'หมอยง' ไล่เรียงเรื่องวิวัฒนาการโควิด19 และต้นตอการตั้งชื่อ

24 ม.ค.2567 - ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด 19 วิวัฒนาการของไวรัสก่อโรคโควิด-19 และการตั้งชื่อ” ระบุว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส corona ปลายปีพ.ศ 2562 ต่อมาตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า SARS Corona Virus 2 (SARS-CoV- 2) ในระยะแรกมี 2 สายพันธุ์ เราเรียกว่าสายพันธุ์ L และ S (คือ NS8/L84S L = leucine, S = Serine) ตำแหน่งที่ 84 บนยีนส์ NS8 ใน ORF1a มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมจาก L เป็น S สายพันธุ์ที่เริ่มระบาดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ S สายพันธุ์ L ไประบาดมากในยุโรปและต่อมามีการกลายพันธุ์ บน spike gene ในตำแหน่งที่ 614 (D614G) เกิดเป็นสายพันธุ์ G ติดง่ายแพร่กระจาเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม

ในอดีตที่ผ่านมาการกลายพันธุ์ มีการเฝ้าระวังมากที่สุด คือ ไข้หวัดใหญ่ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ สร้างฐานข้อมูลสาธารณะ GISAID (Global Initiative on Sharing All Influenza Data) โดยเริ่มต้นเป็นการแบ่งปันข้อมูลทางด้านไข้หวัดนกก่อน (the Global Initiative on Sharing Avian Influenza Data) และเมื่อมาถึงยุคของโควิด 19 ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นศูนย์กลางการแบ่งปันข้อมูลไวรัสก่อโรคโควิด 19

ปัจจุบันมีการบรรจุข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของไวรัส โควิด 19 มากกว่า 16 ล้านตัว และบางส่วนอีกเป็นจำนวนมาก การแบ่งสายพันธุ์ที่มีการแปรเปลี่ยน ถูกกำหนดขึ้น ใช้ชื่อว่าแบ่งแบบ pangolin (ตัวนิ่ม ลิ่น ที่สงสัยต้นตอไวรัส) โดยใช้อักษร ABC นำ แล้วจุดต่อเช่น A.1…, A.1.1. , A1.1.1 ตัวเลขเพิ่มได้ เมื่อครบ 3 ตำแหน่ง ก็จะเป็นอักษร B จนถึงZ และเมื่อครบแล้วก็จะเป็น AA…ZZ ถ้ามีการผสมข้ามสายพันธุ์ (recombination) ก็จะขึ้นตัวอักษรเป็น X แล้วตามด้วย A.. B.. เช่น XA, XB.. XBB.1.16

การกำหนดดังกล่าวเป็นการยากที่จะเข้าใจสำหรับประชาชนทั่วไป องค์การอนามัยโลก จึงแบ่งกลุ่ม แล้วใช้อักษรกรีก มาเป็นตัวกำหนด เป็น alpha, beta, gamma, .. omicron

เมื่อมาถึงยุค omicron การกลายพันธุ์เกิดขึ้นจำนวนมาก จะเห็นว่าตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.2.86..BA.5 EG.1.5, HK.3 XBB.1.5, XBB.1.16, JN.1 มีกลุ่มย่อยมากมายจนยากจะเข้าใจหรือจดจำ

Ryan Gregary นักวิวัฒนาการชาวแคนาดา ตั้งชื่อเล่น (nickname) โดยใช้ชื่อเทพนิยายของกรีก สัตว์ในเทพนิยายต่างๆ แม้กระทั่งดวงดาวมากกว่า 20 ชื่อ แทนการเรียกตาม pangolin เช่น BA.2.75 เป็น Centaurus XBB.1.15 เป็น Kracken (ปลาหมึกยักษ์) KBB .1.16 คือ Arcturus (ดาวดวงแก้ว) BA.2.86 ตั้งชื่อว่า Pilora (ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เพื่อให้จดจำได้ง่าย ขณะนี้ JN.1 ที่กำลังระบาดมากทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ยังไม่ได้มีการตั้งชื่อเล่น (ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดในบ้านเรา เราน่าจะตั้งชื่อ พระอภัยมณี หรือขุนแผน และต่อมาลูกของสายพันธุ์นี้ จะได้ตั้งชื่อว่าเป็นสุดสาคร หรือพลายงาม ถ้าเราตั้งชื่อ ไม่รู้จะมีใครมาเรียกชื่อนี้ กับเราหรือไม่)

การระบาดในไทย ระลอกแรก ในปีพ.ศ 2563 เป็นสายพันธุ์ S ต่อมาระบาดในระลอกที่ 2 ปลายปี 2563 ที่ตลาดกลางกุ้ง สายพันธุ์ระบาดเป็นสายพันธุ์ G (D614G) ในปีต่อมา 2564 การระบาดเกิดขึ้นที่สถานบันเทิงที่ทองหล่อ เป็นสายพันธุ์ alpha และระลอกที่ 4 กลางปี 2564 เป็นสายพันธุ์ delta ส่วนสายพันธุ์ omicron เริ่มระบาดตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นระยะเวลาค่อนข้างที่จะยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ย่อยโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน (มกราคม 2567)เป็นสายพันธุ์ JN.1

สายพันธุ์ที่ระบาดและครองพื้นที่ส่วนใหญ่จะเบียดบังและกดสายพันธุ์เดิมให้หายไป เพราะสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายได้เร็วกว่า ติดต่อได้ง่ายกว่าหรือมีลูกหลานได้มากกว่าก็จะเป็นสายพันธุ์เด่น ด้วยกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ สายพันธุ์ที่เกิดใหม่จะติดต่อง่าย แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมมาตลอด และจะลดความรุนแรงของโรคลง เพื่อความอยู่รอดตามทฤษฎี natural selection ของ Charles Darwin และโรคโควิด 19 ก็จะอยู่กับเราเป็นโรคประจำฤดูกาลต่อไป โดยการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ให้บทเรียนทางวิทยาศาสตร์กับเราเป็นจำนวนมาก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน