'สังศิต' เผยแพร่บทความ 'การควบคุมคอร์รัปชัน : บทเรียนจากเยอรมัน' ความแตกต่างกับไทย

21 ก.พ. 2567 - รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่บทความ เรื่อง การควบคุมคอรัปชั่น: บทเรียนจากเยอรมัน มีเนื้อหาดังนี้่

ในภาพรวมเยอรมนีเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นค่อนข้างต่ำ เพราะประชาชนมีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์และมั่นคงในหลักการ รวมถึงกฎหมายเยอรมนีมีการต่อต้านการ คอรัปชั่นที่เข้มงวด กระนั้นก็ดีมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ถูกตรวจพบว่ามีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักคุณธรรมทางการเมืองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ตัวอย่างเช่นนายลุดวิค-โฮลเกอร์ ฟาลซ ( Ludwig-Holger Pfahls) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (2530-2535) ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีรับสินบนกว่า 2 ล้านยูโรจากบริษัทค้าอาวุธที่ไปขายรถถังให้ซาอุดิอาระเบียในช่วงสงครามเปิดเมื่อปี 2534 และการเลี่ยงภาษีโดยการหลบหนีออกจากประเทศเยอรมันเป็นเวลาถึงห้าปีก่อนจะถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมได้ในปี 2548 เขาถูกศาลพิพากษาจำคุกในปี 2548 เป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลจึงลดโทษให้เหลือจำคุกกึ่งหนึ่ง ต่อมาในปี 2554 ในวัยเกือบ 70 ปี เขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปีครึ่ง ฐานสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับการล้มละลาย ส่วนภรรยาของเขาในวัย 68 ปี ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน ด้วย เนื่องจากบัญชีธนาคารของเธอถูกใช้ในการโอนเงินที่เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเยอรมันมีการติดตามจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างจริงจัง แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีมีอิทธิพลและหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ จนกว่าจะมีการนำตัวมาพิพากษาตัดสินคดีและรับโทษจำคุกตามกฏหมาย

ในปี 2555 นายคริสเตียน วาลฟ (Christian Wulff) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ลาออกเนื่องจากถูกดำเนินคดีในข้อหาคอรัปชั่น ฐานรับเงินราว 700 ยูโร (ประมาณ 27,000 บาท) เป็นค่าเข้าพักโรงแรมและอาหารในช่วงเทศกาลเบียร์ (Oktoberfest) อย่างไรก็ดีในปี 2557 ศาลตัดสินให้เขาพ้นผิดในข้อหาคอรัปชัน

ในปี 2564 นายฟรานซิสกา กิฟเฟ (Franziska Giffey) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการครอบครัว ผู้สูงอายุ สตรีและเยาวชนได้ขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบจากการที่ถูกมหาวิทยาลัยถอดถอนปริญญาเอกในประเทศเยอรมนี การลอกเลียนวิทยานิพนธ์ของผู้อื่นถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอย่างร้ายแรง จึงเข้าข่ายเป็นความผิดทางด้านคอรัปชั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีนักการเมืองเยอรมนีมากกว่า 20 คนถูกถอดถอนปริญญาและต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองด้วยเหตุผลจากความไม่ซื่อสัตย์ในการทำวิทยานิพนธ์ อาทิเช่น นายคาร์ล ธีโอดอร์ กุตเตนแบร์ก (Karl Theodor zu Guttenberg) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอลาออกจากตำแหน่งในปี 2554 และนางแอนเนตเต ชาฟาน (Annette Schavan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาออกจากตำแหน่งในปี 2556 ตามลำดับ สำหรับในประเทศเยอรมันแล้วการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดทางด้านอาญาในสายตาประชาชน เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่ซื่อสัตย์ จึงต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง (ข้อมูลจากชิดตะวัน ชนะกุล, “ ยุติ-ธรรมไทย: บทเรียนจากเยอรมนี”, ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ,19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 25567: 7)

