กสม. ชี้ กรณีผู้ต้องขังร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม
เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอให้สอบสวนและเยียวยาความเสียหาย
26 ม.ค. 2567 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับหนังสือจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 รายงานผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางได้รับตัวผู้ต้องขังตามหมายขังศาลอาญารายหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และอาวุธปืน โดยเมื่อทัณฑสถานฯ ตรวจร่างกายผู้ร้องแล้วพบว่า มีร่องรอยบาดแผลบริเวณโหนกแก้มและเท้าซ้าย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 4 (ผู้ถูกร้อง) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในพื้นที่ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และผู้ต้องขัง (ผู้ร้อง) ประสงค์ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงแจ้งมายัง กสม.
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตและร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 29 บัญญัติว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ อันสอดคล้องตามหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสาม กำหนดให้ กรณีที่บุคคลซึ่งจะถูกจับหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์
สำหรับหลักการจับกุมตามมาตรฐานสากลนั้น ประมวลหลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (OHCHR Code of Conduct for Law Enforcement Officials) วางหลักการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไว้ว่า ต้องเคารพและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในการใช้กำลังจะกระทำได้เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ข้อกำหนดฉบับนี้ยังเน้นว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องไม่เกินกว่าเหตุหรือต้องได้สัดส่วน ด้วยเหตุผลเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันอาชญากรรม หรือจับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัย และไม่ควรใช้อาวุธปืน ยกเว้นผู้ต้องสงสัยใช้อาวุธเพื่อขัดขืนการจับกุม หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตผู้อื่นและมาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่าไม่เพียงพอจะยับยั้งหรือจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (OHCHR Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement officials) ที่วางแนวทางไว้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องไม่ใช้อาวุธปืนเว้นแต่เพื่อป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นให้พ้นจากอันตรายร้ายแรงที่ใกล้จะมาถึง เพื่อจับกุมบุคคลที่กำลังจะก่ออันตรายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ หรือเพื่อป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวหลบหนี และเจ้าหน้าที่ต้องแสดงตนและแจ้งเตือนให้ผู้ที่จะถูกใช้อาวุธปืนทราบก่อนว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนโดยเว้นระยะเวลาอย่างเพียงพอให้ตระหนักรู้
จากการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ร้องกับเพื่อนเป็นผู้ต้องสงสัยลักลอบจำหน่ายยาเสพติด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดติดตามและขอตรวจค้นจับกุม แต่ผู้ร้องกับเพื่อนใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะหลบหนีจนเกิดอุบัติเหตุ เมื่อไม่สามารถหลบหนีต่อไปได้ก็ยังไม่ยินยอมให้จับกุมโดยดี จึงปรากฏพยานหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิงสกัดการเคลื่อนที่ของรถยนต์ที่ผู้ร้องโดยสาร เมื่อรถดังกล่าวหยุดนิ่งได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแจ้งผู้ร้องกับเพื่อนด้วยวาจาว่าให้ลงจากรถหลายครั้ง รวมทั้งใช้อุปกรณ์ทางยุทธวิธีทุบกระจกรถยนต์คันดังกล่าว กระทั่งผู้ร้องกับเพื่อนยินยอมให้จับกุม ในชั้นนี้เห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ถูกร้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้กำลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ได้วางแนวทางการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อพฤติการณ์ผู้ต้องสงสัย หรือผู้กระทำความผิดในระดับต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพยานบุคคล ได้แก่ เพื่อนผู้ร้องและบุคคลซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อเท็จจริงตรงกันว่า หลังจากผู้ร้องลงจากรถยนต์กระบะแล้ว เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเตะไปที่ใบหน้าของผู้ร้อง 1 ครั้ง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้รับแจ้งจากพี่สาวผู้ร้องที่ระบุว่า ในคืนเกิดเหตุ ผู้ร้องได้แอบกระซิบบอกมารดาว่า ถูกเตะเข้าที่ใบหน้า 1 ครั้ง แม้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง และสำเนาเอกสารเวชระเบียนของโรงพยาบาลราชบุรีที่ระบุว่า บาดแผลที่ใบหน้าผู้ร้องเกิดจากอุบัติเหตุรถชน แต่เป็นการให้ข้อมูลของผู้ร้องที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมดูแลของผู้ถูกร้อง และน่าเชื่อว่าผู้ร้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถให้ข้อมูลต่อบุคคลอื่นได้อย่างอิสระ ข้อเท็จจริงจากพยานที่อยู่ในเหตุการณ์จึงมีน้ำหนักมากกว่า จึงรับฟังได้ว่า บาดแผลบริเวณใบหน้าของผู้ร้องเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังที่เกินสมควรแก่เหตุระหว่างการจับกุม อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ใช้รายงานฉบับนี้ประกอบการพิจารณาตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ร้อง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 หากพบว่าการบาดเจ็บของผู้ร้องเกิดจากการใช้กำลังเกินสมควรกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ให้ ตร. พิจารณาเยียวยาความเสียหายแก่บุคคลดังกล่าวตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม.ชงนายกฯทบทวนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในเขตอุทยานฯหวั่นกระทบสิทธิปชช.
กสม. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง
กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี
กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่