'ดร.อานนท์' ร่ายยาย ความขัดแย้งอินโดจีน-ฝรั่งเศสกับสยาม กางสนธิสัญญาปี 1907 ยัน 'เกาะกูด' เป็นของไทย กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ขีดเส้นบนแผนที่ลากเฉือนแบ่งเกาะกูดออกเป็นสองฝั่ง เพื่อครอบครองพื้นที่ในทะเลอ่าวไทย และไม่มีพื้นที่ทับซ้อน
1 มี.ค. 2567 - ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาสถิติศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
พระปิยมหาราชทรงยอมสูญเสียมากแค่ไหนเพื่อให้เกาะกูดกลับมาเป็นของไทย!!!
ความขัดแย้งระหว่างอินโดจีน-ฝรั่งเศสกับสยาม นั้นมีมาโดยตลอดนับตั้งแต่ฝรั่งเศสพยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมอินโดจีน ความขัดแย้งนี้เริ่มมาตั้งแต่กรณีกบฎเจ้าอนุวงศ์ และต่อมาสงครามปราบฮ่อ ที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพยกพลขึ้นไปปราบฮ่อที่แคว้นหัวพันห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งฝรั่งเศสคิดว่าอาณาบริเวณดังกล่าวอยู่ในอาณานิคมอินโดจีนของตน
ชนวนใหญ่ที่ฝรั่งเศสก่อให้เกิดสงครามคือการเข้ายึดเมืองคำม่วนที่เป็นเขตปกครองของไทย และพยายามขับไล่เจ้าเมืองคือพระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพ็ชร์) โดยกองกำลังทหารนำโดยมงซิเออร์ลูซ ได้บังคับให้พระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองคำม่วนออกจากพื้นที่ พระยอดเมืองขวางเป็นข้าหลวงในสังกัดของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ ได้ต่อสู้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการรักษาแผ่นดินไทยเอาไว้ มีทหารทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายฝรั่งเศสบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนหนึ่ง ทำให้ฝรั่งเศสถือเป็นเหตุอันไม่พอ และไปยึดหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกเอาไว้ในปกครองของตนคือเมืองจันทบุรีและเมืองตราด
คดีพระยอดเมืองขวางที่ฆ่านายทหารญวณและเวียดนามเสียชีวิตไปนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับทางฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก กระบวนการศาลยุติธรรมไทยได้ตัดสินว่าพระยอดเมืองขวางไม่ผิด แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทย และต้องการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยจัดตั้งศาลร่วมระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเพื่อตัดสินคดีพระยอดเมืองขวาง ซึ่งทางการไทยก็ไม่ร่วมมือ ไม่ยอมส่งพระยอดเมืองขวางไปขึ้นศาลดังกล่าว แต่ปัญหานี้ท้ายที่สุดไทยก็ต้องยอม ศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยฝรั่งเศสตัดสินพิพากษาว่าพระยอดเมืองขวางมีความผิดจริงต้องโทษจำคุก และทำให้ท้ายสุดพระยอดเมืองขวางก็ต้องไปเข้าคุกของฝรั่งเศส
วันที่ 21 มีนาคม ร.ศ.112 ฝรั่งเศสได้ส่งเรือ Lutin เข้ามาจอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่ออวดแสดงแสนยานุภาพ ได้เข้ามาขอเจรจาและเรียกร้องให้สยามยอมรับเขตแดนญวน (เวียดนาม) ว่ารวมถึงฝั่งซ้ายลำน้ำโขงทั้งหมด (หรือประเทศลาวในปัจจุบันทั้งประเทศ) แต่ไทยไม่ยินยอม
ในช่วงเวลาเดียวกันผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศสได้ส่งนายออกุสต์ ม. ปาวี ซึ่งเป็น Vice Consul ประจำเมืองหลวงพระบางมาเป็นกงสุลประจำกรุงเทพมหานครเพื่อเจรจาต่อรองรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศส โดยตรง ฝรั่งเศสได้เอาเรือรบเข้ามาในอ่าวไทย เพื่อปิดปากอ่าวไทย และเกิดการสู้รบกันระหว่างฝรั่งเศสกับทหารเรือไทย บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทหารเรือไทยได้ชักรอกยกโซ่ที่อยู่ใต้ท้องน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาขวางกลางลำน้ำ มิให้เรือรบของฝรั่งเศสเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เกิดการยิงต่อสู้กัน มีการบาดเจ็บล้มตายทั้งฝั่งไทยและฝรั่งเศส (จากบทความของผู้เขียน ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๕ : คดีพระยอดเมืองขวางและวิกฤติ รศ.112 เมื่อทรัพย์สินพระมหากษัตริย์กู้ชาติบ้านเมือง https://mgronline.com/daily/detail/9650000057151)
