'กิตติศักดิ์ ปรกติ' เปิดใจหลังศาลยกฟ้อง คดีกบฎ กปปส. 

3 ธ.ค. 2566 – บันทึกจาก รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ

💐ขอขอบคุณทุกกำลังใจครับ

หลังสู้คดีมาเกือบ 10 ปี วันที่ 1 ธันวา 2566 ผมไปฟังคำพิพากษาที่คุณธาริตเขาหาว่าผมสนับสนุนกบถ

ผมไปถึงศาลอาญาตอนเช้าด้วยความตื่นเต้นเล็กน้อย นายแพทย์เพื่อนชั้นมัธยมท่านหนึ่งกรุณาปลอบใจด้วยการนำพระรูปจำลองของเสด็จในกรมหลวงชุมพร อัดกรอบ มาคล้องคอเป็นกำลังใจ

หญิงชราคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณากล่าวเบา ๆ กับผมว่า วันนี้ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลจะเป็นอย่างไร ฉันมาที่นี่เพื่อขอขอบคุณการกระทำของจำเลยทุกคนว่าผ่านมา 10 ปีแล้ว การกระทำทุกอย่างยังอยู่ในความทรงจำที่ดีเสมอมา
เหตุทั้งหมดในคดีนี้มาจากการลงมติของเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรา พรบ นิรโทษกรรม เมื่อกว่า 10 ปีก่อน คือ 1 พย 56

คณาจารย์ในคณะนิติ มธ ลงชื่อคัดค้านการตรากฎหมายนี้ว่าเป็นการใช้เสียงข้างมากที่มีอย่างล้นหลามของสภาผู้แทนฯโดยขัดต่อหลักกฎหมายอย่างร้ายแรง

ผมในฐานะอาจารย์คนหนึ่งได้ร่วมแถลงข่าวที่คณะนิติฯ มธ เมื่อ 7 พย 56 แล้วเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนของคณาจารย์ที่ลงนามแสดงเจตนารมณ์คัดค้านร่างกฎหมายตามอำเภอใจเสียงข้างมากครั้งนี้ต่อผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หลังจากนั้นผมได้รับเชิญไปอภิปรายหลายครั้ง โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของเยอรมันตะวันออกที่ประชาชนลุกขึ้นคัดค้านรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแบบจอมปลอมจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโดยสันติ

โดยประชาชนเยอรมันที่ออกมาชุมนุมประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอีกต่อไป และจัดตั้งสภาประชาชนขึ้น เรียกว่าสภาโต๊ะกลม กำหนดแนวทางให้รัฐสภาปฏิบัติตาม จนนำไปสู่การเปิดกำแพงเบอร์ลิน

ผู้นำการชุมนุมในบ้านเราครั้งนั้นได้นำเอาแนวทางของเยอรมันตะวันออกมาปรับใช้ นำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่หลายครั้ง จนรัฐบาลประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และมีการคัดค้านการเลือกตั้งตามมา

รัฐบาลในเวลานั้นคงเห็นว่าผมมีส่วนสำคัญในการประท้วงจึงสั่ง ดำเนินคดีกับผมร่วมกับผู้ต้องหาอื่นๆอีกราวเกือบ 60 คนโดยสั่งอายัดบัญชีธนาคารของผมทั้งหมด และตั้งข้อหาสนับสนุนกบฏ ทำให้ต้องสู้คดีต่อมาร่วม 10 ปี

เกือบ10 ปีผ่านไปศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำอภิปรายในที่ชุมนุมของผมเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการโดยสุจริตจึงตัดสินว่าไม่มีความผิดและให้ยกฟ้อง

แม้ศาลจะตัดสินลงโทษจำเลยอื่นๆอีกหลายคน แต่ก็ยอมรับว่าบุคคลเหล่านั้นได้ แม้กระทำผิด ก็ทำไปเพื่อปกป้องการปกครองโดยถือกฎหมายเป็นใหญ่ และยอมรับกระบวนการยุติธรรมอย่างกล้าหาญ

ผมเป็นเพียงนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่น ศาลเมตตายกฟ้อง แต่ผู้ประท้วงหลายคนถูกตัดสินจำคุก อย่างไรเสีย ผมก็ยังหวังว่าหากมีเหตุไม่ถูกต้องเกิดขึ้น คนที่อาสาออกหน้าคัดค้านเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง จะไม่หมดสิ้นไป

แม้บางครั้ง ผลของการต่อสู้ อาจเป็นเหมือนหนีเสือ ปะจรเข้…ก็ตาม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการแนะทางแก้ 'ปลาหมอคางดำ' เชื่อแพร่พันธุ์ภาคอีสานยาก

ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน

‘ดร.อานนท์’ เผยทีเด็ด ครั้งไปนั่งดีเบต ’รุ้งปนัสยา’ เรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

หลักการสำคัญสุดส่วนตัวของผมในการต้องดีเบตเรื่องใดๆ ก็ตาม เนื่องจากไม่มีความสามารถพอที่จะเอาชนะด้วยวาทกรรมได้ ผมจึงต้องแม่นยำในเรื่องข้อมูล

'สุเทพ' ไร้กังวลไม่รอลงอาญา สู้คดีต่อในชั้นศาลฎีกา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้ลดโทษจำคุกเเต่ไม่รอลงอาญาว่า ทุกอย่างเป็นกระบวนการยุติธรรม เป็นไปตามดุลพินิจของศาลพวกตนที่เป็นจำเลย ตั้งใจมา

ศาลฯพิพากษาคดี กปปส. จำคุก 14 ราย ยกฟ้อง 19 ราย รอลงอาญา 4 ราย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลดโทษจำคุก ‘สุเทพ’ เเกนนำ กปปส.เพียงปีเดียว ไม่รอลงอาญา คดีนำมวลชัตดาวน์กรุงเทพ ปี 57 ส่วนพวกแกนนำอีก 14 ราย รับโทษหลั่นกันไป ไม่รอลงอาญาอยู่ระหว่างลุ้นประกันตัว รอลงอาญา 4 ราย ส่วนที่เหลืออีก 19 รายยกฟ้อง