4 มี.ค.2567 - นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์เฟซบุ๊ก โดยเขียนบทความเรื่อง "คำถามเพื่อสัมภาษณ์ท่านอธิการบดีจุฬาฯ กรณีพิพาทจุฬาฯ และอุเทนทถวาย: วิรังรอง ทัพพะรังสี" มีเนื้อหาดังนี้
ที่จริงก็ไม่เคยคิดเรื่องนี้แต่พอได้อ่านคอมเมนต์ของอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่มีผู้ส่งมาให้ ตามข้อความในภาพด้านล่างก็เห็นด้วยกับอาจารย์ว่า แทนที่จะเอาข้อมูลจากคนนอกอย่างดิฉัน เป็นต้น ไปออกรายการ ควรที่ผู้จัดรายการต่าง ๆ ที่สนใจข่าวเรื่องอุเทนถวายกับจุฬาฯ จะเชิญผู้บริหารจุฬามาให้ข้อมูลกับประชาชนจะเป็นประโยชน์กว่า ดังที่อาจารย์บอกว่ามีหลายท่านและเป็นผู้ที่รู้เรื่องดี ดิฉันจึงขอเสนอ เพิ่มเติมจากข้อเสนอของอาจารย์เจษฎา ดังนี้ค่ะ
ควรเรียนเชิญ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของจุฬาฯ ย่อมเป็นผู้ที่ต้องทราบข้อมูลทุกอย่างและสามารถชี้แจงตลอดจนตอบข้อสงสัยของประชาชนได้แน่นอน มาออกรายการสัมภาษณ์ดังที่อาจารย์เจษฎา แนะนำค่ะ โดยให้เป็นการไลฟ์สดและมีการโฟนอินเพื่อประชาชนได้ซักถามข้อสงสัย เบื้องต้นดิฉันขอส่งคำถามเรียนถามดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี ต่อผู้จัดรายการสัมภาษณ์ ล่วงหน้าดังนี้
๑. สาเหตุที่แท้จริงที่ต้องให้อุเทนถวายย้ายออกไป เกี่ยวกับความปลอดภัย เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการใช้ความรุนแรงของอุเทนถวายใช่หรือไม่
๒. ถ้าท่านอธิการบดีคิดว่าการที่จะให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่จุฬาฯ ไปอยู่ที่อื่นด้วยสาเหตุที่อุเทนถวายเคยก่อเหตุความรุนแรง ดิฉันเรียนถามว่า ท่านคิดว่าจะมีที่ใด จังหวัดใด ที่จะยินดีรับอุเทนถวายไว้แทนจุฬาฯ บ้าง การให้อุเทนถวายย้ายออกไปจะเป็นการแก้ปัญหาได้แน่นอนยั่งยืนหรือ
๓. แต่ถ้าไม่ใช่ข้อ ๒ โปรดบอกสาเหตุ ถ้าเหตุเพราะหมดสัญญาเช่าที่ดิน ตามที่จุฬาฯ ได้ชี้แจงไว้ ขอเรียนถามว่า แล้วจะกรุณาต่อสัญญาเช่าให้อุเทนถวายมิได้หรือ ถ้าไม่ได้ เพราะเหตุใด
ขออนุญาตสงสัยประเด็นที่น่าสนใจตามอย่างอาจารย์เจษฎา แต่ขอกลับมาถามฝ่ายจุฬาฯ ว่า "มีเหตุผลอะไรแอบแฝงลึกๆ อยู่หรือเปล่า" จุฬาฯ จึงพยายามให้อุเทนถวายย้ายออกไป ทั้งที่เป็นสถานที่ศึกษาตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๖
๔. ขอดูหลักฐานการเช่าพื้นที่และการจ่ายค่าเช่าของอุเทนถวายจากจุฬาฯ ทั้งหมดเท่าที่มี
๕. พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของอุเทนถวาย อยู่ในโซนใดของที่ดินทั้งหมดที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ ที่ต้องเรียนถามเรื่องนี้เพราะข้อมูลสับสนมาก จึงต้องการคำตอบจากท่านอธิการบดี ว่าเป็นพื้นที่ใช้สำหรับการศึกษาวิชาการ พื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือพื้นที่สำหรับให้ราชการเช่า
๖. หากอุเทนถวายย้ายออกไปแล้ว ท่านอธิการบดีมีแผนที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวทำอะไรบ้าง จะมีรายได้จากค่าเช่าสถานที่ ค่าบริการ หรือคาดว่าจะมีรายได้รับใด ๆ จากการใช้พื้นที่นั้นบ้างหรือไม่ ถ้ามี ท่านคาดการณ์ตามแผนงานโครงการที่วางไว้ว่าจะมีรายได้ประมาณปีละเท่าใด
๗. ท่านอธิการบดีจะยืนยันและรับรองให้ประชาคมจุฬาฯ และประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องนี้ได้สบายใจได้หรือไม่ว่า หากอุเทนถวายย้ายออกไปจากที่ดินนั้น จุฬาฯ จะไม่ใช้ที่ดังกล่าวเชิงพาณิชย์ หรือแสวงหารายได้ใดๆ
๘. ขอให้ท่านอธิการบดีเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายของจุฬาฯ ครอบคลุมช่วงก่อนโควิด ๕ ปี ช่วงระหว่างโควิดที่นักศึกษาเรียนออนไลน์แทบไม่ได้ใช้พื้นที่การศึกษาในจุฬาฯ จนถึงล่าสุดเท่าที่มีอยู่ เป็นจำนวนเงิน และเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ให้ประชาคมจุฬาฯ นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และสาธารณชนได้รับทราบเพื่อความโปร่งใส ได้หรือไม่
