'ทะลุฟ้า' บุกสภาฯ เรียกร้องนิรโทษกรรมรวมความผิด ม.112-ชะลอคดีความ -ปล่อยนักโทษการเมืองที่อยู่ในเรือนจำ ด้านชูศักดิ์ย้ำยังไม่ได้มีมติปฏิเสธ หรือไม่รับข้อเสนอ แต่อยู่ระหว่างการหารือ
16 พ.ค. 2567 - กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำทะลุฟ้า เดินทางยื่นมาหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. นายนิกร จำนงค์ ในฐานะเลขานุการ กมธ. และนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ. เป็นผู้รับ
โดย น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า จากกรณีที่ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ได้เสียชีวิตลง เชื่อว่าคนที่มีสำนึกความเป็นมนุษย์อยู่ในใจยอมรับไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นต่างกันมากแค่ไหน ไม่ว่าจะแสดงออกอย่างไร แต่เขาไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเนื้อตัวทำร้ายผู้อื่น
น.ส.ภัสราวลีย้ำว่า คดีของบุ้งรวมถึงคดีของนักโทษการเมืองอื่นๆ ที่ถูกจองจำอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดมาตรา 112 รวมถึงคดีที่มีมูลเหตุทางการเมืองอื่นๆ ด้วย แต่คดีเหล่านี้ได้รับสิทธิการประกันตัวไม่เหมือนคดีอื่นๆ ทั่วไป บุ้งคือคนที่ต้องใช้ร่างกาย ซึ่งเป็นต้นทุนเดียวของชีวิตเขาที่เหลือประท้วงอยู่ในเรือนจำ การอดอาหาร เพื่อเรียกร้องการคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน พร้อมเรียกร้องว่าจะต้องไม่มีใครเดินเข้าเรือนจำด้วยการถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีก เขาใช้ร่างกายที่เป็นต้นทุนเดียวสุดท้ายที่มี ในการเรียกร้อง และ ณ วันนี้ เขาเสียชีวิตลงไปแล้ว มีหนึ่งชีวิตสูญเสียไปจากการถูกขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวแล้ว เพราะฉะนั้น ในวันนี้ เราจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องส่งเรื่องให้ถึงรัฐบาล ซึ่งเราได้ยื่นไปเมื่อเช้า และตอนนี้เรายื่นให้ กมธ. จึงอยากให้ กมธ.พิจารณาอย่างจริงจัง ถึงความสูญเสียที่เพิ่งเกิดขึ้น
น.ส.ภัสราวลีกล่าวต่อว่า อันดับแรกคือ ช่วยพิจารณาเรื่องมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมอีกครั้งหนึ่งอย่างจริงจังได้ไหม ในตอนแรกที่เริ่มต้นได้เข้าร่วมประชุมกับทุกท่าน มีเหตุผลมากมายบอกว่า มาตรา 112 ยังไม่เป็นปัญหา เป็นคดีที่ต้องแยกออกไป เป็นคดีที่พูดคุยกันยาก มีความเป็นไปได้ว่า ตอนนั้นจะเกิดการตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณาเรื่องมาตรา 112 แยกออกมา แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด
“ในวันนี้ เราจึงมาบอกพวกท่านอีกครั้งหนึ่งว่า ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งนึงเถอะค่ะ หลังการสูญเสียนี้เกิดขึ้นแล้ว จะกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังได้หรือยัง การนิรโทษกรรมจะรวมมาตรา 112 ได้หรือยัง จะพูดได้หรือยังว่า มาตรา 112 มีปัญหาจริงๆ จะเอาเหตุผลไหนมาปฏิเสธว่า มาตรา 112 ไม่มีปัญหา ทั้งตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้ มายด์คิดว่าเรื่องนี้หาก กมธ. จะไม่รวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย จะต้องอธิบายเหตุผลให้กับพี่น้องประชาชนฟังอย่างชัดเจนว่า เหตุผลในการไม่รวมคืออะไร เหตุใดจึงมองว่า มาตรา 112 ไม่ใช่คดีความทางการเมือง และเป็นคดีที่มีปัญหา ในเมื่อคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวเรียกร้องด้วยชีวิตของเขา จนเขาเสียชีวิตไปแล้ว”
น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า อีกส่วนที่สำคัญคือ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการในการดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด ในเมื่อเห็นปัญหาของคดีความทางการเมืองที่สะสมขนาดนี้ เพื่อยุติการสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ขอให้ชะลอคดีความก่อนได้หรือไม่ หยุดพักการดำเนินการกระบวนการต่างๆ ก่อนได้หรือไม่ ไม่ป้อนคนเข้าเรือนจำเพิ่มได้ไหม ไม่ให้คนเข้าไปเสี่ยงที่จะถูกขังจนตายได้ไหม และส่วนที่สาม คนที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ ปล่อยพวกเขาออกมาได้ไหม พิจารณาเรื่องนี้กันอย่างจริงจังหน่อย ปล่อยพวกเขาออกมา ให้พวกเขาได้รับสิทธิในการประกันตัวอย่างเช่นคดีอื่นๆ อย่าทำให้คดีทางการเมือง เป็นคดียกเว้น ในการที่เราจะได้รับสิทธิในการประกันตัวเลย อย่าทำให้มันเป็นคดีที่นอกเหนือจากความเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตยเลย คนที่ถูกขังอยู่ ณ ตอนนี้ จำเป็นต้องได้รับสิทธิประกันตัว เพื่อที่จะออกมาต่อสู้ทางคดีอย่างเต็มทึ่
