ต้องอ่าน 'ดร.อานนท์' ไล่เรียงเหตุและผล กก.กลั่นกรองคดี 112 ที่กำลังย้อนไปยุคศาลไคฟง

'ดร.อานนท์' ชำแหละคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ชี้กำลังย้อนไปเป็นระบบศาลไคฟง ชี้ไม่ควรนำผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด-ศาลฎีกาเข้าน่วม ที่สำคัญไม่มั่นใจว่าเราจะได้คนอย่างเปาบุ้นจิ้นมา

05 ม.ค.2565 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กในรูปบทความชื่อ “คณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 จะเข้าไปใกล้ศาลไคฟง?” มีเนื้อหาว่า
ผมเป็นคนที่ติดนวนิยายกำลังภายในจีนเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าเวลาผมเขียนบทความผมมักจะอ้างถึงตัวละครในนิยายกำลังภายในจีน เช่น ดาบมังกรหยก มังกรหยกภาค 1 ภาค 2 หรือแม้กระทั่งแปดเทพอสูรมังกรฟ้าหรือลูกปลาน้อยเซียวฮื่อยี้

ผมติดเปาบุ้นจิ้นอย่างงอมแงม แล้วผมก็พิจารณาเห็นว่าเปาบุ้นจิ้นนั้นเป็นเจ้าเมืองไคฟงทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองหรือมหาดไทยต่างพระเนตรพระกรรณในการปกครองบ้านเมือง ในขณะเดียวกันเปาบุ้นจิ้นก็ทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยเช่นกัน

ศาลไคฟงทำหน้าที่เป็นตำรวจโดยทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน ปราบปราม จับกุม และป้องกันอาชญากรรมและรวมไปถึงทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาและรวมไปถึงคดีทางปกครองอีกด้วย ในขณะเดียวกันอำนาจในการสั่งฟ้องก็อยู่ที่เจ้าเมืองไคฟง-เปาบุ้นจิ้นอีกเช่นกัน และเปาบุ้นจิ้นเองก็ทำหน้าที่เป็นตุลาการผู้พิพากษาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในตนเอง

สรุปง่ายๆคือตำแหน่งเจ้าเมืองไคฟงหรือเจ้าเมืองในประเทศจีนในสมัยที่ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นทำหน้าที่ทั้งมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลยุติธรรมไปในเวลาเดียวกัน มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งในทางปกครองและในทางตุลาการ

ระบบแบบศาลไคฟงนั้นเป็นระบบไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหา ถึงแม้จะมีการกล่าวหาบ้างก็คือประชาราษฎรมาตีกลองร้องทุกข์ที่หน้าศาลไคฟง และให้ปากคำ แต่ที่เหลือทั้งหมดเปาบุ้นจิ้นและทีมงานอันได้แก่หวังเฉาหม่าฮั่น จางหลงเจ้าหู่ จั่นเจาและกงซุน ทำหน้าที่ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และชั้นศาล อาจจะรวมไปถึงชั้นราชทัณฑ์ด้วย เพราะในศาลไคฟงนั้นก็มีคุกสำหรับคุมขังนักโทษทั้งที่ฝากขังรอดำเนินคดี และที่ตัดสินเด็ดขาดแล้ว

กระบวนการยุติธรรมของไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน กับระบบของศาลไคฟงในประเทศจีน เมืองแต่ละเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้แทนพระองค์ต่างพระเนตรพระกรรณ บ้างก็เรียกว่าเทศาภิบาล ในขณะเดียวกันแต่ละเมืองก็จะมีผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความที่เรียกว่ายกกระบัตร ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เคยทรงรับราชการเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรีทำหน้าที่ตัดสินคดีความ