๙. ขอให้ท่านอธิการบดีกรุณาชี้แจงว่า จุฬาฯ ตั้งเป้าการแสวงหารายได้เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายด้านการศึกษาแก่นิสิตและบริหารการศึกษาจุฬาฯ ไว้อย่างไร รายได้จากค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตโดยทางตรง เช่นค่าหน่วยกิต หรือเป็นค่าจ้างเงินเดือนพนักงานเจ้าหน้าที่ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ดังกล่าว
๑๐. รายได้ประมาณสองหมื่นกว่าล้านต่อปีของจุฬาฯ ยังไม่เพียงพอเป็นทุนสำรองเพื่อการศึกษา พัฒนาและบริหารจุฬาฯ หรือ ขอทราบเหตุผลที่มีการขยายตัวลงทุนเชิงพาณิชย์ไม่จบสิ้น
๑๑. ขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ที่ดินทับซ้อนที่จุฬาฯ ได้โอนคืนให้สภากาชาด" ที่ได้ออกเป็นพ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาฯ ให้แก่สภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นดินที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงทรงอุทิศที่ดิน พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒๕๘,๐๐๐บาท ให้สภากาชาดไทยก่อสร้าง “สถานเสาวภา” เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์และเพื่อให้เป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
ตามข้อมูลที่รับทราบมาและค้นคว้าในอินเทอร์เน็ตนั้น จุฬาฯ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่ทับซ้อนดังกล่าวมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อดิฉันดูปีที่จุฬาฯ คืนที่ดินให้สภากาชาดในปี ๒๕๒๒ คิดเป็นเวลาถึง ๔๐ ปี จึงได้มีการออกพ.ร.บ. คืนที่ดินให้สภากาชาด ดิฉันจะไม่ถามว่าทำไมจุฬาฯ ถือครองที่ดินของในหลวงรัชกาลที่ ๖ ที่ทรงอุทิศแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถและเป็นสมบัติของชาติ ไว้ยาวนานขนาดนั้น แต่ดิฉันขอเร่ียนถามว่า
เนื่องจากอุเทนถวายได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่สมัย ร. ๖ และยังทรงพระราชทานทุนทรัพย์ให้ในการก่อสร้างโรงงานโรงเรียน พร้อมพระราชทานนามโรงเรียนว่า "อุเทนถวาย" ทั้งยังกำหนดสถานที่ให้อยู่บริเวณสะพานอุเทนถวายด้วย ซึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น การที่พระมหากษัตริย์ตรัสว่า "ให้" หรือ "อนุญาต" คำเดียว ก็คือคำประกาศิตทันที ครั้นหลังพ.ศ. ๒๕๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเมื่อจุฬาฯ ได้ขอพระราชทานรับกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณนั้นทั้งหมด แต่อุเทนถวายมิได้ขอ จุฬาฯ จึงได้พื้นที่ทั้งหมดรวมถึงที่ดินบริเวณสถานเสาวภาและอุเทนถวายด้วยเช่นกัน
ดิฉันจึงขอเรียนถามท่านอธิการบดีว่า กรณีที่ดินอุเทนถวาย อาจจะเข้าข่ายที่ดินทับซ้อนที่จุฬาฯ คืนให้สภากาชาดภายหลังได้หรือไม่ เพราะอุเทนถวายคงใช้ที่ดินของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ร. ๖ จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยพลการถ้าไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งนั้นคืออุเทนถวายตั้งอยู่ตรงที่อยู่ปัจจุบันนี้ตลอดมาก่อนที่จุฬาฯ จะได้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ดังนั้นหากเป็นพระราชปณิธานของร.๖ ที่ให้อุเทนถวายใช้ที่ดินนั้นเพื่อการศึกษาเล่าเรียน และจุฬาฯ ได้ขอกรรมสิทธิ์ที่ดินทับซ้อนที่ดินอุเทนถวายไปแล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๒ จุฬาฯ จะคืนที่ดินดังกล่าวให้อุเทนถวายได้หรือไม่ ดังเช่นที่จุฬาฯ ได้คืนที่ดินให้สถานเสาวภา
ทั้งหมดที่ถามนี้ไม่เกี่ยวกับการดื้อดึงไม่ทำตามคำที่ให้อุเทนถวายย้ายออกไป ดังนั้นโปรดอย่าทัวร์ลงดิฉัน เรื่องข้อกฎหมายและคำสั่งศาลเราคงไม่ต้องให้จุฬาฯ มาพูดออกรายการสัมภาษณ์ ดิฉันเพียงแค่เสริมจากที่อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แนะนำ และดิฉันเชื่อว่าประชาคมจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป อยากฟังคำตอบข้างบนนี้จากท่านอธิการบดี ดังที่อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ได้โพสต์ไว้ใน Fabebook ความตอนหนึ่งว่า
