กสม. ชี้แจงกรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ ย้ำสิทธิผู้ต้องหา และผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และหลักไม่เลือกปฏิบัติ
15 ธ.ค.2566 - สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เรื่อง “กสม. ชี้แจงกรณีระเบียบกรมราชทัณฑ์ ย้ำสิทธิผู้ต้องหาและผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และหลักไม่เลือกปฏิบัติ” โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกรณีกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 เป็นเหตุให้สังคมตั้งคำถามและเกิดความกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงว่า ระเบียบดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2563 รวมถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีปัญหาในการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่พบจากการดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำ นั้น
กสม. ขอเรียนว่า ข้อเสนอแนะที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 กสม. เสนอให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติ โดยการ (1) ใช้นโยบายกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เช่น การเบี่ยงเบนคดีอาญาออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก (Diversion from Criminal Justice Process) (2) การแยกสถานที่คุมขังระหว่างผู้ต้องขังเด็ดขาดกับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา และ (3) กำหนดสถานที่ควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ โดยกำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือจากการควบคุมตัวในเรือนจำ และต่อมา กสม. ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อเน้นย้ำให้กรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่ที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังแต่ละประเภท เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำอันเนื่องมาจากการไม่แยกประเภทผู้ต้องขัง
กสม. ยังได้ประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีตามหลักสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ข้อ 14 วรรคสอง การแยกคุมขังผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกับผู้ต้องขังเด็ดขาด การแก้ไขกฎกระทรวงออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 การติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือกำไล EM และการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นสำหรับผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิดหรือความเห็นต่าง ซึ่งยังไม่มีการพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิด
กสม. ขอเน้นย้ำกติกา ICCPR ข้อ 10 ที่กำหนดให้ผู้ต้องหาต้องได้รับการจำแนกออกจากผู้ต้องโทษ และต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปให้เหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องโทษ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติกา ICCPR ยังกำหนดไว้ว่า บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ดังนั้น สิทธิของผู้ต้องขังทุกคนต้องเสมอภาค เท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะมีสถานะใด ๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ทวี' เผยเงื่อนไข 'คุมขังนอกเรือนจำ' ต้องไม่หลบหนี-ได้รับอภิสิทธิ์อย่างอื่น
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการรับฟังความเห็นระเบียบว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำที่แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ต้องดูว่าหลังจากนี้มีคนเห็นด้วยหรือเ
'ทวี' แจงระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ทันใช้ก่อนสิ้นปีนี้ ช่วยนักโทษชั้นดี
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง
กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี
กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจี้ รร.นายร้อยตำรวจเร่งคดีล่วงละเมิดทางเพศ!
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์เรื่องขอให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
'นิพิฏฐ์' เฉลย 'ยิ่งลักษณ์' กลับไทยเป็นไปได้ 'ทักษิณ' ไม่ได้พูดเล่นๆ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีทุจริตจำนำข้าว อาจจะกลับประเทศไทยก่อนสงกรานต์ปีหน้า ว่า ระบุว่า
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