'รสนา' จับตาปมเกาะกูด ไทยสุ่มเสี่ยงเสียดินแดน-ผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้น

26 ก.พ.2567 - น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า คนไทยได้อะไรถ้าทักษิณ - ฮุนเซนตกลงผลประโยชน์ก๊าซในทะเลได้สำเร็จ !?! ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาลากเส้นอาณาเขตทางทะเลผ่านเกาะกูดซึ่งเป็นของประเทศไทย(ตามสัญญา ไทย-ฝรั่งเศส เฉพาะพื้นที่บนบก ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้แก่ จังหวัดเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ เพื่อแลกกับจันทบุรี ตราด และเกาะกูดมาเป็นของไทย) แต่กัมพูชาตีเส้นเขตแดนผ่านเกาะกูดล้ำเข้ามาในดินแดนไทยโดยไม่มีมีข้อบัญญัติทางกฎหมายทะเลรับรอง ต่อมาในปี 2516 รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ลากเส้นเขตแดนไทยโดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง ตามกฎหมายทะเล

การลากเส้นของกัมพูชา และไทยทำให้เกิดเป็นพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิว่าทับซ้อนกันขนาดใหญ่มากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตรตั้งแต่ปี2516เป็นต้นมา กล่าวกันว่าพื้นที่ ที่มีการอ้างสิทธินั้นเป็นแหล่งที่อุดมด้วยปิโตรเลียมมูลค่าถึง 20 ล้านๆบาทเลยทีเดียว

รัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในปี 2544 หลังชนะการเลือกตั้งก็แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในปี 2544 โดยใช้เวลาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียง 77 วินาทีทั้งที่เคยหาเสียงว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ11 ฉบับ ที่มีพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ (กฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) แต่พอได้เป็นรัฐบาล ก็ใช้กฎหมายดังกล่าวแปรรูป ปตท.ในปีเดียวกันทันที

หลังจากนั้นก็มีการทำ MOU 2544 เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชา เรื่องปิโตรเลียมในพื้นที่ที่อ้างว่าทับซ้อนกัน โดยกำหนดว่าพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเป็นพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตแดน ส่วนพื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาจะมาตกลงแบ่งผลประโยชน์กัน และในMOUก็ระบุว่าทั้งการแบ่งเขตแดน และแบ่งผลประโยชน์จะทำไปพร้อมๆกัน แต่ทั้งทักษิณ และฮุนเซ็นยังตกลงผลประโยชน์ยังไม่ทันจะสำเร็จ รัฐบาลทักษิณก็ถูกรัฐประหารไปเสียก่อนในปี 2549

รัฐบาลทั้งพรรคของทักษิณ และรัฐบาลจากการรัฐประหารหลังจากนั้น มีความพยายามจะเจรจากับกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทางทะเลที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันดังกล่าว แต่ไม่ประสบความสำเร็จตลอดมา

จนเมื่อทักษิณยอมกลับมารับโทษ ในรัฐบาลที่เป็นพรรคของตัวเอง และได้รับการอภัยโทษ จนมาถึงการพักโทษ สิ่งที่ต้องจับตามองคือการมาเยี่ยมทักษิณของสมเด็จฮุนเซ็นทันทีที่นักโทษชายได้รับการพักโทษถึงบ้านพัก เป็นการมาเยี่ยมเยียนกันแบบข้ามหัวรัฐบาลไทย ข้ามหัวนายกรัฐมนตรี และข้ามหัวรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แสดงว่าฮุนเซ็นรู้ดีว่าอำนาจแท้จริงในการเคาะตกลงผลประโยชน์เรื่องก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธ์อยู่ที่ใคร ใช่หรือไม่

แม้แต่สื่อญี่ปุ่น Nikkei (21 ก.พ. 2567)ยังลงข่าวว่า “บุรุษทั้งสองที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลปัจจุบันของทั้งสองประเทศ มีความชัดเจนว่าเป้าประสงค์ของการเยี่ยมเยียนในครั้งนี้คือการช่วยให้การเจรจามีความคืบหน้าเรื่องการต่อรองผลประโยชน์เกี่ยวกับแหล่งก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธิ์ว่าทับซ้อนกัน” (Both men have strong influence on the current governments of both countries. It appears that the aim of this visit is to make progress in negotiations regarding territorial rights over gas fields. ) โดยที่ครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าของรัฐบาลของตัวเองที่มีทายาทเป็นนายกรัฐมนตรี และอีกฝ่ายแม้ทายาทยังไม่ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นหัวหน้าพรรค ที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในอนาคตอันใกล้ ใช่หรือไม่

