กสม. ชี้กรมอุทยานฯช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ช้าถึงห้าสิบปีเป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอ ครม. เร่งแก้ไข
19 ม.ค. 2567 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ แถลงว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่า ตามที่ กสม. ได้มีหนังสือที่ สม 0003/146 ลงวันที่ 23 เมษายน 2551 แจ้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินสำหรับผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์โดยเร่งด่วน แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนจำนวน 900 ครัวเรือน ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลนาสวน และตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ยังคงได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการดำเนินงานที่ล่าช้าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ผู้ถูกร้อง) และข้าราชการที่มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขปัญหา จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้รับรองให้บุคคลมีสิทธิในทรัพย์สิน การจำกัดสิทธิให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลสามารถจัดการโภคทรัพย์และทรัพยากรธรรมชาติของตนได้อย่างเสรีและจะไม่ถูกลิดรอนวิถีการยังชีพไม่ว่ากรณีใด รวมทั้งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีที่ทำกินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และตรวจสอบกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินทั้งประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อประกันให้บุคคลมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับตนเองและครอบครัว
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมบริเวณพื้นที่พิพาทมีประมาณ 15,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ในราชการทหาร จนกระทั่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำที่ดินบริเวณดังกล่าวไปจัดสรรให้แก่ประชาชนที่อพยพจากน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 900 ครอบครัว และให้จัดทำใบสำคัญกรรมสิทธิ์ให้แก่ประชาชนที่เข้าไปอยู่ทำประโยชน์จริงภายในเวลาอันสมควร
ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษีและป่าเขาบ่อแร่ ในท้องที่ตำบลชะแล ตำบลท่าขนุน ตำบลหินดาด ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ ตำบลเขาโจด ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลหนองเป็ด ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524 มีผลให้พื้นที่พิพาทเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนการหวงห้ามที่ราชพัสดุที่ได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร ในท้องที่ตำบลนาสวน และตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี พ.ศ. 2529 มีผลให้พื้นที่จัดสรรไม่เป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ทำให้ประชาชนผู้ได้รับการจัดสรรไม่อาจนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิได้ และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้า
เมื่อปี 2548 ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงร้องเรียนต่อ กสม. ซึ่งได้ตรวจสอบและมีความเห็นว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินฯ ทับซ้อนที่ดินที่จัดสรรให้แก่ผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ที่ล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่อผู้ถูกร้องให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการกันแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลงวันที่ 14 กันยายน 2550 รวมทั้ง คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและต้องอพยพจากการก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ด้วยเช่นกัน
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า นับแต่เมื่อปี 2517 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำที่ดินพิพาทไปจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่จากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ทั้ง 900 ครอบครัว ซึ่งรวมครอบครัวของผู้ร้องด้วย จนกระทั่งปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานถึง 50 ปี ประกอบกับเมื่อปี 2550 กสม. ได้มีข้อเสนอแนะให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้ถูกร้อง แก้ไขปัญหาการทับซ้อนที่ดินพิพาทระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์กับพื้นที่ที่ประชาชนได้รับการจัดสรร จนกระทั่งถึงปี 2566 ประชาชนผู้ร้องได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ซึ่งผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการดำเนินการของผู้ถูกร้อง ที่จะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาสำหรับกันพื้นที่พิพาทออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ต่อคณะรัฐมนตรี อันจะมีผลทำให้ประชาชนในพื้นที่พิพาทสามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ อย่างไรก็ดี นับเป็นระยะเวลายาวนานถึง 16 ปี แล้ว นับแต่ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด จึงส่งผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เร่งเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ แปลงที่สอง ป่าโรงงานกระดาษไทย แปลงที่หก และป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ แปลงที่หนึ่ง ในท้องที่ตำบลเขาโจด ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลแม่กระบุง อำเภอศรีสวัสดิ์ และตำบลสหกรณ์นิคม ตำบลหินดาด ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ และตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งจะมีผลเพิกถอนพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 14,786 ไร่ เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป
นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ ฯ โดยเร่งด่วน และให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพออกจากพื้นที่ที่สร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ตามคำสั่งจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 2266/2566 เร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิในที่ดินที่ได้รับจัดสรรโดยเร็ว หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ขยับ! ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อในคดีตากใบ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ
จองเวรต่อ! ยกผลสอบ กสม. สอย 'นายกฯอิ๊งค์' พ่วง 2 รมต.
'เรืองไกร' จองเวรต่อ! ยกคำวินิจฉัย กสม. ร้อง กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญ สอย 'นายกฯอิ๊งค์' พ่วง 'สมศักดิ์-ทวี' ส่อขัด ม.160 ฝ่าฝืนจริยธรรมข้อ 8