องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนตาม ศาลฎีกานักการเมือง ลงโทษ "ประหยัด พวงจำปา" รองเลขาธิการ ป.ป.ช. คุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่น รอลงอาญา1 ปี คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ชี้มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ทรัพย์สินห้องชุดและ บัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีในลอนดอน
30 พ.ย.2566 - เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วันนี้องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.5/2566 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.14/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ฟ้อง นายประหยัด พวงจำปา จำเลย
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน 6 รายการ ของนาง ธ. คู่สมรสของจำเลย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา43,81,158,167,188,194 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2562 มาตรา 40,41,42,119 ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีและขอให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น กรณีเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา40,41 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561มาตรา 43,114 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกไม่ต้องปรับบทมาตรา 114วรรคหนึ่ง), 158 มีผลให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย และห้ามมิให้จำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลา ห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก เห็นควรลงโทษจำคุก 4 เดือน และปรับ 10,0000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
สำหรับรายการบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ประเภทกระแสรายวัน และเงินลงทุนในบริษัท ป. นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดตามฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนทรัพย์สิน ทั้งสองรายการจึงเป็นอันยุติไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561มาตรา43 และมาตรา158 บัญญัติแยกการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพนักงานเจ้าหน้าที่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ต่างหากจากกัน เฉพาะคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้นที่กฎหมายบัญญัติชัดแจ้งให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีส่วนกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบไต่สวนและวินิจฉัยได้เองทำนองเดียวกับกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามราชการตามมาตรา 159 หรือจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแทนตนก็ได้ ที่มาตรา 158 บัญญัติให้นำความในมาตรา 43 มาใช้โดยอนุโลม จึงหมายถึงขั้นตอนการดำเนินคดีที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แม้ในชั้นร่างกฎหมายให้หน่วยงานที่ไม่ใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้อำนาจตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่หลักการนี้ก็ไม่ได้นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนข้ออภิปรายส่วนตัวของคณะกรรมการร่างกฎหมายหาใช่ถ้อยคำหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ ไม่อาจใช้อ้างในการตีความกฎหมายได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีได้ ไม่จำต้องส่งให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาก่อน และการออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหา และการชี้มูลความผิดจำเลยของคณะกรรมการป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงรวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มี
หน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2555 ข้อ23 ข้อ24 และข้อ25 หรือระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้า
พนักงานของรัฐและการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชี พ.ศ. 2561 ข้อ28 และข้อ29 ที่กำหนดให้การขอข้อมูลต้องเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาก่อนนั้น หมายถึงกรณีผู้ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินจำเป็นต้องขอความร่วมมือหรือใช้อำนาจเรียกข้อมูลมาเท่านั้น ส่วนกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลภายนอกส่งข้อมูลมาให้เองนั้นไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อใดห้ามกระทำการเช่นนั้น ทั้งมีการส่ง ข้อมูลในขณะที่นางสาว ส.ยังไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลย การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินจะใช้เวลารวดเร็วหรือล่าช้าย่อมขึ้นอยู่กับความยากง่ายหรือความสลับซับซ้อนของข้อเท็จจริงแต่ละกรณี จำเลยขอขยายระยะเวลาการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมประกอบคำชี้แจงเพิ่มเติมหลายครั้งรวมทั้งมีหนังสือขอความเป็นธรรม ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาอีกสองครั้งแสดงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้โอกาสจำเลยชี้แจงแสดงเหตุผลและโต้แย้งพยานเอกสารตามสมควรแล้ว การไต่สวน การแจ้งข้อกล่าวหา การชี้มูลความผิดจำเลยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
ข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่
แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินของนาง ธ. รายการห้องชุดเลขที่ 68ในอาคารชุด Wolfe House 389 Kensington High Street ลอนดอน สหราชอาณาจักร และบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาลอนดอน สหราชอาณาจักร ประเภทกระแสรายวัน1 บัญชี ประเภทออมทรัพย์ 2 บัญชีหรือไม่
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมากเห็นว่า เหตุที่นาง ธ. มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากสืบเนื่องจากนาย ธ. ในนามบริษัท F. จองและวางมัดจำห้องชุดไว้แต่ไม่มีเงินชำระ ค่าห้องชุดที่เหลือ นาง ธ. จึงกู้เงินโดยรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมาเป็นของตนเองเพื่อจดทะเบียนจำนองไว้ต่อธนาคารกรุงเทพฯ สาขาลอนดอนพร้อมกับขอเปิดบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีสำหรับรับเงินกู้ยืมและชำระหนี้แม้นาง ธ. มิได้เดินทางไปทำนิติกรรมด้วยตนเองโดยนาย ร. เป็นผู้ประสานงาน กรอกและรวบรวมเอกสาร ส่วนตัวของนาง ธ. ให้ แต่นาย พ. ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ สาขาลอนดอน เบิกความรับรองความถูกต้องของนิติกรรมดังกล่าว นาง ธ. ย่อมต้องรับผิดในฐานะผู้กู้ยืมโดยตรง การที่นาย ร. ทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์แก่นาง ธ. ร้อยละ 10 ของกำไรที่ได้จากการขายห้องชุดตามสัญญาแบ่งผลประโยชน์นั้น ไม่น่าเชื่อว่านาง ธ. จะยอมเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์แทนผู้อื่นและผูกพันตนรับผิดตามสัญญากู้มากถึง 3,150,000 ปอนด์สเตอร์ลิง โดยหวังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ของผลกำไรจากการขายห้องชุดซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต ไม่แน่นอนว่าจะขายได้หรือมีกำไรหรือไม่ ส่วนที่นาย ร. ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท M. อ้างว่าเป็นเจ้าของห้องชุดแท้จริง โดยขอกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯ สาขาลอนดอน แต่ถูกปฏิเสธนั้น นาย พ. เบิกความว่านาย ร. ไม่เคยขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าห้องชุดตกเป็นของบริษัท M. ได้อย่างไร เมื่อธนาคารให้กู้ยืมเงินแก่นาง ธ. เงินที่กู้มาชำระค่าห้องชุดจึงถือว่าเป็นเงินของนาง ธ. นาง ธ. เป็นผู้ชำระค่าซื้อห้องชุดและเป็นเจ้าของห้องชุด แม้หากจะฟังว่ามีบุคคลอื่นชำระหนี้บางส่วนแทนนาง ธ. ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันต่างหาก การที่นาย ร. ขวนขวายยื่นเอกสารขอกู้ยืมเงินแทนนาง ธ. และจัดการให้บริษัท M. ค้ำประกันรวมทั้งจัดการโอนเงินชำระหนี้ธนาคารนั้นไม่เป็นเหตุให้บริษัท M. และนาย ร. เป็นเจ้าของห้องชุดได้ จึงไม่อยู่ในฐานะตัวการมอบให้นาง ธ. เป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์แทนได้พยานหลักฐานจากการไต่สวนรับฟังได้ว่า นาง ธ. เป็นเจ้าของที่จริงในห้องชุดและบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีมาตั้งแต่แรกจนถึงวันที่จำเลยมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามฟ้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่า จำเลยมีเจตนาปกปิดไม่แจ้งข้อความจริงเกี่ยวกับห้องชุดและ บัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินย่อมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นอย่างดี จำเลยรับว่าเดือน ก.