มาดูกันว่าคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากทรัพยากรในอ่าวไทย ถ้ารัฐบาลไทยที่มีนายทักษิณเป็นเจ้าของ และรัฐบาลกัมพูชาที่มี ฮุนเซ็นเป็นเจ้าของ สามารถตกลงแบ่งผลประโยชน์กันได้ลงต้ว โดยอ้างว่าเขตแดนแผนที่ทางทะเลให้พักเอาไว้ก่อน ขอเอาก๊าซและน้ำมันมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันให้คนไทยก่อน ขอตะโกนถามดังๆว่า

ข้ออ้างอันสวยหรูนั้น แกงกันเล่นหรือเปล่า?

ตั้งแต่ปี 2516 พื้นที่ที่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนดังกล่าวนี้ถูกปล่อยทิ้งไว้ แต่ขอให้ดูแผนที่ที่ดิฉันนำมาให้ดู จะเห็นว่ามีบรรษัทพลังงานข้ามชาติเป็นผู้จับจองสัมปทานไว้เกือบเต็มพื้นที่แล้ว ทั้งเชฟรอน และ BG เครื่องหมายสีแดงที่ขีดไว้ คือบริษัทที่เคยจับจองสัมปทานไว้ โดยรัฐบาลหลังจากปี2516 ไม่ได้ยกเลิกการจับจองสัมปทานเลย ใช่หรือไม่

ดังนั้นการเปิดพื้นที่ทางทะเลมาแสวงหาประโยชน์ทั้งก๊าซและน้ำมัน ร่วมกับกัมพูชาจะตกเป็นผลประโยชน์ของบรรษัทต่างชาติเป็นหลัก ใช่หรือไม่

หรือแม้จะมีส่วนแบ่งให้รัฐบาลไทยบ้างเล็กน้อย ตามระบบแบ่งปันผลผลิต ที่รัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่แท้จริงมาจัดการกับส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่ได้ ก็ต้องอาศัยบริษัทเอกชนนายหน้าช่วยจัดการให้นั้น ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลย่อมตกกับบรรษัทต่างชาติ และบริษัทด้านพลังงานเอกชนเป็นหลัก ใช่หรือไม่

ประชาชนคนไทยจะได้ผลประโยชน์บ้างก็เป็นส่วนน้อยมาก ตราบเท่าที่โครงสร้างราคาพลังงานยังถูกคุมด้วยกลุ่มทุนพลังงานผ่านนักการเมืองที่ต้องตอบสนองต่อกลุ่มทุนที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับพรรคการเมือง ใช่หรือไม่

ประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงการเสียดินแดนและเสียประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้น จากการกระทำของนักการเมืองและกลุ่มทุนพลังงานที่เห็นแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ใช่หรือไม่

ขอให้คนไทยจดจำเรื่องปราสาทเขาพระวิหารที่เริ่มจากการที่รัฐบาลพรรคทักษิณยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหารฝ่ายเดียว แทนที่จะตกลงขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน 2 ประเทศ เพราะฮุนเซ็นต้องการใช้การทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารจากไทยเป็นประเด็นการเมืองเพื่อให้เขาชนะเลือกตั้ง ใช่หรือไม่

จากประเด็นขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร ลามรุกคืบมาจนถึงการฟ้องศาลโลกเพื่อเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปเป็นของกัมพูชา

โดยที่ศาลโลกเมื่อปี2505 ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับเนื้อที่ การวินิจฉัยเฉพาะปราสาทเขาพระวิหารและระบุพร้อมกับพื้นที่ตั้งประสาทเขาพระวิหารแคบๆ (Vicinity) ขนาดความกว้าง 1 เมตรรอบปราสาทเขาพระวิหาร และที่กษัตริย์สีหนุยอมรับกับรัฐบาลไทยตามนั้น

แต่จากการดำเนินการต่อมาของนักการเมืองในพรรคดังกล่าว กลับกลายเป็นไทยต้องเสียดินแดนภูเขาที่ตั้งปราสาทเขาพระวิหาร เนื้อที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กับกัมพูชาเริ่มต้นจากการที่พรรคการเมืองของทักษิณยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ใช่หรือไม่ !!??

