'ดีเอสไอ' ชง ป.ป.ช. ฟันทุจริต 4 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร-ปศุสัตว์ เอี่ยวนำเข้าหมูเถื่อน

ดีเอสไอ ส่งอีก 1 สำนวนหมูเถื่อน ปมบริษัทชิปปิ้งเอกชน "บ.เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด" ให้ ป.ป.ช. ฟันทุจริต 4 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร-กรมปศุสัตว์ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร-พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ หลังมีพฤติการณ์เอื้อตู้หมูเถื่อนฉลุย ส่วนอีก 6 สำนวนที่เหลือ เร่งดำเนินการส่งอัยการคดีพิเศษ

20 เม.ย.2567 - จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีหมูเถื่อน และคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดที่ถูกลักลอบเข้ามายังราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย แบ่งเป็น 3 เลขคดีพิเศษ ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 หรือหมูเถื่อน 161 ตู้ คดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ เเละคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิด (หมูเถื่อน ตีนไก่สวมสิทธิ โคเถื่อน) กว่า 10,000 ตู้ เพื่อขยายผลติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

ในส่วนของคดีพิเศษที่ 59/2566 คณะพนักงานสอบสวนได้มีการแยกเป็น 9 เลขคดีพิเศษ คือ 101/2566-109/2566 เพื่อดำเนินคดีกับรายบริษัทชิปปิ้งเอกชนโดยเฉพาะ โดยก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้มีการส่ง 3 สำนวนให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)​ ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง อันประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 59/2566 (หมูเถื่อน 161 ตู้) คดีพิเศษที่ 101/2566 (รายบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด) และคดีพิเศษที่ 104/2566 (รายบริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด) ส่วนอีก 7 สำนวนที่เหลือ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเตรียมทยอยสรุปสำนวนนำส่งให้ ป.ป.ช. และพนักงานอัยการคดีพิเศษ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ พบว่ามีบริษัทชิปปิ้งเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรแช่แข็งเมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จากนั้นดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนขยายผลเรื่อยมาจนพบว่ามีจำนวน 10 บริษัท จึงได้มีการแยกออกเป็น 9 เลขคดี เพื่อสำหรับดำเนินการทางคดีอาญาแก่รายบริษัทโดยเฉพาะ คือ เลขคดีพิเศษที่ 101/2566-109/2566

ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนสามารถสรุป 3 สำนวน (คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 รายบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด และคดีพิเศษที่ 104/2566 รายบริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด) นำส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมกับมีมติให้กล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เพราะพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ในฐานความผิด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากรโดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ๆ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244, นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอันเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบมาตรา 68 และมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า เมื่อมีการนำส่งให้ ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน จึงเหลืออีก 7 สำนวน คือ คดีพิเศษที่ 102/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช, 103/2566 บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด, 105/2566 บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด, 106/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟู้ดส์, 107/2566 บริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด, 108/2566 บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ 109/2566 บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่ต้องดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งล่าสุด คณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนและนำส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 105/2566 รายบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด แก่ ป.ป.ช. พร้อมมีมติให้กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ รวม 4 ราย ตามฐานความผิดแห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ อีก 6 สำนวนที่เหลือ จะเร่งรัดดำเนินการสรุปสำนวนนำส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษต่อไป

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ ได้กำชับและเร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าซากสุกรทุกคดี เนื่องจากเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมทั้งกระทรวงยุติธรรม โดยให้คณะพนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนที่เหลือ เพื่อมีความเห็นทางคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้าตู้หมูเถื่อน จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทางแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี ผู้เสียหายคดีดิไอคอนกรุ๊ป​ 'ปปง.' เปิดให้ยื่นขอคุ้มครองสิทธิรับคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สิน

ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)​ได้นำส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี บริษัท

ปศุสัตว์ แจ้งความเอาผิดเจ้าของแมว ปมดราม่าละครแม่หยัว

กรมปศุสัตว์  ชี้แจงการสอบสวนกรณีละครดังฉีดยา แมวดำ ให้แสดงอาการเหมือนถูกวางยาพิษ จ่อเอาผิดเจ้าของแมวและผู้มีส่วนร่วม ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก่อนในช่วงเที่ยงจะเดินทางมาเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.บางปู

โฆษกดีเอสไอ โต้ทนายบอสพอล อุปสรรคคดีอยู่ที่ฝ่ายผู้ต้องหาเอง ไม่ใช่ DSI

ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูล ในและฐานะโฆษกดีเอสไอ พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดี

ทนายบอสพอล กังวล 'ดีเอสไอ' ตัดพยาน 2,000 คนฝั่งดิไอคอน ยุติสอบปากคำ 3 ธ.ค.นี้

นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าเยี่ยมบอสพอล ที่เรือนจำฯ ว่ายอมรับว่าหนักใจเนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ

'ดีเอสไอ' จ่อบุกเรือนจำสอบปากคำ 'เจ๊พัช' ปมคลิปเสียงจ่ายสินบนดีเอสไอ 10 ล้าน

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคลิปเสียงสาวอ้างจ่ายเงิน 10 ล้านบาทให้ ดีเอสไอ

'ดีเอสไอ' ให้เวลา 15 วัน '18 บอส' อธิบายธุรกิจดิไอคอน หลังแจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่-ขายตรง

"โฆษกดีเอสไอ" เผยคณะพนักงานสอบสวนเข้าแจ้งข้อหาแชร์ลูกโซ่ - พ.ร.บ.ขายตรงฯ 18 บอสดิไอคอนฯ เรียบร้อย แย้มให้กรอบเวลา 15 วัน