ในราชการส่วนกลางคือในพระนครนั้น เวียงในจตุสดมภ์ 4 ทำหน้าที่พิพากษาคดีและก็คงจะเป็นระบบไต่สวนบวกระบบกล่าวหาที่อาจจะไม่เข้มข้นนัก ข้อนี้ทำให้ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังมีราชทินนามเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ทั้งนี้เพราะทำหน้าที่ประธานในการระงับอธิกรณ์ก่อให้เกิดเป็นความเป็นธรรม ดังจะเห็นได้ว่ามาจากรากศัพท์คำว่าธรรม + อธิกรณ์ + อธิบดี

การปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหลังรัตนโกสินทร์ศก 112 ทำไปอย่างรวดเร็ว มีการเขียนประมวลกฎหมายอาญาซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยนายโรลัง ยัคมินส์ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินประจำพระองค์ชาวเบลเยี่ยม เริ่มมีการตั้งกระทรวงยุติธรรมและเริ่มมีการแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างตำรวจ อัยการ และตุลาการออกจากกันมาเป็นลำดับ

กระบวนการยุติธรรมของเรานั้นปรับเปลี่ยนทันสมัยให้เป็นแบบตะวันตก โดยที่มีการแยกส่วนงานของตำรวจ อัยการ และศาลออกจากกัน เพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลและเป็นอิสระจากกันและกัน

เหตุที่เราจำเป็นต้องปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเพราะว่าเรามีปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เนื่องจากชาวต่างชาติในประเทศไทยที่เรียกกันว่าสับเยก หรือ subject ของชาติต่างๆนั้นไม่ว่าจะอังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างพากันปฏิเสธ ศาลไทย ไม่ยอมขึ้นศาลไทยซึ่งใช้วิธีการตามกฎหมายตราสามดวงอันเป็นกฎหมายที่ร่างมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และเป็นกฎหมายแบบตะวันออก

ทำไมฝรั่งถึงไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบตะวันออกก็เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมแบบตะวันออกนั้นเช่นศาลไคฟงที่ยกตัวอย่างไป เจ้าเมืองแต่ละเมืองทำหน้าที่ตุลาการด้วย หากได้เจ้าเมืองที่ไม่ดีแล้วความยุติธรรมก็จะไม่บังเกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้นหากการตรวจสอบถ่วงดุลและความเป็นอิสระแก่กันในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่ง

เมื่อเร็วๆนี้มีการเสนอความคิดเห็นว่าให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 โดยให้สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ 7 ท่านประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อย่างละ 2 คน ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และตัวแทนจากศาลฎีกาอย่างละ 1 ท่านรวมเป็น 7 ท่าน

เมื่อผมได้เห็นองค์ประกอบของคณะกรรมการนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกกังวลใจมากว่า ทำไมจึงไปดึงตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดและตัวแทนจากศาลฎีกามาเข้าร่วมในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112
กลายเป็นว่าเรากำลังย้อนกระบวนการยุติธรรมของไทยให้กลับไปเป็นเหมือนสมัยศาลไคฟงหรือสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายบริหารเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนจบ
ทั้งนี้กรรมการชุดนี้มีที่มาจากการนำเสนอของกระทรวงยุติธรรม อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายบริหาร หลักเสรีและความเป็นอิสระแก่กันของอำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตุลาการจะไปอยู่ที่ตรงไหน จะขาดหายไปหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมพึงถามได้

ถ้ามาประชุมร่วมกัน กรรมการชุดนี้จะอ่านสำนวนคดีมาตรา 112 ที่หนาเป็นร้อยเป็นพันหน้าของแต่ละคดีที่มีเป็นพันคดีไหวหรือไม่ และเมื่อประชุมร่วมกันนั้น ใน 7 เสียงน้ำหนักเสียงของกรรมการท่านใดจะมากกว่ากัน
หากองค์ประกอบของคณะกรรมการอีก 4 ท่านซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มีความเป็นกลางหรือมีเสียงเท่ากันจากฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมและฝ่ายกษัตริย์นิยม บรรยากาศในการประชุมน่าจะเป็นว่า
ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงจะถามผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า ถ้าหากคดีเป็นเช่นนี้ มีรูปคดีเช่นนี้ มีหลักฐานเช่นนี้ อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่

