14 มี.ค.2567 - กรณีนางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อแถลงการณ์คัดค้านการฝากขัง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์
ปู-จิตกร บุษบา พิธีกรและคอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 1.ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ชื่นชมการทำหน้าที่ “เยียวยา-กล่อมเกลาเด็ก” ของป้ามล-ทิชา ณ นคร มาโดยตลอด แต่ในกรณีนี้ “มีคำถาม” กับป้ามลมากมาย
2.ป้ามลพยายาม “เล่นกับตัวเลข” กับ “สถิติ” เพื่อ “ทำลายความชอบธรรมของกระบวนการ” ทำให้กระบวนการควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีเป็น “ผู้ร้าย” โดยไม่ลงในรายละเอียดว่า หลักเกณฑ์และหลักการของการควบคุมตัวระหว่างถูกดำเนินคดีหรือพิจารณาคดีนั้น มีอะไรบ้าง อะไรคือเหตุของการไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ตามกฎหมาย แล้วใช้หลักนั้น “ลงลึก” ไปในสถิติที่ป้านำมาแสดง
3.ครั้งนี้ป้าได้ลดระดับตัวเองจาก “นักตรวจสอบมีคุณภาพ” เป็นแค่ “นักเคลื่อนไหวไร้คุณภาพ” คือ ป้าจะมักง่าย ไร้เดียงสา ไม่ใช้การศึกษา หรือมีเล่ห์กล ก็ไม่อาจทราบได้ ป้าจึงเล่นกับ “จำนวน” อย่างหยาบๆ ง่ายๆ โง่ๆ โดยไม่ลงลึกใน “เนื้อหา” เลย ว่า 20% เป็นนักโทษที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและไม่ได้รับการประกันตัว นั้น มีพฤติกรรมหรือองค์ประกอบใดที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายที่เขียนไว้แล้ว ที่นำไปสู่การต้องถูกควบคุมตัว เป็นการทำงานที่ไม่ใช่เชิง “คุณภาพ” ไม่แยกแยะ แต่เสมือนเล่น “มายากล” พรางตาคนเสียอย่างนั้น
4.การไม่ให้ประกันตัว ทั้งในชั้นเจ้าพนักงานและในชั้นศาลนั้น มี “เหตุ” ที่ระบุเป็น “เงื่อนไข” ชัดเจน ว่าต้องเข้าองค์ประกอบใด จึงจะได้รับการปล่อยตัว องค์ประกอบใดจะต้องถูกควบคุมตัว นี่คือสิ่งที่ป้าไม่พูด ไม่ให้ความรู้ หรือ “ไม่หาความรู้-ไม่ยึดถือเป็นหลักเกณฑ์หลักการ” ก็ไม่ทราบได้ ป้าควรเป็นตัวอย่างของการสอนคนให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพกฎเกณฑ์ สิ่งที่ต้องยึดเป็น “เครื่องมือตรวจสอบเชิงคุณภาพ” คือ หลักเกณฑ์และข้อเท็จจริงว่า ทำไม ผู้ที่ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” จึงต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี
5.มาตรา 108/1 ป.วิ.อ. ระบุเหตุแห่งการไม่ให้ประกันตัวไว้หลายกรณี อาทิ ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี, ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ, การอนุญาตให้ประกันตัวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล หรือพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว คือ มีการระบุในคำร้องขอฝากขังว่าขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา
6.ในกรณีนี้ เจ้าพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างต่อศาลว่า ยังสอบปากคำพยานไม่ครบ จนร้องขอฝากขังเป็นผัดที่ 4 ศาลจึงมีคำสั่งกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จในการฝากขังครั้งนี้ ส่วนที่บิดาของผู้ต้องหา อ้างเหตุแห่งความเจ็บป่วย (เพราะอดอาหารเอง เป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นเอง) ศาลท่านก็ชี้ซ้ำว่า แม้ผู้ต้องหาทั้งสองมีอาการวิกฤติตามที่ผู้ร้องอ้าง แต่เมื่อผู้ร้องทั้งสองอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เชื่อว่า ผู้ต้องหาจะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต กรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้อง และผู้ต้องหาทราบ ซึ่ง “เรื่องแค่นี้” ไม่น่าจะเป็น “ภาระทางปัญญา” หรือ “เกินปัญญา” ของคนระดับ “ทิชา ณ นคร” ได้
หากป้ามล-ทิชา จะเล่นประเด็นอะไรให้เห็น “ความแหลมคมทางสติปัญญา” ต้องเล่นว่า พนักงานสอบสวนเตะถ่วง เป็นพฤติกรรมที่ไม่นำไปสู่ความยุติธรรม ไม่ใช่ไปอ้างสถิติคนที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีว่า ภายหลังศาลตัดสินว่าบริสุทธิ์ หรือยกฟ้อง (ซึ่งก็เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น พยานหลักฐานไม่เพียงพอ เป็นต้น) การคุมขังระหว่างพิจารณาคดี หรือระหว่างการสอบสวน จึงไม่ใช่เหตุว่า คนคนนั้น “เป็นผู้บริสุทธิ์” หรือไม่เป็น แต่มีพฤติกรรม “เข้าองค์ประกอบ” ที่เป็นเหตุให้ต้องควบคุมตัวไว้ก่อน เท่านี้เองครับป้า ป้าต้อง “ไม่เลอะเลือน” ในนิยามของคำว่า “ผู้บริสุทธิ์” ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการที่ดำเนินสืบเนื่องกันไป
7.ทนายบอน-นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ให้ความรู้ว่า การปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) เป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันศาลก็มีหน้าที่ต้องดูแลปกป้องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย
ในกรณีเช่นนี้ บางกรณี ศาลก็ได้เคยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลแล้ว ด้วยการให้ประกันตัวในการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้ออกมาใช้ชีวิตและต่อสู้คดีได้เต็มที่ แต่เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลย กลับกระทำความผิดซ้ำ ผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล สร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้นในสังคม
ศาลก็มีอีกหน้าที่หนึ่ง คือ ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเช่นกัน และเมื่อถึงเวลานั้นการประท้วงด้วยการอดอาหารก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะไม่เช่นนั้น นักโทษคงอดอาหารแล้วได้ออกมาจากเรือนจำกันทุกคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย
จึงขอฝากไปถึงผู้ใหญ่ที่ให้ท้ายคนรุ่นใหม่ทำผิดกฎหมาย ช่วยแนะนำให้เคารพกฎหมายบ้านเมืองจะดีกว่า และในกรณีที่ได้รับการประกันตัว ได้รับโอกาสออกมาต่อสู้คดีแล้ว ก็ควรแนะนำให้ประพฤติตนตามคำสั่งของศาลโดยเคร่งครัด จะเกิดประโยชน์กับคนรุ่นใหม่และเกิดประโยชน์กับสังคมมากกว่า
8. สิ่งที่ป้ามล “เลยเถิด” ไปอีก คือ “...ต้องมาคำนวณเกี่ยวกับวันเวลา อิสรภาพ โอกาสในการทำมาหากินของพวกเขา ถ้าเราทำงานวิจัย นี่คือ ความสูญเสียมหาศาล...” นี่ป้าก็พูดโดย “ไม่หาความรู้” (uneducated) อีก
9.เรื่องนี้แบ่งได้เป็นสองกรณีครับป้า 1. ถ้าศาลยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย (ไม่ได้พิพากษาว่าไม่ผิด) จะไม่ได้รับการเยียวยา 2. กรณีศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด จะเข้าหลักเกณฑ์ในการยื่นขอรับเงิน
10.ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำเลยมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากทางการหลายรายการ ได้แก่ (1) ค่าทดแทนการถูกคุมขังวันละ 500 บาท (2) ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 40,000 บาท (3) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตใจ 50,000 บาท (4) ค่าขาดประโยชน์การทำมาหาได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดที่จำเลยทำงาน ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เช่น ค่าทนาย ส่วนกรณีที่จำเลยเสียชีวิต ยังมีสิทธิได้รับค่าทดแทน 100,000 บาท ค่าทำศพ 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และค่าเสียหายอื่นอีกไม่เกิน 40,000 บาท เป็นต้น
การพูดเรื่อยเจื้อยเลอะเทอะ ไร้การศึกษา นับเป็นการ “กัดกร่อนบ่อนเซาะ” กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิด “วิกฤติศรัทธา” ทั้งๆ ที่เกิดจาก “วิกฤติปัญญา” ของตนแท้ๆ กระบวนการยุติธรรมต้องมาถูกข่มขืนล่วงเกินด้วยคำพูดไร้ปัญญา ไม่ศึกษาให้พอก่อนพูด ประดิดประดอยถ้อยคำเก๋ๆ ชิงพื้นที่ข่าว หาประโยคพาดหัวหรือทำอินโฟกราฟิก โชว์ตัว โชว์หน้า โชว์ปัญญาไป
ป้าเรียกร้องให้ชักฟืนออกจากไฟ ในขณะที่ป้ากำลังถูกใช้เป็น “ฟืน” ที่ก่อกองเพลิงอับปัญญาให้ลุกโชนขึ้นแผดเผาบ้านเมือง ให้การเรียนรู้ที่ผิดแก่เด็กและเยาวชนที่ศรัทธาป้า ทั้งหมดที่เขียนมา จึงหวังว่า “ป้าจะศึกษา” และทบทวนตัวเอง!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'จุลพันธ์' ยันไม่ยุบบ้านกาญจนาภิเษก 'ทิชา' ยังอยู่ในขั้นตอนประเมินตามวงรอบปกติ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ลุกขึ้นชี้แจงภาพรวมมาตรา 21 กระทรวงยุติธรรม ว่า งบประมาณก้อนนี้รวม 12 หน่วยงาน
'จอม' โผล่ปลุกกลุ่มต่อสู้เพื่อ 'ป้ามล' อย่าแผ่ว!
นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ลี้ภัยหนีคดีความมั่นคงในประเทศสหรัฐอเมริกา
'ทิชา' ชี้ 'วิษณุ' ตัวแทนอนุรักษ์นิยม คนหนุ่มสาวต้องเปลืองตัวออกแรงเพื่อทะลุทุกขีดจำกัด
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า วิษณุ เครืองาม คือหนึ่งในสัญลักษณ์ อนุรักษ์นิยมเก่าที่อยากหยุดสังคมไทยทั้งที่มันหยุดไม่ได้
'ตะวัน ทะลุวัง' เคลื่อนไหวครั้งแรก หลังศาลให้ประกันตัวคดีป่วนขบวนเสด็จ
น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน ทะลุวัง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ถึง พี่บุ้ง พี่บุ้งเคยพูดกับหนูว่า “นี่แหละ เราต้องสู้เพื่อทุกคน ไม่ใช่สู้เพื่อแค่นักโทษการเมือง”
ศูนย์ทนายฯเดินหน้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง 19 ราย จี้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง “คืนสิทธิความเป็นคน คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสิทธิประกันตัว ให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี” วันที่ 22 พ.ค 2567
'ป้ามล' จวกสิ้นคิด ถ้าคิดว่ามีใครบงการ 'บุ้ง' จนยอมตาย ถ้าทำได้ ทำไมไม่ทำเอง
นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า