26 ก.พ. 2567 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ และเพิ่งรู้ผลการเสนอชื่อของส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไปเมื่อไม่กี่วันมานี้
ระบบและวิธีการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐแต่ละมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน แม้ในรายละเอียดจะแตกต่างกัน แต่โดยหลักจะต้องมีการเสนอชื่อ หรือหยั่งเสียงจากประชาคมอันประกอบด้วยบุคลากร 3 สายคือ สายอาจารย์ สายเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยหรือเรียกว่าสายสนับสนุนวิชาการ และสายนักศึกษา และสุดท้ายจะต้องไปจบที่การลงมติโดยสภามหาวิทยาลัยทั้งสิ้น
สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคแรกๆ ของระบบการสรรหา จะมีการเสนอชื่อและหยั่งเสียงโดยประชาคมธรรมศาสตร์ จากนั้นนำเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยเพื่อลงมติ ผลการลงมติของสภามหาวิทยาลัยถือเป็นเด็ดขาด
การหยั่งเสียงก็คือการให้ประชาคมหย่อนบัตรลงคะแนนนั่นเอง แต่แตกต่างจากการเลือกตั้งตรงที่ผลการลงคะแนนยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะสุดท้ายจะต้องนำผลการหยั่งเสียงของแคนดิเดตแต่ละคนเสนอเข้าสภามหาวิทยาลัยเพื่อลงมติว่าจะเลือกแคนดิเดตคนใดเป็นอธิการบดี
แม้การหยั่งเสียงจะไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ผู้ที่หย่อนบัตรลงคะแนนหยั่งเสียงกลับมีความรู้สึก (mind set) ว่าเป็นเสมือนการเลือกตั้ง เมื่อใดที่สภามหาวิทยาลัยลงมติขัดกับผลการหยั่งเสียง ก็จะเกิดความไม่พอใจ กระทั่งเกิดความวุ่นวายตามมา ดังนั้นกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็มักจะฟังเสียงการลงคะแนนหยั่งเสียง และมักจะให้น้ำหนักผลการหยั่งเสียงของกลุ่มอาจารย์มากที่สุด รองลงมาคือสายสนับสนุนผล และสายนักศึกษา ตามลำดับ
เมื่อผลการหยั่งเสียงมีน้ำหนักและมีความหมายต่อการลงมติของสภามหวิทยาลัย ก็จำเป็นที่ผู้ที่เสนอตัวหรือต้องการเป็นแคนดิเดตอธิการบดี หากจะให้ได้ตำแหน่งก็จะต้องสร้างคะแนนนิยม วิธีการสร้างคะแนนนิยมหรือควรจะเรียกว่าวิธีหาเสียง ก็ไม่แตกต่างจากการเมืองในระดับประเทศมากนัก เพียงแต่การเมืองระดับมหาวิทยาลัยยังไม่มีปรากฏชัดเจนว่ามีการซื้อเสียงด้วยเงิน แต่การสร้างพรรคพวกให้เป็นหัวคะแนนเพื่อให้ชักชวนคนมาลงคะแนนให้ เมื่อได้คะแนนมากพอที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าสภามหวิทยาลัย และยังอาจต้องมีการล็อบบี้กรรมการสภามหาวิทยาลัยให้โหวตให้อีกด้วย
เมื่อได้เป็นอธิการบดีแลัว ก็ยังต้องตอบแทนพรรคพวกที่ช่วยสนับสนุนด้วยการให้ตำแหน่งต่างๆ เช่น รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี เหล่านี้เป็นเรื่องที่แคนดิเดตส่วนใหญ่กระทำ คนที่ไม่กระทำก็ยากที่จะฝ่าฟันไปถึงตำแหน่งอธิการบดีได้ ยกเว้นผู้ที่มีบารมีและเป็นที่ยอมรับของทุกคนจริงๆ ซึ่งก็มีน้อยกว่าน้อยในระยะหลัง ดูแล้วก็แทบไม่ต่างจากการเมืองในระดับประเทศเท่าใดนัก
เมื่อต้องมีการหาพรรคพวกเพื่อสนับสนุนเพื่อไปสู่ตำแหน่งอธิการบดี แคนดิเดตแต่ละคนก็ต้องแสวงหาผู้ที่อยู่ในหน่วยงานหรือส่วนงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมาเป็นพวก ทำให้เกิดการแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันในมหาวิทยาลัย พวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามหากคนของตัวไม่ได้เป็นอธิการบดี ก็จะทำตัวเป็นฝ่ายค้านและไม่ค่อยจะเต็มใจช่วยงานมหาวิทยาลัย เพียงทำงานสอนและงานวิจัยให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้นพอ
เมื่อระบบการสรรหาทำให้เกิดแตกแยกแบ่งพรรคแบ่งพวกเช่นนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงพยายามเปลี่ยนแปลงระบบการสรรหาเสียใหม่ เพื่อให้ทั้งประชาคมธรรมศาสตร์เข้าใจตรงกันว่า การสรรหาไม่ใช่การเลือกตั้ง อำนาจเด็ดขาดต้องเป็นของสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสายใดสายหนึ่ง จึงได้เปลี่ยนแปลงการหยั่งเสียงมาเป็นการเสนอชื่อโดยบุคลากรของแต่ละส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย และนักศึกษา ซึ่งข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี มีสาระสำคัญดังนี้
1.มีคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ (หมายถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นคนภายนอก) คนหนึ่งเป็นกรรมการ และอีก 2 คนเป็นกรรมการ กรรมการคนอื่นๆ มีนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงาน นายกองค์การนักศึกษา ตัวแทนคณบดี 2 คน ผู้อำนวยการสำนัก และสถาบัน 1 คน เลือกโดยที่ประชุมคณบดี ตัวแทนอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย 1 คน และที่เป็นข้าราชการ 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