ย. 2559 นาง ธ. แจ้งให้ทราบ ว่านาง ธ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดแทนผู้อื่น อยู่ระหว่างไถ่ถอนจำนองและโอนขายให้บุคคลภายนอก ดังนี้จำเลยจึงต้องตรวจสอบข้อมูลจากนาง ธ. และธนาคารเพื่อนำหลักฐานที่เป็นอยู่ในขณะที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีมาแสดงประกอบการยื่นบัญชี หากจำเลยจะยกข้ออ้างที่ทำให้ตนเข้าใจว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของคู่สมรสก็ชอบ ที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงนั้นไว้ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้จงใจที่จะปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งให้ทราบการที่จำเลยกล่าวอ้างลอยๆ ว่าเมื่อเดือน เม.ย. 61 จำเลยเพิ่งทราบเรื่องที่นาง ธ. ไม่สามารถโอน ห้องชุดให้ บริษัท G. ได้ เป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้าง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่านาง ธ มอบหมายให้นาย ร. มีหนังสือแจ้งการโอนขายห้องชุดให้บริษัท G. ก่อนที่จำเลยมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพียง 1 วัน ทั้งบริษัทดังกล่าวก็มิได้ชำระค่าซื้อห้องชุดหรือไถ่ถอนจำนองพฤติการณ์เช่นนี้เป็นข้อพิรุธว่าเป็นการกระทำโดยมีมูลเหตุจูงใจเพื่อจะหลีกเลี่ยงการแสดงรายการทรัพย์สิน ห้องชุดของนาง ธ. นอกจากนี้ จำเลยแสดงรายการทรัพย์สินรถยนต์ที่นาง ธ. ขายไปแล้วแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียน โดยจำเลยระบุว่า "ขายแล้ว เมื่อ พ.ย 2559 อยู่ระหว่างการโอนสลับ ป้ายทะเบียน" เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของห้องชุด จำเลยกลับมิได้แจ้งข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับห้องชุด และ บัญชีเงินฝากทั้งที่มีราคาสูงมากต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนกระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับข้อมูลการทำธุรกรรมของนาง ธ. จากสำนักงานป.ป.ง. จำเลยจึงยอมรับความมีอยู่ของห้องชุดและบัญชีเงินฝากทั้ง 3 บัญชีเป็นครั้งแรกพร้อมกับยกข้อต่อสู้เรื่องการถือกรรมสิทธิ์แทนตามสัญญาแบ่งผลประโยชน์พยานหลักฐานจากการไต่สวนฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาปกปิดไม่แจ้งความจริงเกี่ยวกับห้องชุดและบัญชีเงินฝากทั้ง 3 บัญชี ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความ อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินของนาง ธ. รายการห้องชุด ในอาคารชุด Wolfe House Kensington High Street ลอนดอน สหราชอาณาจักร และบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาลอนดอน สหราชอาณาจักร 3 บัญชี ตามฟ้อง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท
ส่องฐานะ 2 อดีตผู้นำเหล่าทัพ 'พล.อ.เจริญชัย-พล.ร.อ.อะดุง' หลังพ้นเก้าอี้ สว.
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 130 ราย ประกอบด้วย กรณีเข้ารับตำแหน่ง 60 ราย และกรณีพ้นจากตำแหน่ง 70 ราย โดยมีรายชื่อที่น่าสนใจ
เปิดทรัพย์สิน อดีต สว. 'พล.อ.ปรีชา-วันชัย-สมชาย'
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 130 ราย ประกอบด้วย กรณีเข้ารับตำแหน่ง 60 ราย
จับตาบัญชีทรัพย์สิน 'นายกฯแพทองธาร' มือใหม่ยังไม่ยื่นปปช.
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขณะนี้ดำเนินการเรียบร้อยหรือยัง ว่า ตอนนี้ยังไ
‘เรืองไกร' ตามเช็ด ร้องปปช.บี้ ‘วิสุทธิ์’
ถึงคิวประธานวิปรัฐบาล! เด็กบ้านป่าฯ "เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หลังพบมีความไม่สอดคล้องกันหลายรายการ
ประธานวิปรัฐบาลซวยแล้ว! เรืองไกร ร้องป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เห็นข่าวการปราศรัยของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ (ประธานวิปรัฐบาล-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย) ในสภาฯ ทำให้คิดถึง จึงย้อนไปตรวจสอบบัญชี