เรือรบของฝรั่งเศสยังได้ยึดครองเมืองจันทบุรีและเมืองตราดของไทยไว้ด้วย และปิดปากแม่น้ำจันทบุรีไว้ในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังได้เข้าไปยึดเกาะสีชังไว้ทั้งเกาะทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีปัญหามากเนื่องจากเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่ไม่อาจแล่นเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาได้เนื่องจากติดสันดอนปากแม่น้ำต้องไปพักขนถ่ายสินค้าที่บริเวณเกาะสีชัง
ฝรั่งเศสบังคับให้สยามต้องตอบภายใน 48 ชั่วโมง ท้ายที่สุดสยามขอเจรจากับฝรั่งเศส สยามต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นจำนวนมหาศาลและทำสนธิ สัญญาเจรจาสงบศึกกับฝรั่งเศสในวันที่ 13 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ ศก 112 สยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดให้กับฝรั่งเศสตามสัญญาข้อ 1 นอกจากนี้ยังห้ามสยามมีเรือรบในแม่น้ำโขงเด็ดขาดตามสัญญาข้อ 2 ห้ามสยามมีด่าน คู หรือค่ายทหารบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงทั้งหมดเป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร ตามสัญญาข้อ 3 และข้ออื่นๆ ที่สยามเสียเปรียบฝรั่งเศสเป็นอันมาก แต่สยามก็ต้องยอม
แม้ว่าสยามจะยอมทำตามฝรั่งเศสเพื่อรักษาเอกราชของสยามไว้ ยอมเสียทั้งดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ยอมเสียสิทธิในด้านภาษี การทหาร บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไปอีกด้วย ทั้งยังต้องใช้เงินถุงแดงชำระค่าปฏิกรณ์สงครามมากมายด้วยความยากลำบาก แต่ฝรั่งเศสก็ยังคงยึดเมืองจันทบุรีเอาไว้
การสูญเสียดินแดนในครั้งนั้น จึงเท่ากับไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดไป 143,000 ตารางกิโลเมตร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงเสียพระทัยกับการเสียดินแดนในคราววิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เป็นอย่างยิ่ง ทรงตรอมพระทัย และตั้งพระทัยจะเสด็จสวรรคต ไม่ยอมเสวยพระกระยาหาร ไม่ยอมเสวยพระโอสถ ทรงพระราชนิพนธ์อินทรวิเชียรฉันท์ลงมาลาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารดังนี้
เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ มะนะเรื่อง บำรุงกาย
ส่วนจิตต์บ่มีสบาย ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บละเว้นฤวางวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้ ก็บ่พบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดแลเลยสูญ
ฝรั่งเศสนั้นใช้กำลังทหารบีบบังคับสยาม โดยยึดเอาดินแดนที่เป็นดินแดนหลักของสยามซึ่งคนไทยอาศัยอยู่มากมายและพูดภาษาไทยไว้ในครอบครอง ทั้งยังคุมเชิงในอ่าวไทยด้วย
เราต้องไม่ลืมว่าในทางยุทธศาสตร์และการทหารนั้น เมืองจันทบุรีเป็นหัวเมืองชายทะเลขนาดใหญ่ และมีความสำคัญยิ่ง คราวพระเจ้าตากสินมหาราช ตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกก็ทรงไปตั้งหลักที่เมืองจันทบุรีแล้วค่อยๆ ตีโอบล้อมกลับเข้ามากู้ชาติบ้านเมือง การที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีเอาไว้ทำให้สยามเสียเปรียบและอึดอัดมาก
