'ภัสราวลี' ชี้ การอดอาหารประท้วงเป็นสิทธิของนักกิจกรรม

16 พ.ค. 2567 - ที่รัฐสภา น.ส.ภัสราวลี ธนกิจพิบูลย์ หรือมายด์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ให้ความเห็นถึงวิธีการอดอาหารประท้วงในเรือนจำของนักกิจกรรม กระทั่งเกิดเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ในเรือนจำ ว่า การอดอาหารเป็นสันติวิธีที่ทุกคนสามารถใช้ได้ หากว่าใครตัดสินใจที่จะใช้ร่างกาย ชีวิต ของตนเองเป็นต้นทุนอย่างเดียวที่มีอยู่ ในการเรียกร้อง ก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะทำได้

"เราคงไม่สามารถที่จะไปพูดได้ ว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะทุกการแสดงออก ทุกการกระทำ อยู่ที่บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเมินเอง และเราไม่สามารถพูดได้ว่าคนที่ตัดสินใจแบบนี้ ตัดสินใจผิด หรือทำไปแล้วจะสูญเปล่า" น.ส.ภัสราวลี กล่าว

น.ส.ภัสราวลี กล่าวอีกว่า อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ น.ส.เนติพร เราสามารถพูดได้จริงๆ หรือว่า ไม่เกิดผลอะไร ความจริงเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบหนักมาก แต่น่าเศร้าที่รัฐ และกระบวนการยุติธรรม ปล่อยให้เขาใช้วิธีนี้ จนเขาต้องเสียชีวิต ดังนั้น คนที่เราควรตั้งคำถามถึงในกรณีความสูญเสียนี้ รัฐและกระบวนการยุติธรรมเห็นความสำคัญ ของการคืนสิทธิ์ประกันตัวให้พวกเขาหรือยัง ถ้าหากว่าคืนสิทธิ์ประกันตัวให้ พวกเขาจะเลือกใช้การประท้วงด้วยการใช้ชีวิตของตัวเองแบบนี้ไหม

"เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเองยังไม่ได้เห็นว่าประชาชนสู้จริงๆ ด้วยอุดมการณ์ เขายังเมินเฉย และละเลยอยู่ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ทำให้ความสูญเสียตรงนี้ เกิดขึ้นซ้ำอีกก็ได้" น.ส.ภัสราวลี กล่าว

น.ส.ภัสราวลี กล่าวต่อว่า ถ้าหากการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ไม่ได้มีสาเหตุจากการอดอาหาร แต่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ร่างกายน็อกไป แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อข้อเรียกร้องของ น.ส.เนติพร รวมถึงจะสะท้อนคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยในชีวิตของผู้ต้องถูกขังในเรือนจำอื่นๆ ว่าเมื่อพวกเขาถูกขังแล้ว จะถูกปล่อยให้ตายอีกหรือไม่

น.ส.ภัสราวลี กล่าวด้วยว่า กลายเป็นว่าตอนนี้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหรือถูกขังในเรือนจำ จะถูกจำแนกโดยใช้มาตรฐานอื่น ต่างจากคดีอื่นๆ ทั้งไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว มาตรฐานในการดูแลรักษาก็ไม่ชัดเจน

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือคนที่อยู่ในเรือนจำ จะได้รับประกันตัวหรือไม่ หากไม่ได้ประกัน แล้วความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร เขาจะยังสามารถเรียกร้องอยู่ในเรือนจำได้อย่างปลอดภัยหรือไม่" น.ส.ภัสราวลี กล่าว

สำหรับอีก 3 คน ที่ยังอดอาหารอยู่ในเรือนจำ คือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน, นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์, และ นายมงคล ถิระโคตร หรือบัสบาส จะมีแพทย์ที่ได้มาตรฐานคอยประกบดูแลอาการของพวกเขาอย่างใกล้ชิดหรือไม่ การใช้ร่างกายของตัวเองเพื่อเรียกร้องเป็นสิทธิ์ของเขา แต่รัฐได้ให้การดูแลรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน เท่าเทียมกับกรณีอื่นๆ แล้วหรือยัง นี่เป็นหลักสำคัญที่ทางรัฐบาล ทางกระทรวงยุติธรรม กระทั่ง กรมราชทัณฑ์เอง ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนให้ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???