11 ธ.ค.2566-รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบว่า ต่อจากนี้ไป พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เหมือนเดิม พรรคจะใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงจนต่ำสิบหรือไม่ ยังไม่แน่ ที่แน่คือ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เรามาลองย้อนกลับไปดูพรรคประชาธิปัตย์ในเชิงยุทธศาสตร์กันสักหน่อย ในทางธุรกิจ ยุทธศาสตร์การแข่งขัน(competitive strategy)มี 3 แบบหลักๆ 1. ยุทธศาสตร์ต้นทุนต่ำ เป็นยุทธศาตร์ที่แข่งขันด้วยราคาที่ต่ำกว่าสำหรับทุกคน ไม่เลือกเน้นเฉพาะกลุ่ม 2. ยุทธศาตร์สร้างความแตกต่าง เป็นยุทธศาสตร์ที่พยายามสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยไม่เลือกเน้นเฉพาะกลุ่มเช่นกัน 3. ยุทธศาตร์เลือกเน้นเฉพาะกลุ่ม หรือเรียกว่า focus เป็นยุทธศาสตร์ที่เลือกเน้นหรือ focus ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
โดยอาจแข่งขันในกลุ่มนั้นด้วยการสร้างความแตกต่าง หรือจะเลือกที่จะแข่งขันด้วยราคาก็ได้ ในกลุ่มคนที่เลือกเน้น
แต่ไหนแต่ไรมา คนที่เลือกประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และมักเป็นคนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง เมื่อเกิดพรรคไทยรักไทย ซึ่งเลือก focus ที่คนรากหญ้า และออกนโยบายที่โดนใจคนรากหญ้า จนชนะการเลือกตั้ง อย่างถล่มทลาย ในขณะที่นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเป็นนโยบายที่แทงกั๊ก ไม่ focus ที่จุดแข็งของตัวเองคือคนชั้นกลางให้ชัดเจน จะเรียกว่าไร้ยุทธศาสตร์การแข่งขันก็ไม่ผิด ผลก็คือพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าต่อพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ตามลำดับ
หลังรัฐบาลคสช ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาปัตย์ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งถือว่าเป็นการไม่แทงกั๊กเป็นครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ คือ focus ที่คนที่ไม่ต้องการให้พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลเนื่องจากเป็นพรรคที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่โชคร้ายที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ยังคงกลัว “ระบอบทักษิณ” คนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์จึงหันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐกันเกือบหมด คนรากหญ้ายังคงเลือกพรรคเพื่อไทยซึ่งสืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทย ส่วนคนรุ่นใหม่ก็หันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้ไปอีกครั้ง ทำให้คุณอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และในที่สุดเมื่อมีการเลือกตั้งคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจสวนทางกับจุดยืนของคุณอภิสิทธิ์ โดยเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ คุณอภิสิทธิ์จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส.ในเวลาต่อมา
การเลือกตั้งครั้งหลังสุด พรรคประชาธิปัตย์จึงมีคุณ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นแม่ทัพบัญชาการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีตั้งแต่ที่คุณจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค เลือดเร่ิมไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คุณกรณ์ จาติกวณิชย์ คุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม คุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ คุณถาวร เสนเนียม ทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ก็กลับไปแข่งขันในการเลือกตั้งแบบไร้ยุทธศาสตร์เช่นเดิม ผลคือ ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.รวมทั้ง 2 ประเภทเพียง 25 คนเท่านั้น ไม่ได้ ส.ส.ในกทม แม้แต่คนเดียวไม่พอ ยังพ่ายแพ้ในภาคใต้ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกด้วย ทำให้คุณจุรินทร์ต้องประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคตามรอยคุณอภิสิทธิ์ไปอีกคน คุณเฉลิมชัยซึ่งเคยประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตหากพรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ยังสงบนิ่งไปแสดงออกแต่อย่างใด