น.ส.ภัสราวลี ทิ้งท้ายว่า คดีทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ในสังคมประชาธิปไตย คนเห็นต่าง ควรได้รับการเคารพซึ่งกันและกัน และต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ขอให้เราได้แลกเปลี่ยนกันอย่างเสมอภาค ไม่มีความคิดแบบใดที่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายด้วยรัฐ ว่าความคิดแบบนี้ทำไม่ได้ สังคมเราหากยังยึดถือความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการคิดแสดงความเห็นอ่านอย่างเสมอหน้ากัน
ด้านนายชูศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่อยากให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใด ขอแสดงความเสียใจ สิ่งที่ น.ส.ภัสราวลีพูดมาทั้งหมด ความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพูดในที่ประชุม กมธ.อยู่แล้วทั้งสิ้น ตั้งแต่ข้อเสนอว่าขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ขอให้ชะลอการฟ้องคดีไปก่อน ท้ายที่สุดก็นำมาสู่การขอให้นิรโทษกรรม มาตรา 112 ทั้งหมดนี้ถูกบันทึกไว้แล้ว
นายชูศักดิ์ ย้ำว่า จำได้ดี แต่ข้อเสนอเหล่านี้ เราไม่ได้มีมติใดๆ ว่าจะปฏิเสธ หรือไม่รับข้อเสนอเหล่านี้ เพียงแต่ตนขอเรียนว่า หลายเรื่องเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลเองก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบนี้ เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นนโยบายในภาพรวมที่สำคัญ ต้องเชิญฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยทำความเข้าใจกัน และร่วมปรึกษาหารือกัน เพื่อหาทางออกลำพังหาก กมธ.ทำอะไรไปโดยที่ฝ่ายอื่นไม่ได้รับทราบด้วยไม่ได้
“เรื่อง มาตรา 112 ถูกบรรจุไว้ใน กมธ. ไม่ได้ถูกตัดออก แต่ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน หาข้อดีข้อเสีย เราเห็นใจว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญและจะพยายามทำเรื่องนี้ ให้ได้รับความเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่มีมีสติปัญญาและกำลังความสามารถ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอาแล้ว! อิทธิพรชี้พ่อนายกฯ ปราศรัยก้ำกึ่งผิดกฎหมาย
'ประธาน กกต.' ชี้ทักษิณ ปราศรัยช่วยอบจ. ยกนโยบายรัฐ ก้ำกึ่งผิดกม. ฝาก รมต.ช่วยหาเสียงจัดสรรอย่ากระทบเวลาทำงาน เผยยังไม่มีรายงานซุ้มมือปืน
'ทักษิณ' ลั่นยึดกลับมาให้หมด ศึกชิงนายกอบจ. เพื่อไทยต้องกลับมายิ่งใหญ่เหมือนยุคไทยรักไทย
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวกับ สส.พรรคเพื่อไทยที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ตอนหนึ่งว่า ยืนยันรัฐบาลอยู่ครบเทอม โดยจะมีการเลือกตั้งปี 2570
'เพื่อไทย' ยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญ ประกบฉบับ 'พรรคประชาชน' 8 ม.ค.นี้
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ในวันที่ 8 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต่อรัฐสภา จะเสนอประกบไปกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256
ดร.ณัฏฐ์ ชี้ร่างแก้ไขรธน.เพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสสร.ร่างรธน.ฉบับใหม่ มีผลเท่ากับยกเลิกรธน.ทั้งฉบับ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฏฐ์ นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมขอมติจากที่ประชุม สส.ของพรรค เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำไว้เสนอประกบกับร่างของ
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก