'กสม.'เผยผลการตรวจสอบ 'ซีเซียม-137' แนะแนวทางเยียวยา ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายใน จ.ปราจีนบุรี แนะแนวทางเยียวยา และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

3 พ.ค.2567 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2566 กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าชีวมวลความร้อนของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์จำนวนมาก ร่วมกันค้นหาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งตรวจพบกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในถุงขนาดใหญ่ของโรงงานหลอมโลหะ บริษัท เค พี พี สตีล จำกัด ในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดยืนยันว่า เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย ส่งผลให้ประชาชนวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยในการควบคุมและครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีและการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าว รวมทั้งตั้งคำถามต่อการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าว่ามีการดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนหรือไม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงมีมติเมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐต้องเปิดเผยและจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความลับของทางราชการได้โดยสะดวก อันสอดคล้องกับหลักสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนของประชาชน หลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary Principle) เพื่อป้องกันผลกระทบและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อม และหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle: PPP) ตลอดทั้งหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน(UNGPs) ที่ระบุถึงหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้สูญหายไปจากโรงงาน ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่บริษัท เนชั่นแนลฯ กลับแจ้งการสูญหายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสีตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงความปลอดภัยทางรังสี พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้บริษัท เนชั่นแนลฯ ต้องแจ้งให้ ปส. ทราบทันที ทั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักการระวังไว้ก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัท เนชั่นแนลฯ ไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยและการควบคุม ป้องกันวัสดุกัมมันตรังสีที่อยู่ในความครอบครองที่เพียงพอ โดยปล่อยให้สูญหายไปได้โดยง่าย ทั้งที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เป็นวัตถุอันตรายมากกว่าทรัพย์สินอื่น ๆ จึงรับฟังได้ว่า บริษัท เนชั่นแนลฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชน อย่างไรก็ดี ปส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทแล้ว กสม. จึงสั่งให้ยุติเรื่องในประเด็นนี้ อันเป็นกรณีตามมาตรา 39 (5) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าบริษัท เนชั่นแนลฯ จะถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว แต่บริษัท เนชั่นแนลฯ ยังมีหน้าที่ต้องแจ้งการสูญหายของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบภายใน 24 ชั่วโมง ตามประกาศกระทรวงฯ ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 แต่ก็มิได้รายงานให้ทราบภายในกำหนด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ไม่สามารถบังคับโทษตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขกฎหมายในประเด็นนี้

สำหรับกรณีการตรวจพบกากกัมมันตรังสีดังกล่าวในโรงงานหลอมโลหะของบริษัท เค พี พีฯ เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ได้ออกคำสั่งให้บริษัท เค พี พีฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี และผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในร่างกายของพนักงานในโรงงาน และไม่พบการปนเปื้อนของรังสีในน้ำ ดิน อากาศ และน้ำประปาในพื้นที่บริเวณโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงที่ก่อให้เกิดอันตราย ประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า บริษัท เค พี พีฯ ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ แม้ว่ากากกัมมันตรังสีข้างต้น จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่ก็เป็นต้นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปร่วมตรวจสอบและค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 รวมถึงเก็บรักษาและกำจัดกากกัมมันตรังสี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว เมื่อ ปส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการก็สามารถเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษได้ตามกฎหมาย ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และหลักความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน

ส่วนกรณีการสื่อสารข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน และสร้างความรับรู้มาตรการด้านความปลอดภัยจากกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 นั้น เห็นว่า จังหวัดปราจีนบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยจากนิวเคลียร์และรังสี และได้สื่อสารข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบในช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 จึงมีมติ ให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

1) ให้บริษัท เนชั่นแนลฯ จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านที่ระบุความเสี่ยง การป้องกัน การบรรเทาผลกระทบ และกำหนดหน่วยรับผิดชอบเมื่อเกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และมีกระบวนการเยียวยาเมื่อเกิดผลกระทบจากการกระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กำกับดูแลบริษัทให้ปฏิบัติตามหลักการ UNGPs ด้วย

2) ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรียกให้บริษัท เนชั่นแนลฯ ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 96 วรรคสอง

3) ให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) เร่งจัดการวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ของโรงไฟฟ้าชีวมวลความร้อนของบริษัท เนชั่นแนลฯ และกำจัดกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่เก็บไว้ในโรงงานหลอมโลหะของบริษัท เค พี พีฯ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน และตรวจสอบปริมาณรังสีจากวัสดุและกากกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ไม่ให้แพร่กระจายหรือสูญหาย รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ จนกว่าจะจัดการวัสดุและกากกัมมันตรังสีดังกล่าวแล้วเสร็จ

4) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทบทวนประกาศฯ ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดรังสีในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะการปนเปื้อนทางรังสีด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ

กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่

'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ

ป.ป.ช.โวยขอภาพวงจรปิดชั้น14ไปนานแล้วยังไม่ได้ ให้จนท.พิจารณาเชิญ 'เสรีพิศุทธ์' เป็นพยาน

ป.ป.ช.โวยขอภาพวงจรปิดชั้น 14ไปนานแล้วแต่ยังไม่ได้ ลั่นถ้าไม่ให้ต้องตรวจสอบเหตุผล ไม่ฟันธง เชิญ 'เสรีพิศุทธ์' เป็นพยานหรือไม่ หลังเข้าเยี่ยม 'ทักษิณ'

ธำรงวินัยทหารเกณฑ์จนตายย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กสม.ร้องเอาผิด!

กสม.ชี้กรณีทหารเกณฑ์วัย 18 ปี ถูกธำรงวินัยจนเสียชีวิต ละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย เตรียมส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด - คกก.ป้องกันการทรมานฯ เอาผิดตามกฎหมาย

เชียงใหม่มึนหนัก  รัฐจ่อผุดกม.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติลงพื้นที่เชียงใหม่ รับฟังความคิดเห็นประกอบการประเมินผลข้อกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ส่วนมากสะท้อนชาวบ้านทราบข่าวสารน้อย