สมาพันธ์แรงงานฯ ปลุก สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่

1พ.ค.2567 - สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ เนื่องใน วันกรรมกรสากล 2024 “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน” มีใจความดังนี้

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคแรก ค.ศ.1760 (พ.ศ.2303) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ต่อระบบการผลิต การทำงาน และวิถีชีวิตของคนงานครั้งยิ่งใหญ่ ในขณะที่คนงานต้องประสบกับการกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในเรื่องค่าจ้างที่ต่ำ สภาพการทำงานที่เลวร้าย ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานถึงวันละ 14-16 ชั่วโมง

จนคนงานไม่สามารถทนอยู่สภาพที่เลวร้ายนั้นได้ คนงานทั้งโลกได้สำแดงพลังครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) เพื่อเรียกร้องให้ได้มา “ระบบสามแปด” คือ “ทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง ศึกษาหาความรู้แปดชั่วโมง” การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นในประเทศต่าง ๆ เกิดการเดินขบวน ชุมนุมประท้วง และนัดหยุดงานลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งโลก การต่อสู้ของกรรมกรล่วงเลยถึงปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) จึงประสบชัยชนะ แต่กรรมกรต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในคราวการประชุมสมัชชาสังคมนิยมสากลที่สองมีมติกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) เป็นต้นมาต่อมาภายหลังสหประชาชาตินำเอาผลจากการต่อสู้ของกรรมกรสากลมาบัญญัติไว้ใน “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ได้บัญญัติหลักประกันของระบบ “สามแปด” รวมทั้งสิทธิ เสรีภาพด้านต่าง ๆ และในทุก ๆ ปีกรรมกรทั่วทั้งโลกต่างออกมาชุมนุม เดินขบวน เฉลิมฉลอง พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศรณรงค์สะท้อนปัญหาของคนงานให้สังคมได้รับรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของกรรมกรในยุคนั้น

ประเทศไทยกรรมกรก็ได้กระทำเช่นเดียวกับกรรมกรทั่วทั้งโลก แต่ต่อมา “วันกรรมกรสากล” ถูกชนชั้นปกครองตัดตอนประวัติศาสตร์ความเชื่อมโยงกับสากล โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” ทำให้ความแหลมคม จุดยืน อุดมการณ์เลือนหายไปเพราะการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติถูกชี้นำกำกับโดยรัฐบาลด้วยการสนับสนุนงบประมาณ ไม่ยืนอยู่บนหลักการอิสระ พึ่งตนเอง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงเป็นลำดับ “ด้วยการแบ่งแยก ตีให้แตก แยกทำลาย” แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจทำลายความเป็นพี่น้อง ความเป็นมิตรสหายของกรรมกรได้ เพราะยังมีกรรมกรส่วนที่ก้าวหน้า ยังมีความเชื่อมั่นว่า “กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน” กรรมกรต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองไม่ยอมตกเป็นทาสของนายทุนและชนชั้นปกครอง หากเราแบ่งแยก แตกความสามัคคี อ่อนแอ ตกเป็นเครื่องมือของนายทุนและชนชั้นปกครองเมื่อใดแล้ว ความหวังว่าจะมีอนาคตและชีวิตที่ดีนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

วันกรรมกรสากลใน ปี 2024 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยังคงจัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล” ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นเช่นทุกปี โดยเฉพาะปัจจุบันภาวะการกดขี่ขูดรีดที่รุนแรง หนักหน่วงสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ภายใต้กลไกและการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ในยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคที่ 4 (4.0) การคิดค้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้เข้ามาใช้ในระบบการผลิตแทนที่แรงงานมนุษย์ ทั้งภาคการผลิต การบริการ การสื่อสาร การเกษตร และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและความสัมพันธ์ทางผลิตครั้งใหญ่เช่นกัน แม้จะมีส่วนที่ดีในแง่ของความรวดเร็ว แม่นยำ และสร้างผลกำไรให้นายทุน แต่ในทางกลับกันก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรง ทั้งการตกงาน ว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด ภาคการผลิตรายย่อยที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีต้องปิดตนเอง ล่มสลายไป ความมั่งคั่งจะตกอยู่ในอาณาจักรของนายทุนเพียงไม่กี่คน และที่สุดแล้วการแย่งชิงทรัพยากร การปกป้องชีวิต จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้า ความรุนแรงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงก็จะตามมา ที่สำคัญประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศเป็นด้านหลัก ทิศทางหลักของประเทศจะมุ่งไปในทิศทางใด ในสถานการณ์เช่นนี้ชนชั้นแรงงาน ผู้ยากไร้ ดำเนินชีวิตอย่างลำบากมากยิ่งขึ้น ในขณะที่นายทุน นักธุรกิจทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติได้รับการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาจากรัฐบาลต่างร่ำรวย มั่งคั่งขึ้นอย่างมหาศาล ประเทศไทยกำลังก้าวเดินสู่กับดัก ประชาชนกำลังตกอยู่ในหุบเหวหายนะที่ผู้นำประเทศ ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเองอย่างน่าวิตกกังวล