2.กรรมการสรรหาจัดให้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหา และกำหนดให้ส่วนงานจัดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และนักศึกษาเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี
3.กรรมการสรรหาดำเนินการกลั่นกรองและทาบทามผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่เกิน 5 คน และทำการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหา
4.ให้ผู้ตอบรับการสรรหาจัดทำแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อเผยแพร่ และให้แถลงต่อกรรมการสรรหา โดยเปิดให้คนในประชาคมเข้ารับฟังด้วย
5.กรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมเป็นอธิการบดีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไม่เกิน 2 ชื่อ และหากจะเสนอชื่อเดียว กรรมการสรรหาต้องมีมติเป็นเอกฉันท์
6.กรรมการสภาพิจารณาและลงมติให้แคนดิเดตคนใดคนหนึ่งเป็นอธิการบดี
แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหาเพื่อลดความขัดแย้งแตกแยก และแม้ไม่มีการหยั่งเสียงแล้ว แต่ตราบใดที่ต้องให้มีการเสนอชื่อโดยผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานต่างๆในมหาวิทยาลัย ผู้ที่ประสงค์จะเป็นแคนดิเดตอธิการบดีก็ยังต้องพยายามสร้างคะแนนนิยมเพื่อให้ตัวเองได้รับการเสนอชื่ออยู่ดี ในข้อบังคับเปิดโอกาสให้สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาได้โดยไม่ต้องมีใครเสนอชื่อได้ แต่ตลอดมายังไม่เคยมีผู้สมัครคนใดได้รับการพิจารณาจากกรรมการสรรหาเสนอชื่อเข้าสู่สภาเลยแม้แต่คนเดียว
สิ่งที่ผู้ที่ต้องการเป็นแคนดิเดตเกือบทุกคนต้องทำตั้งแต่ไหนแต่ไร จากระบบการสรรหาแบบเดิมมาจนถึงระบบปัจจุบันก็คือ พยายามสนับสนุนคนของตัวให้เข้าไปเป็นกรรมการสรรหา โดยอาศัยช่องทางที่ตำแหน่งกรรมการสรรหาที่ไม่เป็นโดยตำแหน่งแต่มาจากการเลือกตั้งกันเอง เช่น ตัวแทนคณบดี ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักและสถาบัน ตัวแทนอาจารย์ ตัวแทนเจ้าหน้าที่
จะเห็นว่า จะได้เป็นอธิการบดี จะต้องมีพรรคพวก จะต้องวางแผนกันขนาดไหน ต้องลงทุนลงแรงกันขนาดไหน การจะได้เป็นอธิการบดีเพราะตัวเองเป็นคนดี มีความสามารถสูงเหมาะสมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำอะไรมาก เป็นเรื่องเพ้อฝันกระทั่งเป็นไปไม่ได้
การสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล่าสุดก็ไม่มีข้อยกเว้น ยังคงลงทุนลงแรง ต้องต่อสู้กันทุกวิถึทาง เพื่อให้ได้รับการเสนอชื่อ และผ่านการพิจารณาของกรรมการสรรหา และได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่สภา และยังอาจต้องล็อบบี้กรรมการสภาเพื่อให้โหวตให้ตัวเองอีกด้วย
ขณะนี้การเสนอชื่อโดยส่วนงานเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกลั่นกรองและทาบทามของกรรมการสรรหา เพื่อให้เหลือแคนดิเดตไม่เกิน 5 คน จากนั้นแคนดิเดตจะต้องจัดทำแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งกรรมการสรรหาจะต้องกลั่นกรองและคัดเลือกเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไม่เกิน 2 ชื่อ ต่อไป
เรามาคอยติดตามกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิรภพ" รับรางวัล "ศิษย์เก่าผู้ทรงคุณค่าต่อสังคม"เนื่องในวันธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศิษย์เก่าผู้ทรงคุณค่าต่อสังคม” ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปลุกรุมบี้ 'รัฐบาลอิ๊งค์' ส่งศาล รธน. ชี้ขาด 'MOU 44'
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป
'อ.หริรักษ์' สรุปข้อเท็จจริง MOU 44 ที่ทุกคนควรรู้ ทั้งเสียงคัดค้าน-ฝ่ายรัฐบาล
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
'ทักษิณ-พท.' อย่าเพิ่งตีปีก! ชั้น 14 ป.ป.ช. ใกล้งวด คดีครอบงำยิ่งชัด รอ กกต. เคาะ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า หน้าแตกกันไปตามๆ กัน เมื่อได้ทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่รับวินิจฉัยคำร้อง
'เพื่อไทย' ไม่ฟังเสียงต้าน! ดันทุรังเข็น 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
'เจ้าขุน' ส่งเพลงใหม่ 'นักศึกษา' ถ่ายทอด DNA เพลงรักใสๆ
หากใครที่เคยคุ้นกับการครีเอทสไตล์เพลงในแนวดนตรีป๊อบรักใสๆ ในสไตล์หนุ่มขี้เล่นของศิลปินสุดฮอต JAOKHUN หรือ เจ้าขุน-จักรภัทร วรรธนะสิน คงต้องกดไลก์ถูกใจกับซิงเกิ้ลใหม่ “นักศึกษา” อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องราวความรักของหนุ่มเฟรชชี่ที่ดันไปตกหลุมรักสาวสวยในรั่วมหาวิทยาลัย แต่ก็ทำได้เพียงแค่แอบมองและเฝ้ารอคอยวันที่เธอหันมาสนใจ