หลังจากวิกฤติการณ์ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสยังคงยึดเมืองจันทบุรีไว้ไม่ยอมคืน สยามพยายามเจรจาอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งมีการเจรจาลงนามในสัญญาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 (รัตนโกสินทร์ศก 122 หรือ คริสตศักราช 1904) ฝรั่งเศสยอมถอนกำลังทหารออกจากเมืองจันทบุรี
โดยที่สยามต้องปักปันเขตแดนร่วมกับกัมพูชา (หรืออินโดจีน-ฝรั่งเศสในเวลานั้น) ใช้สันปันน้ำบริเวณเทือกเขาบรรทัดตามสัญญาในข้อ 1
สยามยังต้องปักปันเขตแดนร่วมกับฝรั่งเศสทางด้านประเทศลาวในปัจจุบันนี้โดยใช้ร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองตามสัญญาในข้อ 2
โดยมีคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมกันดังสัญญาในข้อ 3
สยามยอมเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงรวมทั้งเมืองหลวงพระบาท คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 25,500 ตร.กม ตามสัญญาร.ศ.122 ข้อ 4
แล้วฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนกำลังทหารออกจากเมืองจันทบุรีตามสัญญาที่ตกลงกันในข้อ 5
สัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.122 นี้เป็นการยกเลิกสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 เดิมตามข้อ 6
สยามเสียเปรียบฝรั่งเศสอีกมากมายในสัญญาร.ศ. 122 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 12 และข้อ 13
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2447 หรือ รัตนโกสินทร์ศก 122 ฝรั่งเศสจึงยอมถอนกำลังทหารออกจากเมืองจันทบุรี แต่กลับไปยึดครองเมืองตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมลิงลงไปจนถึงเกาะกงแทน เท่ากับสยามจำต้องมอบเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตหรือเกาะกงในกับฝรั่งเศสไปอีก
เมืองประจันตคีรีเขตหรือเกาะกงนั้นเป็นดินแดนของสยามและผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะกงนั้นพูดภาษาไทย เป็นเมืองฝาแฝดคู่กับประจวบคีรีขันธ์ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย
เมื่อฝรั่งเศสผิดสัญญาโดยกลับไปยึดเมืองตราดและประจันตคีรีเขตหรือเกาะกงที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากมายก็เป็นเหตุให้สยามต้องพยายามเจรจากับฝรั่งเศสอีกหลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่าเมืองตราดนั้นเป็นเมืองที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากมายแม้จะมีพื้นที่ไม่มากแต่ก็เป็นเมืองที่คนไทยอาศัยอยู่ในขณะที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณนั้น เป็นเมืองประเทศราชที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ทั้งติดกับโตนเลสาปหรือทะเลสาปเขมร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ จับปลาได้มากมาย แต่ก็หาใช่แผ่นดินไทยแท้ๆ ไม่ จึงทรงตัดสินพระทัยยอมเสียดินแดนอีกครั้งเพื่อแลกเมืองตราดอันเป็นแผ่นดินยาวไปตามสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดไปจนถึงบ้านหาดเล็กอันรวมถึงเกาะกูดกลับคืนมาเป็นของไทย
ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 หรือรัตนโกสินทร์ศก 125 หรือคริสตศักราช 1907 จึงได้มีการตกลงทำหนังสือสัญญาขึ้นอีกฉบับหนึ่งเรียกว่าหนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสสิเดนต์แห่งรีปัปลิคฝรั่งเศส"
สยามยอมเสียดินแดนมณฑลบูรพาอันประกอบด้วยพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ตามสัญญาข้อ 1 ในเหตุการณ์ครั้งนั้นฝรั่งเศสได้เจรจาให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อม อภัยวงศ์) ปกครองเมืองพระตะบองต่อไป แต่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์มีความจงรักภักดีต่อสยาม จึงตัดสินใจอพยพกลับมาอาศัยบนแผ่นดินไทยที่เมืองปราจีนบุรี ไม่สมัครใจอยู่เป็นเจ้าเมืองให้กับฝรั่งเศส
สยามกับฝรั่งเศสจะปักปันเขตแดนร่วมกันตามสัญญาในข้อ 4