ในสภาพความเป็นจริงปัจจุบันชีวิตของคนทำงานทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการล้วนตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากในการใช้ชีวิต โภคทรัพย์ของสังคมดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ อาหาร ทั้งใต้ผืนดิน บนดิน ท้องฟ้า อากาศ อวกาศ สายลม แสงแดด พลังงาน น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า การขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคม ล้วนถูกครอบครอง ผูกขาดโดยกลุ่มทุนสามานย์ที่ได้รับการเกื้อหนุนจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งก็คือตัวแทนชนชั้นนายทุน กี่รัฐบาล กี่พรรคการเมือง กี่รัฐประหาร ผู้มีอำนาจที่ก้าวมาบริหารประเทศก็กระทำในลักษณะเดียวกัน คือ กอบโกย โกงกินกันทุกวงการ ทั้งเอกชน หน่วยงานของรัฐ องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายก็เลือกใช้กับคนยากจน ในขณะที่ผู้มีอำนาจที่ทุจริต เซาะกร่อนบ่อนทำลายประเทศชาติ กลับลอยหน้าเอามาลงโทษไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมพังพินาศ หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐไม่หลงเหลือ ประเทศชาติขาดความเชื่อมั่นในสายตานานาชาติ พร้อมกับการทำลายขบวนการแรงงาน ขบวนการภาคประชาชน ที่ไปขัดขวางความร่ำรวย สิ่งที่สัญญากับประชาชนว่า จะทำให้ประชาชนอยู่ดี มีสุขมีความมั่นคง ก้าวหน้า ยั่งยืน ในความเป็นจริงพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชนต่างทราบดีว่าเป็นแค่วาทกรรมและลมปาก

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชน ประจักษ์
ชัดแล้วว่าพรรคการเมืองทั้งหลายที่ประชาชนเลือกล้วนเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุน ขุนศึก ผ่านพ้นฤดูกาลเลือกตั้งที่ใช้เงินลงทุนกันอย่างมหาศาลไปแล้ว ที่สุดแล้วเมื่อนักการเมือง พรรคการเมืองเหล่านั้น เมื่อเขาลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ เขาก็จะถอนทุนคืนด้วยการทุจริต ชีวิตพี่น้องประชาชนก็อยู่ในวังวน “วงจรอุบาทว์” ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนอย่างแท้จริง เวลายาวนานเพียงพอแล้วที่ประชาชนเลือกพรรคและนักการเมืองแบบเดิม ชีวิตพี่น้องลำบากยิ่งกว่าเก่า โภคทรัพย์ของสังคม ทั้งที่ดิน ทรัพยากรทั้งใต้ผืนดิน บนดิน บนอากาศ ในอวกาศ ล้วนตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่ตระกูล พี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชน ดิ้นรนมีชีวิตอยู่เพียงแค่เป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้แก่นายทุนเท่านั้น ขอพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ประชาชน จงตระหนัก และไตร่ตรองดูเถิด แล้วมองไปอนาคตว่า เราจะสร้างชีวิต สร้างสังคมที่ดีได้ด้วยพลังของพวกเราพี่น้องชนชั้นผู้ใช้แรงงานและประชาชนผู้ยากไร้ได้อย่างไร

“ขอกรรมกรจงสามัคคีกัน ต่อสู้ปลดปล่อยตนเอง มุ่งมั่นสู่ชัยชนะและสังคมที่เราคาดหวัง”

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
1 พฤษภาคม 2567

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สสรท.' ยกเหตุผล 5 ข้อ ค้านขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 33 ชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 ชราภาพ ประกันสังคม จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

'สสรท.-สรส' ยื่นข้อเสนอ 'วันกรรมกรสากล' ถึงนายกฯให้แก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานทุกมิติ

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสสรท. ยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เรื่อง ข้อเสนอวันกรรมกรสากล ปี 2567 ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง มีใจความดังนี้

ไม่พลาด! ชัยธวัชนำลูกพรรคส้มร่วมเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ

'ชัยธวัช' นำ สส.ก้าวไกลร่วมเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติ บอกเสียดายรัฐบาลควรให้ความชัดเจน เรื่องสิทธิ-สวัสดิภาพ-ค่าแรง หวังทุกฝ่ายร่วมสนับสนุน 'ร่างกฏหมายแรงงาน' ผ่านสภา

โฆษกปชป.ซัดรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ สอบตก นโยบายแรงงาน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ว่าวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2567

'อนุทิน' ปราศรัยวันแรงงานแห่งชาติในนามรัฐบาล!

อนุทินปราศรัยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 ส่งความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานและครอบครัว ขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่เป็นกำลังหลักสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศ