'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบ ต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว


'กสม.' เสนอเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว -​การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย

3 พ.ค.2567 - นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสถานการณ์ปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวหลายแห่งที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่าครอบครัวพำนักอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก พบปัญหาสุขภาพย่ำแย่ ขาดแคลนอาหาร และไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย มาตรฐานสิทธิมนุษยชน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐบาลไทยกำหนดให้ผู้หนีภัยการสู้รบมีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยควบคุมดูแลและผ่อนผันให้อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2527 และยุบรวมเหลือพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพียง 9 แห่ง ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี โดยพบว่า ผู้หนีภัยการสู้รบที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 82,000 คน (UNHCR, มีนาคม 2567) ประสบปัญหาไม่ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนหลายประการ สรุปได้ ดังนี้

1.การควบคุมให้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเป็นเวลานานอย่างไม่มีกำหนด กว่า 40 ปีที่ผู้หนีภัยการสู้รบต้องถูกควบคุมตัวในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างไร้ความหวังที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยเหตุผลที่การรับผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นไปอย่างจำกัด ประกอบกับการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้โครงการส่งกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจต้องยุติลง นอกจากนี้ เด็กผู้หนีภัยรุ่นลูกหลานที่เกิดและเติบโตในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมานาน รวมทั้งเด็กที่พลัดพรากจากครอบครัว ไม่มีแนวคิดจะกลับไปใช้ชีวิตในเมียนมา และแม้ผู้หนีภัยจะมีความรู้และทักษะอาชีพต่าง ๆ แต่ไม่มีโอกาสที่จะนำศักยภาพที่มีอยู่มาใช้พัฒนาชีวิตและครอบครัว ทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผิดหวัง และมีความทุกข์ในการใช้ชีวิตอยู่

2. ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล การจำแนกผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองกลุ่มเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ผู้หนีภัยเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและถูกส่งกลับประเทศไปเผชิญอันตรายได้ และยังทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น กรณีผลจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ยกเว้นการให้สิทธิอาศัยผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว แต่ให้คนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ ที่อพยพและอาศัยอยู่มานานมีสิทธิอาศัย โดยให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายมีถิ่นที่อยู่ถาวร จึงเกิดความเหลื่อมล้ำ และกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มผู้หนีภัย

3.การถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ การที่รัฐบาลไทยไม่ผ่อนปรนให้ผู้หนีภัยออกไปทำงานภายนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราว ผู้หนีภัยจึงต้องลักลอบออกมาทำงาน เช่น มาเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรมในชุมชนใกล้เคียง และจำต้องยินยอมให้ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้าง หรือถูกเรียกรับเงินไม่ให้ถูกจับกุมเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ จึงเกิดความเครียดสะสมจากการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

4.การเข้าไม่ถึงมาตรฐานการครองชีพ ผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละไม่ได้รับอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ มีภาวะขาดสารอาหาร และยังพบภาวะคลอดก่อนกำหนด ขณะที่องค์การนอกภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่ผู้หนีภัยก็สามารถสนับสนุนอัตราค่าดำรงชีพต่อรายได้เพียงเดือนละ 350 บาท หรือ วันละ 10 – 12 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้หนีภัยยังไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาไทยตามสถานศึกษาต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนต่างด้าวกลุ่มอื่น ๆ แต่ศึกษาได้ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามหลักสูตรการศึกษาของเมียนมาเท่านั้น ด้านสุขภาพ ผู้หนีภัยมีแนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพจิตสูงขึ้น แต่ไม่มีจิตแพทย์เข้าไปให้คำปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้หนีภัยยังประสบเหตุอัคคีภัยบ่อยครั้งและยังพบปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศด้วย

