'ลูกชายสหายภูชนะ' ร้อง กมธ.กฎหมายสอบข้อเท็จจริงพ่อถูกบังคับสูญหาย!

'ลูกชาย สหายภูชนะ-มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ร้อง ปธ.กมธ.กฎหมาย สอบข้อเท็จจริงบังคับสูญหายที่ลาวเมื่อปี 2561

13 มี.ค. 2567 - ที่รัฐสภา นายก่อการ บุปผาวัฏฏ์ บุตรชายของนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้ายื่นหนังสือต่อ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ขอให้สอบข้อเท็จจริงและค้นหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหายของนายชัชชาญ ที่ประเทศลาว เมื่อปี 2561

ทั้งนี้ได้ขอให้คณะ กมธ.ฯ ดำเนินงานในสองประเด็นหลัก คือ 1. ขอให้ กมธ.ฯตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบสวน เกี่ยวกับเหตุการณ์การลักพาตัวของนายชัชชาญ และการสืบสวน สอบสวนเพื่อค้นหามูลเหตุ ของการลักพาตัว และพยานหลักฐาน จากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการขัดแย้งทางการเมือง การละเลยในการติดตามและความล้มเหลวในการเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีการแจ้งให้ญาติ และครอบครัวของนายชัชชาญทราบถึงความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ 2.ขอให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เกิดในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวของนายชัชชาญ และการสั่งการเข้าออกชายแดนไทย-ลาว และขอให้มีการดำเนินการ เพื่อความยุติธรรมแก่นายชัชชาญและครอบครัว รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าว และชดใช้เยียวยาต่อไป

ทั้งนี้ เป็นคดีที่สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2561 นายชัชชาญถูกบังคับให้สูญหาย ไปพร้อมกับนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือด่านวัฒนานุสรณ์ จนกระทั่งวันที่ 27 ธ.ค.2561 เวลาเช้า มีคนพบศพนายชัชชาญถูกฆ่า และกระทำอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ลอยแม่น้ำโขง มาขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครพนม จนกระทั่งปัจจุบันการดำเนินการสืบสวนสอบสวนยังไม่คืบหน้า และไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด โดยหลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 บังคับใช้ นายก่อการได้เดินทางมาร้องทุกข์กับศูนย์ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 เป็นครั้งแรก ซึ่งในเบื้องต้นพนักงานอัยการผู้รับเรื่องร้องทุกข์แจ้งว่า หลังจากนี้อาจมีการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมมาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ให้ไว้ เพื่อพิจารณาว่ากรณีเข้าองค์ประกอบที่จะใช้กลไกคุ้มครองและเยียวยาตาม พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้า

ด้านนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า กมธ.ฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลในครั้งแรก ซึ่งปรากฏว่า ไม่ทราบว่าสำนวนอยู่ที่ไหน แต่ในท้ายที่สุดจึงได้ข้อมูลว่า มีการให้ความเห็นว่าการตายของทั้ง 85 คนนั้น ไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา และเมื่อประชาชนได้ทราบข่าวก็เกิดความต้องการจะทราบว่า กระบวนการยุติธรรมของสังคมไทยเป็นอย่างไร และอยากให้ผู้เสียหายได้ฟ้องร้องเอง โดยผู้เสียหายได้มีการรวบรวมเอกสารที่ใช้ยื่นฟ้องให้กับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วย แต่กลับถูกข่มขู่

นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงกว่า 2 เดือนแล้ว เพื่อสอบถามความคืบหน้าของคดี แม้ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาไปแล้ว แต่ในทางกฎหมายหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง เมื่อดูในบันทึกข้อตกลง ทุกคนมีความเห็นว่า เป็นบันทึกข้อตกลงที่ไม่ทำให้คดีอาญาระงับ นั่นหมายความว่า เมื่อศาลได้มีการไต่สวนแล้ว ว่าผู้ตายขาดการหายใจ พนักงานสืบสวนสอบสวนต้องดำเนินคดีต่อ ว่าใครเป็นผู้ทำให้ขาดอากาศหายใจ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มีการขอขยายเวลาส่งสำนวนดำเนินคดี แต่กลับไม่มีการดำเนินการอะไรเลย จึงถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ราชทัณฑ์เฉลย 'พี่สาวบุ้ง' เป็นคนบอกให้ไป รพ.ธรรมศาสตร์

'กมลศักดิ์' เผย 'รพ.ราชทัณฑ์' ยอมให้ภาพวงจรปิดการเสียชีวิตของ 'บุ้ง' แต่แม่ต้องมอบอำนาจให้ทนายความ พร้อมมอบรายงานขั้นตอนการเสียชีวิตอย่างละเอียดให้กมธ.กฎหมายฯ พรุ่งนี้

ศาลฎีกาพบข้อพิรุธอื้อ คดี 'ชัยภูมิ ป่าแส' พิพากษากลับสั่งกองทัพบก ชดใช้ 2 ล้าน

6 ปี กับการต่อสู้ของครอบครัว 'ชัยภูมิ ป่าแส' ไม่สูญเปล่า สุดท้ายแล้วความยุติธรรมที่รอคอยก็มาถึง เมื่อศาลฎีกาสั่งกองทัพบกจ่ายเงิน 2 ล้านกว่า ให้กับครอบครัวฯ เผยจำเลยมีข้อพิรุธเพียบ

เอ็นจีโอกว่า10องค์กร ปลุกทุกภาคส่วนร่วมยื่นจม.ถึงปธ.ศาลฎีกา เร่งคลี่คลายวิกฤตศรัทธา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมฯ ร่วมกับองค์กรประชาชนกว่า 10องค์กร ชวนทุกภาคส่วนร่วมแสดงพลัง ยื่นจม.ปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา จี้แก้ไขคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวนักกิจกรรม เร่งคลี่คลายวิกฤตศรัทธา โดยด่วน