‘ณัฐวุฒิ’ มองการเมืองปี 65 ฟันธง ‘3 ป.’ ยื้ออยู่ครบวาระ แนวโน้ม ‘ยุบสภา’ ต้องประเมินครึ่งหลังของปี มั่นใจเลือกตั้งใหญ่ ‘เพื่อไทย’ เต็งหนึ่ง ติดปัญหา 250 ส.ว. สืบทอดอำนาจ ‘ประยุทธ์’
27 ธ.ค. 2564 – นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเครือข่ายไล่ประยุทธ์ (อ.ห.ต.) กล่าวในรายการ “หัวใจไม่หยุดเต้น” EP.51 : 2565 เดินหน้าสู่เส้นชัยของประชาชน เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กว่า
หนึ่งปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ในสภาพล้มเหลว ล้าหลัง และพังพินาศ รัฐบาลไม่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหารับมือกับวิกฤตทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 9.46 ล้านล้านบาท และแนวโน้มจะกู้เพิ่มตลอดเวลาตามเพดานเงินกู้ที่ขยายตัวไป โควิด19 เป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลอาศัยเพียงเงื่อนไขของเวลาที่ผ่านเลยเยียวยาแก้ไขสถานการณ์ เกิดความสูญเสียเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ประเทศไทยถูกมองด้วยสายตาประชาคมโลก กลายเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดสำคัญในระดับภูมิภาค ตลอดเวลาตั้งแต่รัฐบาลนี้ผ่านการเลือกตั้ง มียาเสพติดถูกจับได้ว่าถูกส่งออกจากประเทศไทยมูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่าส่วนที่หลุดรอดการจับกุมแล้วก็แพร่กระจายเป็นยาเสพติดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเกินกว่า 1 แสนล้านบาท ใช่หรือไม่?
สภาพปัญหาเหล่านี้เกินกว่าขีดความสามารถของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นและสิ้นหวัง แน่นอนว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง แต่ความขัดแย้งทางการเมือง สภาพการเมืองที่เป็นปัญหาเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการที่จะพาสังคมไทยเดินหน้าไปต่อสู้กับวิกฤตอื่นๆ รอบด้าน
โจทย์ข้อใหญ่ของคณะผู้มีอำนาจปัจจุบันคือรักษาเสถียรภาพและผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นฐานค้ำยันให้กับเครือข่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมในสังคมไทย ปัญหาของประชาชนกลายเป็นเรื่องรอง พัฒนาการทางการเมือง พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไม่อยู่ในสมการของอำนาจ
ถ้าสภาพการเมืองยังเป็นแบบนี้ อำนาจอิทธิพลนอกระบบทั้งหลายยังพร้อมใจกันอุ้มสมนายทหาร 3 ป. ให้อยู่ในอำนาจเช่นนี้ ไม่มีพื้นที่ของประชาชนให้รอดพ้นจากวิกฤตเลยครับ
สภาพการเมืองในปีหน้า ความขัดแย้งในสังคมไทยยังคงดำรงอยู่ ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวก็ยังคงเดินหน้าตามวาระของตัวเอง เพียงแต่การชุมนุมขนาดใหญ่ การเคลื่อนไหวอย่างเป็นกระแสสูงอาจจะไม่เกิดขึ้นง่ายดายนัก เพราะยุทธวิธีของรัฐบาลคงจะใช้เงื่อนไขเวลาที่ขยับเข้าใกล้การครบวาระขึ้นทุกที ย้อมใจผู้คนในสังคมว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กำลังจะมีการเลือกตั้ง ไม่น่าจะต้องมีการชุมนุมเดินขบวน
ขึ้นปี 2565 ครึ่งปีแรกบรรยากาศจะเต็มไปด้วยการเลือกตั้ง “มกราคม” มีการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา “กุมภาพันธ์” เลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ แล้วก็เป็นไปได้สูงว่ากลางปีจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.ทั่วกรุงเทพฯ ล่วงเข้าครึ่งปีหลัง อายุของรัฐบาลจะเหลือเพียงไม่กี่เดือน กระแสการชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่บนท้องถนนก็อาจจะปลุกขึ้นมาได้ยากขึ้น
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของฝ่ายประชาชนในปีหน้าคือ ยังไม่มีใครรู้ว่าหลังจากหยุดปีใหม่กลับมา “โอมิครอน” จะแผลงฤทธิ์เดชไปได้ขนาดไหน ถ้าผู้ติดเชื้อกลับมาเป็นหลักหมื่นในแต่ละวัน นั่นก็จะเป็นอีกอุปสรรคสำคัญสำหรับการแสดงพลังขนาดใหญ่ของประชาชน