ส่วนในข้อ 5 นั้นสยามหรือไทย พยายามแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งคนในบังคับของฝรั่งเศสไม่ต้องขึ้นศาลไทยเลย ให้เป็นว่าคนในบังคับของฝรั่งเศสหรือซับเยกของฝรั่งเศสหลัง รัตนโกสินทร์ศก 122 (ค.ศ.1904) ต้องมาขึ้นศาลไทย แต่ไทยต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นสากลเสียก่อน
สัญญาฉบับนี้ฝ่ายสยามมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (ต้นราชสกุลเทวกุล) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสยามในเวลานั้นทรงลงนาม
ดังนั้นเกาะกูด (Koh-Kut) ทั้งเกาะคือดินแดนของไทย ตามสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.125 หรือ ค.ศ.1907 ให้อ่านข้อ 1 และ ข้อ 2 ของสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 125 หรือ คริสตศักราช 1907 มีสัญญาบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของสยามอย่างแน่นอน
สยามยอมเสียเขมรอันเป็นประเทศราชของสยามแต่เดิมไปเกือบค่อนประเทศคือพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ
เพื่อแลกกับการที่สยามจะได้เมืองด่านซ้ายจังหวัดเลย และจังหวัดตราดไปจนถึงสุดชายแดนที่บ้านหาดเล็กและได้เกาะกูดกลับคืนมา แต่มิได้ปัจจันตคีรีเขตหรือเกาะกงกลับคืนมา
ในคราวนั้น ค.ศ.1907-1908 ได้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ได้ทำแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 แสดงดินแดนของไทยที่จังหวัดตราด อันแคบขนานริมทะเลไปตามสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดจนสุดชายแดนที่บ้านหาดเล็กดังรูปในแผนที่นี้ ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาตามข้อ 4
เมื่อคุณลุง ศ.ดร. สมปอง สุจริตกุล ยังมีชีวิตอยู่ได้อธิบายว่าสัญญา รศ. 125 หรือ ค.ศ. 1907 นี้เป็นสัญญาประธาน ดังนั้นบรรดาข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of understanding: MOU) ข้ออ้างอิง (Term of reference: TOR) การสื่อสารร่วม (Joint Communique) หรือ การจัดเตรียมชั่วคราว (Provisional arrangement: PA) ใดๆที่จัดทำขึ้นในภายหลัง ก็ตามย่อมไม่อาจจะขัดแย้งกับสัญญาประธานอันเป็นลายลักษณ์อักษรนี้ได้
ดังนั้นเกาะกูดจึงเป็นดินแดนของไทยทั้งเกาะ กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ขีดเส้นบนแผนที่ลากเฉือนแบ่งเกาะกูดออกเป็นสองฝั่งยึดครองไปเป็นของกัมพูชาและอ้างอธิปไตยของดินแดนไทยเพื่อครอบครองพื้นทีในทะเลอ่าวไทยว่าเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint development area: JDA) หรือ พื้นที่ทับซ้อนใดๆ ก็มิได้ทั้งสิ้น เพราะขัดกับสัญญาประธาน ที่เคยทำไว้กับประเทศไทย
ดินแดนของไทย และบูรณภาพแห่งดินแดนจะสูญเสียไปไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว
นับจากเหตุการณ์คดีพระยอดเมืองขวาง วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 122 และสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 125 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงยอมเสียดินแดนที่เดิมเป็นของไทยคือดินแดนประเทศลาวทั้งประเทศในปัจจุบันและดินแดนกัมพูชาเกือบทั้งประเทศในปัจจุบันให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกมาซึ่งดินแดนของสยามแท้ๆ อันมีคนไทยพูดภาษาไทยอาศัยอยู่
ไม่เป็นคำกล่าวที่เกินจริงแต่ประการใดเลยหากจะกล่าวว่า พระปิยมหาราชเจ้าทรงยอมเสียประเทศลาวและกัมพูชาทั้งประเทศเพื่อแลกกับหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของไทยทั้งหมดจนถึงบ้านหาดเล็กอันเป็นหลักเขตแดนที่ 73 หรือเกาะกูด
พระปิยมหาราชทรงยอมเสียลาวและกัมพูชาสองประเทศไปเพื่อแลกมาซึ่งเกาะกูด เกาะเล็กสุดชายทะเลฝั่งตะวันออกของไทย