นางปรีดา กล่าวว่า ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังนี้

1.ข้อเสนอแนะระยะเร่งด่วน ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ประสานความร่วมมือด้านการต่างประเทศเพื่อส่งตัวผู้หนีภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามโดยเร็ว และให้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้หนีภัย เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การจัดระบบประกันสุขภาพ รวมทั้งจัดให้มีจิตแพทย์เข้าไปบริการรักษาสุขภาพจิต นอกจากนี้ ให้มีกลไกการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่พักพิงชั่วคราวอย่างเคร่งครัด พัฒนามาตรการระวังภัยและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น จัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยไม่ให้แออัด จัดให้มีแสงสว่างและเวรยามรักษาการณ์ที่เพียงพอ ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในจุดเสี่ยง รวมทั้งจัดให้มีอุปกรณ์ระงับเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ตู้ยาสามัญ เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) รวมทั้งทบทวนหลักเกณฑ์การก่อสร้างที่พักโดยปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุธรรมชาติเป็นวัสดุอื่นที่ทนทานต่อการติดไฟ

2.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการผู้หนีภัย และองค์การนอกภาครัฐ สำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทุกคนเพื่อดำเนินงานด้านนโยบาย ทั้งในส่วนข้อมูลของผู้หนีภัย เช่น ความประสงค์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม สมาชิกในครอบครัวในเมียนมา การศึกษาหรือทักษะอาชีพต่าง ๆ ข้อมูลจากภาคเอกชน เช่น ประเภทแรงงานที่ยังขาดแคลน ตลาดแรงงานที่เหมาะสมกับการจ้างงานผู้หนีภัย รวมทั้ง ข้อมูลจากองค์การนอกภาครัฐที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ เช่น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายต่อผู้หนีภัยที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ทั้งนี้ ให้นำข้อมูลจากการสำรวจข้างต้นมาพิจารณากำหนดนโยบายทั้งด้านสิทธิและสถานะบุคคล ด้านการศึกษา และด้านการจ้างงานและการมีรายได้ โดยให้สิทธิผู้หนีภัยที่ไม่ประสงค์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามเป็นผู้มีสถานะคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งมีมาตรการทางเลือกสำหรับผู้หนีภัยที่ไม่มีเครือญาติในประเทศต้นทาง สามารถเข้าสู่กระบวนการสำรวจจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กำหนดนโยบายรองรับผู้หนีภัยได้เข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยทุกระดับชั้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้ผู้หนีภัยมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน และควรผ่อนปรนให้สามารถเดินทางออกจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อมาทำงานหรือเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ นอกจากนี้ ให้มีการส่งเสริมรายได้โดยจัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าของผู้หนีภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือสินค้าหัตถกรรม ด้วย ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ต้องครอบคลุมถึงการป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อผู้หนีภัยด้วย

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร้องรัฐบาลช่วย 17 ชาวโมร็อกโก เหยื่อค้ามนุษย์ในเมียนมา เผยเข้าไทยก่อนส่งข้ามชายแดน

มูลนิธิเพื่ออิสรภาพ ประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโมร็อกโก จำนวน 17 คน โดยระบุว่า มูลนิธิฯได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้เสียหาย

เปิดผลสอบกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงาน 'ฟุตบอลจตุรมิตร' ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก

กสม. เผยผลสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการจัดกิจกรรมเชียร์และแปรอักษรงานฟุตบอลจตุรมิตร ไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก แต่มีข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียนทั้งสี่เพื่อให้งานดียิ่งขึ้น

ศูนย์ทนายฯ เผย ผูัลี้ภัยไทยยังมี 104 คน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมือง-นิรโทษ 112

ศูนย์ทนายฯ เผย สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112

ไทยดูแลปลอดภัย! ชาวเมียนมาหนีตายกว่า 200 คน อพยพข้ามชายแดนระนอง

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงจังหวัดระนอง ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.5 บ.น้ำแดง ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งอำเภอกระบุรี เป็นอำเภอเขตติดต่อกับ

กสม.ชี้ร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

กสม. ตรวจสอบกรณีร้านสะดวกซื้อเอาเปรียบพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย

'นางแบก' แขวะทูตโลกที่1 กังวลเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่ช่วยอะไรไม่ได้

นางสาวลักขณา ปันวิชัย หรือ คำผกา หรือ แขก กองเชียร์พรรคเพื่อไทย และพิธีกรชื่อดัง โพสต์ข้อความใน X Kam Phaka @kamphaka ระบุว่า