กสม. ตรวจสอบกรณีกรมทางหลวงชนบทมีแผนก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี ผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง ชี้ละเมิดสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ
22 มี.ค.2567- คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 จากประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด และผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ระบุว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2566 กรมทางหลวงชนบท ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา - นครชัยศรี จำนวน 3 แนวเส้นทาง ผลการศึกษาพบว่า แนวทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีระยะหนึ่งตัดผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จำนวน 12 แปลงย่อย มีความเหมาะสมมากที่สุด ผู้ร้องและผู้แทนสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด เข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นคัดค้านผลการศึกษาแนวเส้นทางดังกล่าวเนื่องจากจะส่งผลกระทบหลายประการต่อพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เช่น วิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนแปลงไป การกว้านซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากนายทุน อาจส่งผลต่อระบบนิเวศและการทำเกษตรกรรมในพื้นที่โฉนดชุมชน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดนครปฐมที่มุ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ผู้ร้องได้จัดเวทีประชุมหารือร่วมกับสมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด และผู้ที่อาศัยในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จำนวน 250 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่จะมีถนนผ่านเข้ามาในพื้นที่ และนำเสนอความเห็นดังกล่าวต่อกรมทางหลวงชนบทในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 แล้ว แต่ข้อทักท้วงดังกล่าวไม่มีผลต่อการพิจารณาของกรมทางหลวงชนบท เนื่องจากการประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้การรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรับรองสิทธิประชาชนและชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และสิทธิในเชิงกระบวนการ ซึ่งการดำเนินการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมพิจารณาการดำเนินการนั้นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน
เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความจำเป็นของโครงการก่อสร้างถนนผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เห็นว่า แม้เหตุผลความจำเป็นที่สำคัญของการก่อสร้างถนน คือ ความจำเป็นด้านการจราจร ทั้งการเชื่อมต่อโครงข่ายจราจรและแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และความจำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพัฒนาพื้นที่โดยรอบ แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับเจตจำนงของชุมชนคลองโยงด้วย กล่าวคือ ชุมชนคลองโยงต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างมั่นคงตั้งแต่ปี 2519 - 2553 มีเจตจำนงอย่างชัดเจนในการอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมแห่งนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมการปลูกข้าวและนาบัวที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุแปลงเลขที่ 42341 และแปลงเลขที่ 42342 ให้สหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและท้องถิ่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรักษาไว้ซึ่งสมบัติของแผ่นดิน โฉนดชุมชนคลองโยง จึงถือเป็นโฉนดชุมชนฉบับแรกของประเทศไทยและเป็นความก้าวหน้าของการรับรองสิทธิชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
กสม. เห็นว่า แนวคิดการสร้างถนนเส้นทางดังกล่าวของกรมทางหลวงชนบท จึงเป็นการละเลยซึ่งสิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเองของชุมชนคลองโยง ประกอบกับการประเมินผลกระทบของกรมทางหลวงชนบทในโครงการนี้ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งผลให้การประเมินผลกระทบไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลที่แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงอย่างรอบด้าน ทั้งที่ข้อมูลข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นต้นทุนที่ทำให้ชุมชนบรรลุซึ่งสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ดังนั้น การลดทอนคุณค่าของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงให้เหลือเพียงพื้นที่เกษตรกรรมที่มีต้นทุนเวนคืนต่ำ และให้น้ำหนักกับความจำเป็นด้านการจราจร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบที่ไม่อาจชดเชยได้กับสิ่งที่ชุมชนคลองโยงจะสูญเสียไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเสนอขออนุมัติโครงการเพื่อก่อสร้างถนน ผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของสมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด ในการรับทราบข้อมูลของโครงการการก่อสร้างถนนดังกล่าว เห็นว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จัดโดยผู้ถูกร้องเป็นเพียงการเสนอข้อมูลและผลการศึกษาของผู้ถูกร้อง โดยที่ผู้ร้องและชุมชนมีหน้าที่รับฟังและเสนอความคิดเห็น ซึ่งข้อคัดค้านของชุมชนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลการศึกษาของผู้ถูกร้อง รวมทั้งผู้ถูกร้องยังไม่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้สมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยงซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากการที่จะมีถนนตัดผ่านกลางชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง อันเป็นการละเลยซึ่งสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตามรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย ประเด็นนี้ จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
(1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง ยกเลิกเส้นทางที่เป็นแนวทางเลือกที่ 2 และ 3 เฉพาะในช่วงที่ตัดผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เนื่องจากหากดำเนินการต่อไป จะเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และต้นทุนฐานทรัพยากรที่ไม่อาจประเมินค่าได้ของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง และให้กรมทางหลวงชนบทพัฒนาและออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน โดยควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การพิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการ การกำหนดปัจจัยที่ใช้ในการศึกษา การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางเลือกที่จะมีหรือไม่มีโครงการ การใช้กระบวนการสานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจของทุกฝ่าย รวมทั้งการกำหนดผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุม
(2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาร่างกฎกระทรวง ระเบียบ หรือมาตรการ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนในพื้นที่โฉนดชุมชน โดยควรได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและได้รับความเห็นชอบจากชุมชนที่จะได้รับผลกระทบก่อน ทั้งนี้ เพื่อรับรองเจตนารมณ์ของรัฐในการจัดให้มีโฉนดชุมชนเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยควรให้โครงการ หรือการดำเนินการ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ
แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
ป.ป.ช.โวยขอภาพวงจรปิดชั้น14ไปนานแล้วยังไม่ได้ ให้จนท.พิจารณาเชิญ 'เสรีพิศุทธ์' เป็นพยาน
ป.ป.ช.โวยขอภาพวงจรปิดชั้น 14ไปนานแล้วแต่ยังไม่ได้ ลั่นถ้าไม่ให้ต้องตรวจสอบเหตุผล ไม่ฟันธง เชิญ 'เสรีพิศุทธ์' เป็นพยานหรือไม่ หลังเข้าเยี่ยม 'ทักษิณ'
'กสม.' ชี้ ก่อสร้างโรงแรมใน ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมปชช. จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
'กสม.' ชี้ โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบสิทธิและวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข
กสม.เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ อ.องครักษ์
กสม. เสนอทบทวนสถานที่ตั้งโครงการเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ย้ำชุมชนและประชาชนที่จะได้รับผลกระทบต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