แต่นี่ไม่ใช่สัญญาณความถดถอยของฝ่ายประชาธิปไตย เพราะหลายคนเห็นตรงกันว่านี่คือการวิ่งมาราธอน ซึ่งต้องอาศัยความอดทน มุ่งมุ่น และพละกำลังที่สม่ำเสมอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนโดยเร็ว ก็คือขบวนคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นขบวนนำในการต่อสู้ ณ วาระนี้ น่าจะได้มีการสรุปถอดบทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมา
เพราะถ้ามองย้อนกลับไปในปี 2563 การต่อสู้ของคนหนุ่มสาวกลายเป็นกระแสสูง ฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมเปิดตำราตั้งรับไม่ทัน แต่ตลอดปี 2564 สถานการณ์ย้ายกลับข้าง คนหนุ่มคนสาวในขบวนการต่อสู้ถูกกระทำต่างกรรมต่างวาระมากขึ้น หลายคนยังคงถูกจำขังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อีกหลายคนเต็มไปด้วยคดีความคนละหลายสิบคดี การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ การใช้ยุทโธปกรณ์ การใช้ปืนกระสุนยางกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้คนรับได้บนท้องถนน
นี่คือการสู้กลับของฝ่ายผู้มีอำนาจ ซึ่งขบวนการหนุ่มสาวจะต้องทำความเข้าใจและสรุปกำหนดยุทธวิธีที่สอดคล้อง เกิดประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยรัดกุมในการเดินไปข้างหน้าตลอดปี 2565
ผมยืนยันคำเดิม เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้กับคนหนุ่มคนสาวเสมอ และเชื่อว่าชัยชนะจะเป็นของพวกเขาและประชาชนในที่สุด เพียงแต่กว่าจะถึงเส้นชัยต้องทำความเข้าใจในเส้นทาง
แม้บรรยากาศการเลือกตั้งจะเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี แต่การเลือกตั้งใหญ่ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมาถึงได้ง่ายๆ ในหัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวก ต้องการอยู่ 4 ปีเต็ม ครบวาระของรัฐบาลนี้ อุบัติเหตุทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายใน ผมไม่คิดว่าจะนำไปสู่เงื่อนไขการล้มรัฐบาลได้ เพราะคนพวกนี้สมประโยชน์ทางอำนาจกันมาโดยตลอด และถือเอาผลประโยชน์ของกลุ่มพวกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการรักษาอำนาจ การกระทบกระทั่งระหองระแหงภายในจะมีให้เห็นไปตลอดทาง แต่ไม่น่าจะนำไปสู่การแตกหักได้
ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภา ทั้งความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การหักล้างกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล หรือกระทั่งสภาล่ม ที่เกิดให้เห็นบ่อยครั้งก่อนสิ้นปี ก็ไม่น่าจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะผู้มีอำนาจเหล่านี้ไม่ได้โตขึ้นมาด้วยสำนึกทางการเมืองในระบบ คนพวกนี้ไม่เคยให้ค่ากับการเมืองในระบบรัฐสภา คนพวกนี้เชื่อมั่นเพียงการใช้กำลังยึดอำนาจและหน้าด้านใช้ทุกวิธีการเพื่อรักษาอำนาจเท่านั้น สภาล่มกี่ครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้สึกรู้สาหรอกครับ เพราะความล้มเหลวของระบบรัฐสภาคือความแข็งแรงของอำนาจนอกระบบซึ่งเป็นที่มาของพวกเขา
ผมคิดว่าถ้าจะมีการยุบสภาก่อนครบวาระน่าจะอยู่ในสถานการณ์เดียว คือรัฐบาลประเมินแล้วว่าอยู่ในช่วงเวลาได้เปรียบที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง นั่นหมายถึงเราต้องเห็นสัญญาณการใช้งบประมาณโปรยแจกหว่านไปทั่วประเทศ ข้อสังเกตง่ายๆ เช่น โครงการคนละครึ่งของรัฐบาลจะเริ่มต้นรอบที่ 4 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ดังนั้นหากจะมีการยุบสภาก่อนครบวาระ คงต้องมองกันที่ครึ่งหลังของปีหน้าเป็นอย่างเร็ว
หากมีการเลือกตั้งใหญ่ ถ้าถามว่าใครจะได้เป็นอันดับหนึ่ง “พรรคเพื่อไทย” เป็นต่อเห็นๆ แต่ถ้าถามว่าใครคือเต็งหนึ่งนายกรัฐมนตรี ชั่วโมงนี้ต้องบอกว่า 250 ส.ว. เขารอยกมือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิม
การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการต่อสู้แข่งขันที่เข้มข้นและแหลมคม ทั้งระหว่างฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตย รวมถึงในแต่ละฝ่ายด้วยกันเอง น่าสนใจว่าประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร?
เรื่องการยุบพรรค แม้จะถูกมองเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายอำนาจในการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด แต่จากประสบการณ์ตรงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมากรณียุบพรรคไทยรักษาชาติก็จะพบว่า หากยุบพรรคหนึ่งคะแนนอาจจะไหลไปอีกพรรคในฝ่ายเดียวกัน ถ้า “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” เป็นพรรคเป้าหมายที่ถูกมองว่าอาจจะถูกยุบหรือไม่?
คำถามก็คือถ้ายุบเพื่อไทย ก้าวไกลก็จะโตขึ้น ยุบก้าวไกล เพื่อไทยก็จะแข็งแรงขึ้น หรือเปล่า? หรือถ้ายุบทั้งสองพรรค ก็ต้องพิจารณาดูว่าพรรคการเมืองระดับนี้ ในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ ทุกพรรคย่อมมีเกมสำรองของตัวเองเอาไว้เสมอ พรรคไหนก็ตามถูกฝ่ายผู้มีอำนาจยุบในปัจจุบันจะไม่สูญเสียอะไรเลย นอกจากสูญเสียคณะกรรมการบริหาร เพราะฐานคะแนนนิยมยังอยู่ ดีไม่ดีจะเพิ่มฟูขึ้นอีกด้วยซ้ำ
ส่วนถ้าจะเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเหมือนกรณี “ไทยรักษาชาติ” ผมก็เห็นว่าไม่ง่ายนัก เพราะกรณีดังกล่าวมีสถานการณ์พิเศษทำให้นับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันพิพากษาใช้เวลาเพียงเดือนเดียว แต่ในกรณีทั่วๆ ไปการยุบพรรคจะมีขั้นตอน จะมีเงื่อนไขของเวลา ตั้งแต่ กกต. จนถึงศาลรัฐธรรมนูญ และการไต่สวนจนนัดวันฟังคำพิพากษา ซึ่งพรรคการเมืองใดก็ตามอยู่ในห้วงเวลาแบบนี้พวกเขาเตรียมรับมือเผชิญสถานการณ์เอาไว้ก่อนอยู่แล้ว
ส่วนตัวจึงเห็นว่าการยุบพรรคไม่น่าจะใช่เครื่องมือหลักของฝ่ายผู้มีอำนาจอีกต่อไป เป็นไปได้นะครับที่ปีหน้าทั้งปีรัฐบาลนี้อาจจะยังอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดูดี ๆ นะครับ ไปเที่ยวแจกกล้วย ส.ส. มาก ๆ ในสภา เดินไปเจอหน้าชาวบ้านเขาจะให้กล้วยเอาเหมือนกัน!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ไพบูลย์' เบรกหัวทิ่มมือกฎหมายเพื่อไทย คลอดประชามติ 2 ครั้ง
“ไพบูลย์” โต้ ”ชูศักดิ์“ ใช้คำวินิจฉัยส่วนตน 6 ตุลาการอ้างทําประชามติ 2 ครั้งไม่ได้ บอก ต้องยึดคําวิฉัยกลาง ชี้มีแค่แก้รายมาตราเท่านั้นไม่ต้องทำ
ตัวจริงเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ลั่นอันตราย MOU44 ไทยไม่ยกเลิก ติดกับดักบันได 3 ขั้นกัมพูชา
ตอนนี้เราเข้าไปอยู่ในกับดักขั้นที่สองแล้ว คือมี MOU ไว้แล้ว ก็อย่างที่ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องทำอันแรก ก็คือหนึ่งยกเลิก MOU44 สอง คือในทุกกรณี เราต้องไม่เข้าไปสู่บันไดขั้นที่สอง
ชัดเจน! พท.โยนขี้พ้นตัว แก้รธน.ไม่ทันไม่ใช่ความรับผิดชอบพรรค
“เพื่อไทย" ชงกมธ.ร่วมลดเกณฑ์ประชามติ อ้าง ถ้าแก้รธน.ไม่ทัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพรรค ชิ่งห้ามความคิดใครไม่ได้
คนไทยไม่ได้โง่! อดีตสว.สมชาย จี้รัฐบาลชงยกเลิก MOU2544 เข้าสภาเห็นชอบ
อดีตสว.เสนอ รัฐบาล นำเรื่องยกเลิก MOU2544 เข้าสู่รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา178 โดยเร็ว
เพื่อไทย เผยแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อดีตคนธปท.ต้านแทรกแซง
แรงต้านแทรกแซงแบงก์ชาติขยายวง อดีตพนักงาน ธปท.อีก 416 คน ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ยกจรรยาบรรณประธานบอร์ดห้ามเอี่ยวการเมือง เรียกร้องคณะกรรมการสรรหาฯ