7 ธ.ค.2566 - นายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม อดีตประธานมูลนิธิ สืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #กระเช้าภูกระดึง โจทย์ที่ต้องตัดสินใจของประเทศไทย 3 ข้อ ถ้าทำกระเช้าภูกระดึง จะมีสิ่งที่อาจเป็นประโยชน์หลายประการ
ประการแรก ธุรกิจที่สัมพันธ์กับอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ที่มีคนครอบครองอยู่รอบๆ ภูเขาภูกระดึง และเส้นทางสู่ภูกระดึงจะคึกคัก ทั้งการเพิ่มมูลค่า การหมุนเวียนของเม็ดเงินต่างๆ ในการขยายกิจการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีมากขึ้น และหมุนเวียนมาเยือนเพื่อขึ้นลงกระเช้าไปที่ราบกว้างใหญ่บนยอดเขา ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้สองเท้าเดิน
ประการที่สอง ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองขึ้นไม่ไหว ไม่มีเวลา และไม่กล้าขึ้น รวมถึงผู้มีข้อจำกัดเรื่องอายุและสภาพร่างกายมีโอกาสขึ้นไปได้ และกระเช้าไฟฟ้าอาจช่วยนำคนเจ็บป่วย บาดเจ็บ ขยะ ขนส่งข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้ขึ้นไปได้ง่ายขึ้น นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น
แต่…การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ไม่มีใครคิดจะตอบ 3 ข้อ 3 ระดับ
#ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วมีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้นและเดินเที่ยว
สิ่งที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ให้เราได้ซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนตอนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในไทยมีที่เดียวคือ “ภูกระดึง” ส่วนที่อื่นๆ มีถนนขึ้นถึง หรือเดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก
ดังนั้น เมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามา ย่อมสู้ความสบายเย้ายวนจากการขึ้นกระเช้าไม่ได้
คนจะเดินขึ้นก็คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย
พวกที่เลือกเดินจึงเป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาแล้วไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงปัจจุบัน
การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชันนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา
นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าจากสิ่งนี้ไปหรือไม่
#ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อคนจำนวนมากขึ้นไปข้างบนแล้วจะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ เช่น อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ
ที่สำคัญคือ ถนนหนทางข้างบนที่ต้องรองรับผู้มาเยือนที่ไม่เตรียมตัวไป “เดิน” และไม่พร้อมจะรับรู้ทั้งนั้นว่าทำไมไม่มีรถวิ่งไปชมที่ท่องเที่ยวที่ห่างจากสถานีกระเช้าหลายกิโลเมตรในแต่ละที่ รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ เราพร้อมจะปล่อยให้ที่สวยๆ ข้างบนพังไปอีกที่ใช่หรือไม่
#ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปจำนวนมาก เราพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์อันอุดมด้วยธรรมชาติไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวข้างบนในอนาคตเลยหรือไม่
หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น ยกเลิกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไปเลย นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด
รัฐบาลนี้ต้องตอบทั้ง 3 คำถามก่อนตัดสินใจ ผมรอฟังอยู่ ก่อนตัดสินใจขึ้นกระเช้าไปทำลายภูกระดึงเดิมๆ ด้วยกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดโปรแกรมทัวร์ 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรกที่เมืองเหนือ
เปิดโปรแกรม 'ครม.สัญจรอิ๊งค์' นัดแรก จัดที่แม่ริม เชียงใหม่ 29 พ.ย. ก่อนถก 'คลังสัญจร' เชียงราย ฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมพบประชาชน
'กกร.เชียงใหม่' จ่อชง 'ครม.สัญจร' เยียวยาผู้ประกอบการน้ำท่วม
นายอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และรองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มาหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับเชียงใหม่ปีนี้
วางคิว ‘นายกฯอิ๊งค์’ ลงพื้นที่แม่สายเดือนพ.ย. ก่อนประชุม ครม.สัญจรครั้งแรก จ.เชียงใหม่
ในเดือนหน้า นายกฯมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.เชียงราย และเป็นประธานประชุม ครม.สัญจร ที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม.สัญจรนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้
เปิดภูกระดึงนักท่องเที่ยวทะลัก สัมผัสทะเลหมอกช่วงหยุดยาว
นักท่องเที่ยวแห่พิชิตภูกระดึงในช่วงวันหยุดยาว สัมผัสทะเลหมอกและธรรมชาติอันงดงาม ยอดพุ่ง 12 ต.ค.กว่า 2 พันคน หลังปิดเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ
'โลกร้อน-โลกเดือด'! กระทบ 'พะยูน' เข้าใกล้จุดสูญพันธุ์
เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า พะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งทำให้พะยูน ก้าวข้าม