ในอดีตจะเห็นว่ากัมพูชาหาทางรุกคืบดินแดนของไทย เริ่มจากการฟ้องเอาปราสาทเขาพระวิหารคืนในปี 2505 พอปี2515 ก็ตีเส้นล้ำเข้ามาในดินแดนทางทะเลของไทยโดยตัดผ่านเกาะกูดของไทยเข้ามา ไทยต้องตีเส้นตามกฎหมายทะเลออกไปในปี 2516 ย่อมเห็นได้ชัดว่านักการเมืองของกัมพูชาให้ความสำคัญกับเรื่องดินแดน จึงหาทางรุกคืบดินแดนไทยตลอดมา ใช่หรือไม่?

เมื่อมีรัฐบาลไทยที่ไม่สนใจเรื่องเขตแดนของประเทศ มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนที่มักอ้างว่าเพื่อประชาชน ประเทศก็สุ่มเสี่ยงในการสูญเสียดินแดน และทรัพยากรที่ประชาชนคนไทยควรได้รับ ใช่หรือไม่

พื้นที่ในทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตรที่ยังไม่แบ่งอาณาเขตให้ชัดเจน คนไทยอาจต้องเสียทั้งอาณาเขตทางทะเล และทรัพยากรในดินแดนไทยรวมถึงเกาะกูดให้กัมพูชาอีกก็เป็นได้ในอนาคต เพราะวิธีการรุกคืบแบบกัมพูชา ใช่หรือไม่

ถ้านักการเมืองไทยอ้างว่าจะไม่เสียเกาะกูดเพราะเจรจาได้ ก็ขอให้คนไทยจำกรณีปราสาทเขาพระวิหารเอาไว้ อีกประการหนึ่ง ต่อให้ไม่เสียเกาะกูดจริงตามน้ำลายของนักการเมืองไทย แล้วทำไมคนไทยต้องยอมเสียทรัพยากรในทะเลที่เป็นดินแดนของไทยใต้พื้นที่เกาะกูดด้วยล่ะ ใช่หรือไม่?

ขอถามแบบชาวบ้านว่า นักการเมืองที่โกงได้แม้กระทั่งการติดคุก โดยมีข้าราชการที่สันหลังอักเสบเปื่อยยุ่ย ยอมค้อมหลังก้มหัวให้ และยอมให้สัมภาษณ์แหกตาคนไทยทั้งประเทศอย่างเป็นทางการเช่นนี้แล้ว จะมีอะไรที่คนเหล่านี้ทำไม่ได้อีกบ้าง ใช่หรือไม่!?

นอกเสียจากคนไทยจะตื่นรู้ ไม่ยอมให้นักการเมืองแบบนี้แหกตากอบโกยอีกต่อไป ใช่หรือไม่ ?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นพดล' หยัน 'หมอวรงค์' ศึกษา MOU 44 ให้ลึกซึ้งค่อยมาโต้กัน ย้ำไทยไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ตอบโต้ว่านายนพดลตอบมั่วๆเรื่องที่ว่าไทยไม่เคยยอมเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา และหมอวรงค์อ้างแผนผังแนบท้ายเอ็มโอยู 44 ว่าเป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา

'จตุพร' ปลอบและปลุก อดทนเฝ้าคอยยังมีอีกหลายยก!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ยอมรับว่า ประเมินสถานการณ์ศาล รธน.รับคำร้องคลาดเคลื่อน แม้ถูกเย้ยหยันหน้าแตก แต่ถัดจากนี้ไปขอให้ประชาชนอดทนเฝ้ารอสถานการณ์

อดีตสว.วันชัย สะใจ! โพสต์สมน้ำหน้า นักร้องถูกตบกระบาลหน้าคว่ำ หมอไม่รับเย็บ

นายวันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สมน้ำหน้า นักร้องถูกตบกระบาลหน้าคว่ำ หมอไม่รับเย็บ....