"..... แต่ถ้าในวันข้างหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดจะปรับแผนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมจุฬาฯ รวมตลอดถึงประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้ามีเรื่องทุจริตคิดมิชอบเกิดขึ้น ไม่ต้องเดือดร้อนถึงคนอื่นหรอกครับ เพียงแค่คนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เขาย่อมไม่ยอมอยู่นิ่งอย่างแน่นอนครับ"
ดิฉันรู้สึกขอบพระคุณอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เป็นอย่างสูงที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เห็นความสำคัญของการตรวจสอบจุฬาฯ โดยประชาคมจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน รวมตลอดถึงประชาชน แต่ดิฉันก็เห็นด้วยกับอาจารย์เจษฎา ว่าเราควรเชิญจุฬาฯ มาชี้แจงเพื่อตอบปัญหาข้างต้นนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อยุติความสับสนในข่าวสาร และความเข้าใจอันดีตรงกันทุกฝ่าย ดีกว่าไปตรวจสอบวันข้างหน้าดังที่อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ แนะนำไว้
ดิฉันจึงขอเปิดพื้นที่นี้ ให้พี่น้องประชาคมจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน นักศึกษาอุเทนถวาย รวมตลอดถึงประชาชน
๑. แสดงความเห็นว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามถึงท่านอธิการบดีจุฬาฯ ของดิฉันข้างบนนี้
๒. หากท่านมีคำถามข้อสงสัยอื่นใดที่ต้องการให้ท่านอธิการบดีจุฬาฯ ตอบ (ขอให้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงเรื่องข้อพิพาทระหว่างจุฬาฯ กับอุเทนถวายเท่านั้น) สามารถส่งคำถามไว้ในคอมเมนต์ได้ค่ะ สำนักข่าวใดเชิญอธิการบดีไปออกรายการ ก็กรุณามาเก็บคำถามเหล่านี้เลือกไปเรียนถามท่านอธิการบดีให้ด้วยค่ะ
สุดท้ายนี้ โปรดทราบว่านี้เป็นเพียงข้อเสนอของดิฉันในนามนิสิตเก่าซึ่งเป็น ๑ ในประชาคมจุฬาฯ ทั้งเป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน การที่ท่านอธิการบดีจะให้รายการต่างๆ สัมภาษณ์สด และตอบคำถามข้างต้นรวมทั้งที่ส่งมาในคอมเมนต์ เป็นเรื่องที่พวกเราร้องขอได้ แต่จะได้รับการตอบสนองจากอธิการบดีจุฬาฯ หรือไม่ ดิฉันไม่อาจทราบได้ค่ะ
อีกครั้ง ขอขอบคุณอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้ชี้นำให้มีรายการสัมภาษณ์ทางฝ่ายจุฬาฯ และอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ที่ให้ความสำคัญการตรวจสอบจากประชาคมจุฬาฯ ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน รวมตลอดถึงประชาชน
วิรังรอง ทัพพะรังสี
๒ มีนาคม ๒๕๖๗
บทความนี้เขียนขึ้นเฉพาะหน้าจากแรงบันดาลใจที่ได้จากคอมเมนต์ของอาจารย์เจษฎา ที่:
https://www.facebook.com/insidethailand/videos/295351359974054/
และของอาจารย์ธงทองที่:
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=800316515464021&id=100064570394286&set=a.301244428704568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
ดิจิทัล วอร์รูม เตือนภัยฝ่าน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม
ภาคเหนือเผชิญอุทกภัยรุนแรง โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย น้ำท่วมตัวเมือง มีน้ำป่าไหลทะลักลงตามแม่น้ำสาย ทำให้บ้านเรือน ร้านค้า ตลาดสด พื้นที่เกษตรที่ติดลำน้ำสายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันแม้น้ำแห้งแล้วแต่ประชาชนยังจมโคลนจมฝุ่นต้องการการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาจากปัญหาที่น้ำท่วมได้ทิ้งไว้ตามบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่างๆ
เผยอาการป่วย 'พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์' อดีตผู้ว่าฯเชียงราย ผ่าตัดเปลี่ยนไต เม.ย.67
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความตอนหนึ่งว่า ความจริงเกี่ยวกับการป่วยของ ท่านพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (เกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2567
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
'ไชยันต์' ตั้งปุจฉา 'ไม่มีสมบูรณาญาสิทธิราชก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง'
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่มีสม