พระปิยมหาราชยังต้องทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์อีกมากมายเพราะประชวรหนัก ทรงตรอมพระทัยที่ต้องสูญเสียดินแดนที่บูรพมหากษัตริยราชเจ้าได้ทรงปกปักรักษามาไว้โดยตลอด แต่เพื่อแลกกับเอกราชของชาติไทยก็ต้องทรงยอมโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจเช่นฝรั่งเศส
ความสุขส่วนพระองค์อีกประการที่พระปิยมหาราชต้องทรงเสียสละคือการไม่อาจจะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่เกาะสีชังได้อีกต่อไปหลังเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เพราะฝรั่งเศสยึดเกาะสีชังเอาไว้ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย สาเหตุที่พระปิยมหาราชต้องเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่เกาะสีชังนั้นเพราะในสมัยนั้นเกาะสีชังมีอากาศดีมาก กลางวันและกลางคืนอุณหภูมิต่างกันไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ทำให้ถูกกับพระโรคในพระวรกาย เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่เกาะสีชังจึงมีพระสุขภาพแข็งแรงขึ้น หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หลายปีจึงโปรดให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ในพระจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชัง มาสร้างใหม่ในพระราชวังสวนดุสิตในพุทธศักราช 2443 หรือรัตนโกสินทร์ศก 118 เฉลิมพระนามพระที่นั่งองค์นี้ใหม่ว่าพระที่นั่งวิมานเมฆ อันเป็นพระที่นั่งไม้สักทององค์ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
จะด้วยพระปรีชาญาณใดก็ไม่อาจทราบได้ การได้ดินแดนไทยกลับมาจนถึงบ้านหาดเล็กและเกาะกูดเท่ากับทำให้ไทยได้อธิปไตยทางทะเลกลับคืนมา และในดินแดนอ่าวไทยที่เราได้กลับคืนมานั้นอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติคือน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจนทำให้บริษัทข้ามชาติของชาติมหาอำนาจและนักการเมืองเขมรต้องตาลุกวาว
พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นไม่มีและไม่เคยมี
พื้นที่พัฒนาร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นก็ไม่มีและไม่เคยมี
มีแต่เอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนไทยที่ต้องหวงแหน ปกปัก รักษาไว้
เพราะบรรพชนได้ทรงเสียสละยอมแลกมาอย่างยากลำบาก
กองทัพไทยโดยเฉพาะกองทัพเรือต้องทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยทางทะเลของไทยไว้อย่างเข้มแข็งที่สุด
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!!!!!!!!!!!!!!!!!!
https://mgronline.com/daily/detail/9670000018628
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นพดล' ยันไทยไม่เคยยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา อัด 'วรงค์' คิดเองเออเอง
นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตามที่วันนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
ตรรกะพิลึก! นายกฯอิ๊งค์ ยกตัวอย่างฉันไม่ถอยเธอก็ไม่ถอย 'ไทย-กัมพูชา' ก็ต้องแบ่งประโยชน์กัน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี นำกลุ่มมวลชนคนคลั่ง
กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน
'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน
ทร. เตรียมจัดเสวนาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเล ปม MOU 44 หวังสื่อสารให้สังคมเข้าใจ
พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี เมื่อถามว่า อดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงกรณี MOU 44
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
‘หมอวรงค์’ ขอบคุณคนคลั่งชาติ ร่วมลงชื่อยกเลิก MOU44 ทะลุหลักแสน
หมอวรงค์ ขอบคุณคนคลั่งชาติ ร่วมลงชื่อ ยกเลิก MOU44 เพื่อปกป้องดินแดนทางทะเลเกาะกูด