เมื่อผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดแสดงความเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็คงจะถามไปยังผู้แทนของศาลฎีกาว่า ท่านครับท่านคิดว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีนี้อย่างไร จะมีแนวทางในการวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร เมื่อได้รับคำตอบก็จะนำคำตอบเหล่านี้ตอบกลับไปยังพนักงานสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดและตัวแทนจากศาลฎีกาจะเป็นผู้มีอิทธิพลสูงยิ่งในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112

ตัวแทนจากศาลฎีกาคงจะเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงความเห็นว่าจะส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ ในขณะเดียวกันคณะกรรมการอัยการหรือ ก.อ. เป็นคนลงมติเลือกผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดมาเป็นคณะกรรมการในกรรมการชุดนี้เช่นกัน

ผมยังไม่มั่นใจว่าสำนักงานอัยการสูงสุดหรือ ก.อ. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือคณะกรรมการตุลาการหรือ กต. จะเห็นด้วยหรือไม่กับการส่งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ เพราะดูแล้วจะเป็นการถอยหลังกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งออกแบบระบบมาเป็นอย่างดีให้ถอยหลังกลับไปใช้ระบบใกล้เคียงกับศาลไคฟงอันเป็นระบบแบบโบราณที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันเสียแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้ำหนักของตัวกรรมการที่เป็นผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดและของศาลฎีกานั้นจะมีน้ำหนักในคณะกรรมการชุดนี้สูงมาก จนมีอิทธิพลในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ชุดนี้สูงมาก แล้วอัยการชั้นผู้น้อยหรือผู้พิพากษาชั้นต้นหากเห็นสำนวนคดีซึ่งผ่านการพิจารณาและให้คำปรึกษาจากคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 มาให้สั่งฟ้องหรือให้มีคำวินิจฉัยพิพากษาจะไม่รู้สึกอึดอัดหรือได้รับแรงกดดันและอิทธิพลจากอัยการอาวุโสหรือผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งนับถือกันเป็นครูบาอาจารย์ของอัยการผู้ช่วยและผู้ช่วยผู้พิพากษาซึ่งพึ่งขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการหมาดๆ เลยหรือไม่

ต่อให้ทำงานมาแล้วสักพัก พอพิจารณาเห็นรายชื่อกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 จะตัดสินสั่งฟ้องหรือเขียนคำพิพากษา โดยไม่เกรงใจหรือไม่ได้รับอิทธิพลจากครูบาอาจารย์ของตนระดับอัยการอาวุโสหรือผู้พิพากษาอาวุโสเชียวหรือ

ในทางกลับกันถ้าหากคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 มีความเห็นว่าไม่ให้สั่งฟ้อง ซึ่งอาจจะมาจากหลายสาเหตุเช่น กรรมการส่วนใหญ่ของคณะกรรมการชุดนี้เป็นพวกล้มเจ้าหรือปฏิกษัตริย์นิยม หรืออาจจะมีแรงกดดันทางการเมืองมาที่กรรมการชุดนี้อ้างว่าต้องการปรองดองสมานฉันท์สามัคคี ลดความตึงเครียดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในบ้านเมือง กลายเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าประเด็นความมั่นคงไปเสีย แล้วพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกล้ามีความเห็นแย้งได้หรือไม่ หรือจะไม่กล้าทำคดีต่อหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่น่าพิจารณาอีกเช่นกัน

ต่อให้ไม่ใช่พนักงานสอบสวนชั้นผู้น้อยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาเป็นคณะกรรมการคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยรอง ผบ.ตร. นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพนักงานสอบสวนกันมาเป็นสิบๆ ปี จะกล้ามีความเห็นแย้งกับคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่เราคงต้องถามกันอีกเช่นกัน หรือเราจะยุบคณะกรรมการกลั่นกรองคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเสียเลย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ดุลพินิจที่ไม่ตรงกันอีกต่อไปในอนาคต