ความแตกต่างของการคอรัปชั่นระหว่างเยอรมันกับไทยมีสาเหตุหลายประการ ทั้งจากตัวสถาบันของกฎหมายและสถาบันของสังคม ในแง่การบังคับใช้กฎหมายมีความแตกต่างกันประการหนึ่งคือ ประชาชนชาวเยอรมันมีความเชื่อมั่นต่อการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการคอรัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐสูง ส่วนของประเทศไทยความเชื่อมั่นดังกล่าวค่อนข้างเป็นปัญหา เนื่องจากประชาชนมีความไม่ไว้วางใจในเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางการเมือง ตลอดจนสถาบันในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนกังขาว่ามักจะมีการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน กล่าวคือต่อผู้มีอำนาจและมีอิทธิพลมีมาตรฐานหนึ่ง และสำหรับประชาชนทั่วไปเป็นอีกมาตรฐานหนึ่ง

ประการที่สอง ในประเทศเยอรมัน ความผิดด้านจริยธรรมของนักการเมืองถือเป็นการคอรัปชั่น ส่วนของไทยความผิดด้านจริยธรรม ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของความผิด เพราะสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและนักการเมืองที่มีความผิดด้านจริยธรรมอาจจะมีความผิด หรือไม่มีความผิดทางด้านกฎหมายก็ได้ เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของการเมืองและการต่อรองทางการเมือง

ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ สำหรับนักการเมืองที่กระทำความผิดในข้อหาคอรัปชั่นในประเทศเยอรมัน จะถูกประชาชนชาวเยอรมันลงโทษด้วยมาตรการทางสังคม (Social Sanction) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะทำให้นักการเมืองที่ถูกลงโทษว่ามีความผิดจากการคอรัปชั่นไม่มีพื้นที่ๆ จะยืนอยู่ในสังคมเยอรมันได้อีกตลอดไป นามสกุลของเขาจะถูกสังคมปฏิเสธ คนในครอบครัวทุกคนพลอยได้รับการลงโทษจากสังคมตามไปด้วย ส่วนในสังคมไทยผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษว่ากระทำความผิดจากข้อหาการทุจริต ไม่ใคร่ถูกสังคมลงโทษ และยังมีที่ยืนอยู่ในสังคมได้ เมื่อพ้นระยะเวลาจากการลงโทษทางกฎหมายแล้วสามารถกลับเข้าสู่การเมืองได้อีกวาระหนึ่ง ในขณะที่ในประเทศเยอรมัน นักการเมืองประเภทนี้ รวมถึงลูกหลานของเขาจะไม่มีโอกาสเช่นว่านี้ตลอดไป

สาเหตุที่คนเยอรมันลงโทษนักการเมืองที่คอรัปชั่นได้อย่างรุนแรงและทั่วทั้งสังคมได้นั้น น่าจะมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ของคนในสังคมเยอรมันเอง ทั้งที่มาจากสถาบันของครอบครัว และสถาบันการศึกษาในทุกระดับที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของหน้าที่ความเป็นพลเมืองของคนเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ คนเยอรมันทุกคนจึงกลายเป็นอาวุธที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเป็นปกติวิสัย (Habitat) และอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนเยอรมันไปแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เนเน่' ค้านสส.กก.เสนอกฎหมายห้ามBullyตีบุตรหลาน แนะให้ความรู้ผู้ปกครองดีกว่า

เนเน่ รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

'เยอรมนี'ส่งตัวสำรองลงแน่ แต่ยังดีพอที่จะเฉือน'สวิส' คืนนี้ตีสอง

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป "ยูโร 2024" เดินทางมาถึงนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน เป็นการแข่งขันของทีมในกลุ่ม เอ คู่ที่น่าสนใจเป็นแชมป์แย่งแชมป์กลุ่ม ระหว่าง สวิตเซอร์แลนด์ พบ เจ้าภาพเยอรมนี แข่งขันในเวลา 02.00น. (เช้าตรู่วันที่ 24 มิ.ย.) ช่องพีพีทีวี เอชดี หมายเลข 36

นาทีแห่งความสุข 'เอ อนันต์' ได้เจอน้องสาวแท้ๆ ครั้งแรกในชีวิต!

ต้องยินดีกับนักแสดงหนุ่มรุ่นเก๋า เอ-อนันต์ บุนนาค จริงๆ เพราะล่าสุดเจ้าตัวได้พบกับน้องสาวแท้ๆที่เยอรมันแล้ว โดย อ้น-ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์ หวานใจของเอ อนันต์ ได้โพสต์ภาพน่ารักๆของพี่น้องที่ได้เจอกันครั้งแรกพร้อมแคปชั่นภาษาอังกฤษที่แปลได้ว่า