ย้อนกลับไปในยุคที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ค่อนข้างชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นพวกที่มี DNA ของประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน นำโดยคุณชวน หลีกภัย และคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคอย่างไม่เปลี่ยนแปลง อีกฝ่ายนำโดยคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน และคุณเดชอิศม์ ขาวทอง โดยเฉพาะคุณเดขอิศม์ ได้มีพฤติกรรมที่แข็งกร้าวท้าทายผู้อาวุโสของพรรคอย่างเปิดเผยและดูเหมือนพร้อมที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคใดก็ได้ทั้งสิ้น คุณเดชอิศน์เองยอมรับว่าบินไปฮ่องกงก่อนการเลือกตั้งและได้พบกับคุณทักษิณ แต่ก็เหมือนกับคุณธนาธร คืออ้างว่าไม่ได้ไปคุยเรื่องการเมือง หากไม่มีคุณชวนเสนอให้งดออกเสียงในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยไปแล้ว กระนั้นก็ยังมี ส.ส.บางคนไปลงคะแนนให้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อคุณจุรินทร์ลาออก ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ต้องแข่งขันกันขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อให้พรรคเดินไปในทิศทางที่ต้องการ มีการชิงไหวชิงพริบกันจนการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคต้องล่มแล้วล่มอีกถึง 2 ครั้ง ฝ่ายคุณเฉลิมชัยได้เปรียบตรงที่มีส.ส.ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มตัวเองถึง 21คน จากส.ส.ทั้งหมด 25 คน จึงได้เปรียบเนื่องจากตามข้อบังคับพรรคจะให้นำ้หนักคะแนนเสียงของส.ส.ปัจจุบันถึง 70% และคนอื่นเช่น อดีตส.ส.และรัฐมนตรีเพียง 30% ฝ่ายคุณเฉลิมชัยส่งคุณ นราพัฒน์ แก้วทอง เข้าชิงตำแหน่ง และจู่ๆก็มีคุณวทันยา บุนนาค ประกาศจะลงสมัคร ซึ่งโดยคุณสมบัติของคุณวทันยา ยังไม่สามารถลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคได้ เพราะยังเป็นสมาชิกไม่ครบ 5 ปี นอกจากจะได้รับการยกเว้นด้วยคะแนนโหวต 3 ใน 4 และก็ไม่แน่ชัดว่า คุณวทันยายืนอยู่กับฝ่ายใดแต่คงไม่ใช่ฝ่ายคุณเฉลิมชัยแน่
ในที่สุดดูเหมือนส.ส.ฝ่ายคุณเฉลิมชัย จะต้องการตัวคุณเฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรค หรือคุณเฉลิมชัยต้องการเป็นหัวหน้าพรรคเสียเองก็ไม่ทราบ แต่เนื่องจากคุณเฉลิมชัยเคยลั่นวาจาไว้แล้วว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จึงต้องหาข้ออ้างด้วยการให้ส.ส.ทั้ง 21 คนเข้าชื่อกันไปขอให้คุณเฉลิมชัยมาลงแข่งขันเพื่อเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อกอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ให้เดินหน้าต่อไปได้
เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป คอการเมืองก็รู้ทันทีว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนแน่นอน เพราะมีส.ส.อยู่ในมือถึง 21 คน นับเป็นครั้งแรกที่สามารถบอกได้ 100 % ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคก่อนการเลือกตั้งของพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่ทุกครั้งที่มีการเลือกหัวหน้าพรรค ผู้สมัครต้องแข่งขันกันจริงๆและไม่มีใครบอกได้ล่วงหน้าว่าผู้สมัครคนใดจะชนะ จุดนี้ความจริงเป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่เรียกได้ว่า เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของที่จะสั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้