การตั้งคณะกรรมการเป็นวิธีทางการเมืองของนักการเมืองและข้าราชการของไทยที่นิยมใช้กันมากเหลือเกินเพื่อแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบ บางครั้งก็เป็นการเตะถ่วง บางครั้งก็เป็นการกระจายความผิด บางครั้งก็เป็นการปัดสวะให้พ้นตัว หรือบางครั้งก็ตั้งเพื่อหาเสียงและให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน มีน้อยครั้งมากที่คณะกรรมการที่ตั้งโดยเหตุผลทางการเมืองหรือที่ราชการนำเสนอให้แต่งตั้งนั้นทำหน้าที่ได้อย่างดียอดเยี่ยม เบี้ยประชุมแค่ไม่กี่บาท ความรับผิดชอบสูง ไปประชุมแต่ละครั้งต้องบอกให้บันทึกกันตนเองติดคุกติดตาราง หรือแม้กระทั่งเดินออกจากที่ประชุมหรือไม่เข้าประชุมในวาระที่มีความเสี่ยงสูงหรือรับผิดชอบสูง ในบางครั้งการไปร่วมประชุมบางคณะกรรมการก็รู้สึกว่าไม่ได้อะไร ไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นเรื่องที่ฝรั่งพูดกันว่า pass the bug หรือปัดสวะพ้นตัวไปแค่นั้นเอง

ผมมีความเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่พยายามทำกันอยู่นี้เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ถอยหลังกลับไปเป็นระบบเหมือนศาลไคฟงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับ

เราคงต้องแยกแยะให้ออกและไม่ควรนำผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนของศาลฎีกาเข้ามาเป็นองค์ประกอบในคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 โดยเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถอยหลังกลับไปใกล้เคียงกับศาลไคฟง เพราะเราไม่มั่นใจว่าเราจะได้คนอย่างเปาบุ้นจิ้นมาทำหน้าที่อยู่ที่ศาลไคฟงเสมอไปหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่คนอย่างเปาบุ้นจิ้นอาจจะหาได้ยากยิ่ง ยากกว่าการโยนหินแบบสุ่มๆ เพื่อหานักการเมืองเลวและข้าราชการที่รักตัวกลัวเสียเก้าอี้มากกว่ารักประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่รอด! ศาลสั่งจำคุก-ริบรถยนต์ เจ้าของเทสล่าหัวร้อนขับป่วนบนทางด่วน

ที่ศาลแขวงดุสิต ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลเเขวง ได้ยื่นฟ้อง นายปิติพัฒน์ กาญจนภาณุรัช ในข้อหา ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย

โพลชี้คนเกินครึ่งไม่เข้าใจ MOU44 - เกาะกูด

นิด้าโพลเผยผลสำรวจประเด็น MOU 44 และเกาะกูด พบว่าประชาชนไม่เข้าใจเลย สูงถึง 58.86% และส่วนใหญ่ไม่ต้องการเข้าใจข้อโต้แย้งและสถานการณ์ที่ชัดเจน ส่วนคนที่เข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ ชี้ 1 ใน 3 ไม่ไว้วางใจรัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ของชาติได้

ลุ้นระทึก!ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดถก ปมคดี 'บิ๊กโจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ

ที่ศาลปกครองกลาง ถนนเเจ้งวัฒนะ นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' เห็นนักการเมืองเกรงใจกัมพูชาเรื่องเกาะกูด แล้วรู้สึกอเนจอนาถใจ สิ้นไร้ไม้ตอก

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความว่า อเนจอนาถ จะมีใครรู้สึกเหมือนผม

'ทวี' ชี้ ‘เขากระโดง’ คำวินิจฉัยศาลฎีกา 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟ ถือสิ้นสุด

เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้ว ป.ป.ช.ก็วินิจฉัยแล้ว ก็ถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่คืน