'วัชระ' อัด 'ทวี' ร้อนตัวให้ปลัดยุติธรรมตอบหนังสือแก้เกี้ยว

18 ม.ค.2567 - นายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้ยื่นหนังสือถึงนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 ให้ดำเนินการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองกับพวก มีพฤติการณ์หรือการกระทำปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตเอื้อประโยชน์กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร และผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่

กรณีนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ถูกส่งตัวออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ณ โรงพยาบาลตำรวจ จนเกิดเป็นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ปัจจุบันครบกำหนด 120 วัน ตามกำหนดของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 แล้ว จึงมีความประสงค์ขอให้ระงับการส่งตัวนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ไปคุมขังนอกเรือนจำ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงขอให้เปิดเผยรายงานของกรมราชทัณฑ์ที่รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและภาพถ่ายของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่พักรักษาตัวอยู่ภายนอกเรือนจำให้ประชาชนทราบต่อไป ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

ล่าสุดตนได้รับหนังสือจากกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 ที่ ยธ 02019/485 ความว่า ตามหนังสือร้องทุกข์ของผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ผู้ร้องได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมพิจารณาแล้วโดยความเห็นชอบของปลัดกระทรวงยุติธรรมขอเรียนว่า กรณีเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ร้อง จึงได้ส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป หากผลการพิจารณาดำเนินการเป็นประการใด กรมราชทัณฑ์จักได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบโดยตรง ซึ่งผู้ร้องสามารถติดตามผลการดำเนินการได้ที่ กรมราชทัณฑ์ เลขที่ 222 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร. 0 2967 2222

นายวัชระ กล่าวว่า หนังสือฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ฉบับนี้ ตนได้ยื่นหนังสือถึงนายทวีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 5 ข้อคือ
1. ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ “อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” และพันธกิจ ข้อ 3 “เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม” แต่ยุคท่านทวี สอดส่อง ยิ่งเหลื่อมล่ำไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแต่ประการใด กลับหย่อนยานและเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร

2. นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข 6650102668 ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.101 แบบประวัตินักโทษ จำนวน 4 หน้า ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง 4 แสนราย นช.ทักษิณ ไม่ได้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าถามยังไม่ได้สอบประวัติ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนแต่ประการใดจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าพนักงานทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

3. ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำรายงานเท็จและช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไม่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำแต่อ้างว่าไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)

4. ขอสำเนารายชื่อพัศดีทั้งหมดพร้อมลายเซ็นและภาพถ่ายตามที่นายนัทที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งได้ให้ถ้อยคำกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ว่ามีภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจทุก 2 ชั่วโมง ขอให้เปิดเผยภาพถ่ายและให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำเพราะมีการทำรายงานเท็จมาตั้งแต่ต้น

5. ขอให้เปิดเผยรายงานกรมราชทัณฑ์ที่รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษพักรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำครบ 120 วันเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบด้วย

“แต่ปรากฏว่านายทวีไม่ตั้งคณะกรรมการสอบข้าราชการกรมราชทัณฑ์ตามที่นายวัชระร้องเรียนแต่อย่างใด ซึ่งหนังสือที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมตอบมานั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ตรงไปตรงมาเพราะคำถามที่ผมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญถามรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และยิ่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์เป็นอำนาจของกระทรวงโดยตรง การส่งไปเรื่องไปให้กรมราชทัณฑ์จึงมิใช่เป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้ร้องตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวอ้างแต่อย่างใด นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงควรทบทวนในเรื่องนี้ต้องเป็นข้าราชการมืออาชีพ อย่าตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่มามีอำนาจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น” นายวัชระ กล่าว

นายวัชระกล่าวอีกด้วยว่า นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ต้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ตอบหนังสือผมแก้เกี้ยว เพราะประชาชนคาใจกันทั้งประเทศ ว่าทำไมนักสร้างสันติภาพของท่านถึงไม่ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ป่วยทิพย์? เอื้อประโยชน์กันหรือไม่ แต่ควรเตรียมเอกสารไปชี้แจงกับปปช.ในอนาคตจะดีกว่า ทั้งข้อกฎหมายและจริยธรรมร้ายแรง และเรื่องนี้ต้องจบที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบไม่ใช่จบที่กรมราชทัณฑ์อย่างแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้

คปท. บุก 'แพทยสภา' ให้กำลังใจ ยึดมั่นจรรยาบรรณ พิสูจน์ความจริง ไม่ฟอกผิด 'นักโทษเทวดา'

ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายนัสเซอร์ ยีหมะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัวแทนกองทัพธรรม นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภา เรื่อง ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณแพทย์

เปิดแนวรบใหม่! 'ทักษิณ' เหน็บ 'นิด้าโพล' อยู่ตรงข้าม เจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลร

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