ปธ.ญาติวีรชนฯ ยื่น 'วันนอร์' เร่งดันพรบ.นิรโทษกรรม จี้กมธ.ทำให้เร็วที่สุดอย่ายื้อเวลา

คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 ร้องปธ.สภาฯ เร่งผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยด่วน แนะควรหยิบร่างของ สปช. เข้าพิจารณาทันที ชี้หากสภาฯหาทางออกไม่ได้ เล็งขอรัฐบาลออกเป็น พ.ร.ก. ด้าน "อดุลย์" บอกถึงเวลาปรองดองแล้ว เชื่อการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสวยงามที่สังคมควรจะได้รับ

13 ก.พ. 2567 - ที่รัฐสภา คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา'35 นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนฯ เดินทางเข้าพบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นหนังสือผลักดันการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม

โดยมีข้อเรียกร้องของคณะกรรมการญาติวีรชนฯ ระบุว่า ด้วยสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นกฎหมาย คณะกรรมการญาติวีรชนฯ เห็นด้วยในหลักการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จนถึงปัจจุบัน

และมีความเห็นดังนี้ 1. คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ร่วมกันผลักดัน ให้มีการนิรโทษกรรม ให้สังคมไทยเกิดความปรองดองสมานฉันท์ และความรักสามัคคีแก่ประชาชนทุกภาคส่วน

2. คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมไว้ครอบคลุมทุกมิติและตกผลึกแล้ว ซึ่งที่ประชุม สปช. ได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบอย่างเอกฉันท์เช่นกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องศึกษาให้เสียเวลาอีก สามารถนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีอยู่แล้ว เข้าพิจารณาได้เลย

3. หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังหาข้อยุติการนิรโทษกรรมไม่ได้ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ มีความจำเป็นต้องเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นิรโทษกรรมต่อไป

ด้านนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นตัวแทนรับหนังสือ กล่าวว่า คณะกรรมการญาติวีรชนฯ ได้ไปพูดคุยด้วยวาจากับประธานสภาฯ แล้ว ส่วนตัวเห็นด้วยกับการร้องเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาอย่างเร่งด่วน บุคคลที่ถูกจำคุกเป็นเวลานานมาแล้ว การจะขอให้นิรโทษกรรม ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโดยหลักปรัชญาของกฎหมาย การจับกุมไม่ใช่เป็นการแก้แค้นหรือล้างแค้น เพียงแต่ต้องการให้มีความรู้สึกสำนึกในสิ่งที่กระทำ ตนเองได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้มาก่อนในช่วงที่เป็น สส. บุคคลเหล่านี้ตนรู้จักดี ว่าไม่ได้มีจิตใจที่โหดร้าย หรือเป็นอาชญากร แต่เป็นเพียงนักอุดมการณ์ที่ต้องการเห็นความถูกต้องตามที่เขาเชื่อมั่น ดังนั้น การนิรโทษกรรมให้เร็วที่สุด เห็นว่าสมควรอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการญาติวีรชนฯ เป็นห่วงว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาถึง 2 เดือน ทั้งที่ข้อมูลมีอยู่แล้ว และทำให้เกิดความรู้สึกล่าช้า เสมือนยื้อเวลา ซึ่งคนที่ติดคุก แม้วินาทีเดียวก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้น อาจจะเห็นชอบในการให้นิรโทษกรรม ควรทำให้เร็วที่สุด แต่ว่าตั้งคณะกรรมาธิการมาแล้ว ควรหาทางย่นระยะเวลาให้น้อยกว่า 60 วัน เช่น นัดประชุมกันให้อย่างน้อยมากกว่าสัปดาห์ละครั้ง

นายอดุลย์ กล่าวว่า ทราบมาว่า สส.ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความคิดจะขัดขวางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ จึงขอบพระคุณ สส. ทุกคนที่มีเจตนาดี และทำให้ทุกอย่างน่าจะจบลงได้ภายใต้สภาฯ ชุดนี้โดยด่วน และเห็นด้วยกับที่ประธานสภาฯ ได้กล่าวถึงการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสวยงามที่สังคมควรจะได้รับ หวังว่าสังคมไทยที่แต่ละฝ่ายมีอุดมการณ์ยอมต่อสู้จนถึงขั้นติดคุก ถึงเวลาที่ควรปรองดองกันได้แล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม' เสี่ยงโมฆะ! ขืนรวมความผิด 'ม.112-110'

'คารม' เตือน 'พ.ร.บ.นิรโทษกรรม' เสี่ยงโมฆะ ขืนรวมความผิด 'ม.112-110' ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ยิ่งเพิ่มขัดแย้ง แนะผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตัวเอง

จ่อชงสภาฯ นิรโทษกรรมเหตุจูงใจทางการเมือง 'ก้าวไกล' พ่วง 112 แบบมีเงื่อนไข

ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อม

ขนลุกซู่! 'สามนิ้ว' บุกสภาฯ ร้องกมธ.นิรโทษฯ รวมคดี ม.112 ขู่ไปคุยบนถนน

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

'สุระ' กระตุกสำนึก ล้างไพ่เลือกสว.อย่าหวังแค่ช่วงชิงทางการเมือง

“สุระ” วอน  ฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย รื้อ กติกาเลือกสว.67 ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่แค่หวังช่วงชิงทางการเมืองเท่านั้น แนะ การแก้รธน. นิรโทษกรรม แก้กฎหมายต่างๆ ยึดโมเดลเดียวกัน หวังเห็น กฎหมายสากล เป็นที่ยอมรับทุกภาคส่วน