม่มีสารเมา THC หลงเหลือก็ตาม และไม่สามารถทำการปรุงยาเฉพาะรายด้วยการสกัดยาจากกัญชา หรือกัญชงได้ด้วย
เพราะหากกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้อนุญาตให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านจ่ายยาเองได้ตามอำเภอใจ

หากแต่กัญชาเมื่อเป็นยาเสพติดแล้ว จะต้องผ่านเภสัชกรแผนปัจจุบัน และจะต้องมีเภสัชกรแผนปัจจุบันอยู่ในสถานบริการนั้นตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ทั้งๆที่เภสัชกรแผนปัจจุบัน ไม่ได้วินิจฉัยและมีลักษณะการจ่ายยาสกัดสมุนไพรเหมือนกับรูปแบบของการแพทย์แผนไทยเลย

นี่คือการกีดกั้นทางวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านในการ “จำหน่ายกัญชา” หรือไม่

ดังปรากฏตามมาตราประมวลกฎหมายยาเสพติดดังนี้
”มาตรา 40 ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 หรือผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 ต้องจัดให้มี “เภสัชกรอยู่ประจำ” ควบคุมกิจการตลอดเวลาทำการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง“[9]

ดังนั้นถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็เตรียมปิดฉากการใช้กัญชาในการแพทย์แผนไทยได้เลย นอกจากไม่สามารถสกัดยากัญชาหรือกัญชงหรือปรุงยาเฉพาะรายตามแนวทางของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้แล้ว ยาที่มีกัญชาตามตำรับในแนวทางการแพทย์แผนไทยยังต้องจ่ายโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันเท่านั้นอีกด้วย

นี่คือการตัดตอนและทำลายการจ่ายยากัญชาด้วยการพึ่งพาตัวเองของการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านใช่หรือไม่ และการจ่ายโดยเภสัชกรแผนปัจจุบันนั้นก็เพื่อปูทางไปสู่ยาสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติใช่หรือไม่

ด้วยเหตุผลนี้ใช่หรือไม่ จึงมีการวางแผนกันที่จะเอากัญชาเป็นยาเสพติด แทนที่จะออกกฎหมายควบคุมกัญชากัญชงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
16 พฤษภาคม 2567

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หม่อมกร' เห็นพ้อง 'ปานเทพ' ตอกย้ำ กต.แถลง MOU 44 ขัดกับพระบรมราชโองการโดยชัดแจ้ง

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าวันนี้ปรากฎหัวข้อข่าวว่า“ปานเทพ ซัด กต.กล้าบังอาจแถลงข่าวตัดตอนพระบรมราชโองการ ร.9 ถามกรมสนธิสัญญาฯ ทำเพื่อประโยชน์รัฐบาลชาติใด”

'ปานเทพ' ชำแหละ กต. บังอาจแถลง MOU 44 ตัดตอนพระบรมราชโองการสมัย รัชกาล 9

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ทำไมกระทรวงการต่างประเทศ ถึงบังอาจแถลงข่าวตัดตอนพระบรมราชโองการสมัย รัชกาลที่ 9? มีเนื้อหาดังนี้

ย้อนมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง อย่าลืมมติคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU 2544” ไปแล้ว มีเนื้อหาดังนี้

ยกพระบรมราชโองการสมัยร.9 กำหนดเขตไหล่ทวีป โต้การบิดเบือนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า อย่าปล่อยให้คนปล้นชาติ ทำให้พื้นที่ทะเลไทย กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

'ปานเทพ' ให้ความเห็น 6 ข้อต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา จี้รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง บันทึกความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุข มีเนื้่อหาดังนี้