ในวันประชุมเลือกหัวหน้าพรรค คุณชวน หลีกภัย ผู้อาวุโสของพรรค ต้องออกมาอธิบายถึงอุดมการณ์พรรค อย่างยีดยาว และเสนอชื่อคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป แต่ดูเหมือนผู้เข้าประชุมจะฟังหูซ้ายทะลุออกหูขวา การโหวตเพื่อขอให้ยกเว้นให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคน้อยกว่า 5 ปีลงสมัครเป็นหัวพรรคได้ก็มีเสียงไม่พอต้องตกไป คุณวทันยาจึงถูกตัดสิทธิไปโดยปริยาย คุณอภิสิทธิ์ซึ่งคงมั่นใจว่าตัวเองเอาชนะคุณเฉลิมชัยไม่ได้แน่ หลังจากขอเวลานอกสนทนาตัวต่อตัวกับคุณเฉลิมชัย ก็ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค มีเสียงมือปรบมือเกรียวกราว และเมื่อคุณอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วย เสียงปรบมือยิ่งดังกว่า คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนจึงได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ไปแบบสมใจไร้คู่แข่ง
ทันทีหลังจากเลิกประชุม คุณสาธิต ปิตุเตชะ ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เท่านั้นไม่พอยังแสดงความเห็นว่า การไม่รักษาสัจจะของคุณเฉลิมชัย อย่าว่าแต่เป็นหัวหน้าพรรค เป็นนักการเมืองก็ยังไม่ได้ ต่อจากนี้สมาชิกพรรคเช่น คุณเกียรติ สิทธิอมร คุณสาธิต วงศ์หนองเตย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม และคนอื่นๆ ไม่แน่ว่าจะประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตามไปด้วยหรือไม่
ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นเซียนการเมืองที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งบอกผมว่า คุณชวน ควรจะประกาศถอนตัวทางการเมือง หลังจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภา จะเป็นทางลงที่สวยที่สุด แต่ปัญหาของคุณชวนคือ รักประชาธิปัตย์มากเกินไป วันนี้จึงต้องเจ็บปวด แต่ด้วยวิสัยของคุณชวนคงไม่อาจละทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ แต่ที่ต้องคิดหนักคือ ต่อจากนี้จะอยู่อย่างไร เพราะผู้บริหารพรรคชุดใหม่ดูเหมือนแทบไม่จะไม่มีใครที่มี DNA ของพรรคอยู่เลยสักคน และคงไม่มีใครให้ความสำคัญกับผู้อาวุโสอย่างคุณชวน คุณบัญญัติ และท่านอื่นๆอีกต่อไป
เรามาคอยติดตามกันต่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปในทิศทางใด บทบาทของผู้อาวุโสของพรรคจะเป็นอย่างไร นี่คงเป็นเรื่องที่คอการเมืองต้องติดตามแบบตาไม่กระพริบกันเลยทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อดีตแม่ยกปชป.' เตือน 'ทักษิณ' พาดพิง 'ชวน' ถือว่าคิดผิด เชื่อใกล้จบอนาคตในเร็ววันนี้
นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า
'เด็กชวน' สวนกลับ 'ทักษิณ' อยากสารพัด แต่ผวาอยู่ 2 เรื่อง
'ราเมศ' ยัน 'ชวน' ต่อสู้สิ่งไม่ถูกต้อง ยึดหลักสุจริตมาโดยตลอด ปัดแค้นส่วนตัวกับ 'ทักษิณ' สวนกลับคงไม่อยากหนีไปต่างประเทศซ้ำอีก
'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา
'ชวน' อวยพรคนไทยให้เข้มแข็งด้วยตัวเองอย่ารอแค่เงินแจก
'ชวน' อวยพรคนไทยประสบความสำเร็จ ย้ำต้องเข้มแข็งช่วยเหลือตัวเอง ไม่รอเงินแจก
'ชวน' นำคนตรังทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่
อดีตนายกฯ ชวน ร่วมทำบุญตักบาตร เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2568 ร่วมด้วยประชาชน พร้อมอวยพรให้คนตรังอยู่ดีมีสุข ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม
'เทพไท' เตือน 'ทักษิณ' ฟังคำแนะนำ 'นายหัวชวน' ก่อนซ้ำรอยไม่มีแผ่นดินอยู่
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์คลิปพร้อมเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก