'อ.เดชรัต' เลคเชอร์นิยาม 'Soft Power' 5 อย่าง ชี้ไม่ใช่เพียงสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง

24 พ.ย.2566 - นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความ เรื่อง Soft Power มีเนื้อหาดังนี้

ผมรู้สึกดีใจที่ผู้คนในสังคมไทย หันมาสนใจและถกเถียงกันเรื่องความหมายของ soft power
สำหรับผม power หรืออำนาจ หมายถึง การที่เราจะมีอิทธิพลในการตัดสินใจและการปฏิบัติการ/ดำเนินการของคนอื่น (หรือประเทศอื่น) ไม่ว่าจะในการให้เขาทำอะไร ไม่ทำอะไร เห็นว่าสิ่งใดสำคัญ/ไม่สำคัญ หรือควรจะคิด/รู้สึกกับเรื่องแต่ละเรื่องอย่างไร

ส่วนคำว่า soft ที่มาขยายความหน้า power นั้น แปลว่า เราไม่ได้ใช้ "อำนาจแข็ง" เช่น กำลังทางทหาร ข้อกำหนดทางกฎหมาย หรือแม้กระทั่ง อำนาจโดยตรงทางเศรษฐกิจ (เช่น การเป็นเจ้าหนี้) ในการบังคับหรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้อื่น (หรือประเทศอื่น) แต่เรากลับใช้ความ soft หรือ "ความรู้สึกที่ดีงาม/เป็นมิตร/ทำในสิ่งที่ถูกต้อง" ในการมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ/ปฏิบัติการของผู้อื่น (หรือประเทศอื่นแทน)

สำหรับผม คำว่า "soft power" จึงไม่ใช่ สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ภาพยนตร์/ศิลปะแนวใดแนวหนึ่ง หรืออะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็น "การสร้างความรู้สึกโดยรวม" ที่มีต่อตัวเรา หรือประเทศเรา

(การกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์ เช่น หมูกระทะ ช็อคมิ้นท์ จะไม่ใช่ soft power แต่มันไม่ใช่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็น soft power โดยลำพัง)

ผมจึงชอบคำกล่าวของคุณช่อ พรรณิการ์ ที่ว่า "ถ้าคุณอยากรู้ว่า ประเทศใดมี soft power คุณลองคิดดูว่า คุณอยากให้ลูกคุณไปเรียนที่ประเทศใด ประเทศนั้นแหละมี soft power"

ในกรณีนี้ อย่างน้อย ประเทศที่เรากำลังส่งลูกไปเรียนนั้นก็มี "อำนาจ" หรือ "อิทธิพล" ต่อการตัดสินใจของคุณที่มีต่อ "คนที่คุณรัก" และอาจเกี่ยวกับ "การลงทุนทางเศรษฐกิจ" ก้อนใหญ่ของคุณ และ "เวลา" หรือ "โอกาส" ในชีวิตของลูกของคุณ

แน่นอนว่า อิทธิพลของ soft power อาจถูกแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ อีก (นอกจากการไปเรียนต่อ) ตั้งแต่การไปเที่ยวประเทศนั้น การติดตามและแชร์ข้อมูลข่าวสารของประเทศนั้น การสมัครทุน/ให้ทุนการศึกษาแก่ประเทศนั้น (แล้วแต่กรณี) หรือแม้กระทั่ง การประกาศสนับสนุนประเทศนั้น ในการทำข้อตกลง/ระงับ/จัดการข้อพิพาทระหว่างประเทศ

เพื่อให้เห็นชัดเจนถึง "ความเป็นองค์รวม" ของ soft power ผมขอกล่าวถึง "เดนมาร์ก" ที่ผมและลูกสาวผมเคยไปเรียน "สวีเดน" ที่ลูกชายผมกำลังเรียนอยู่ และ "เนเธอร์แลนด์" ที่ผมเคยไปเรียนและลูกสาวกำลังสมัครไปเรียนอยู่

กรณีสวีเดน และเดนมาร์ก Soft power ที่ทั้งสองประเทศมีต่อผม (และอาจจะทั้งครอบครัว) คือ ความเป็นประชาธิปไตย การเป็นรัฐสวัสดิการ การเอาจริงเอาจังเรื่องพลังงานหมุนเวียน ความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา การออกแบบสไตล์นอร์ดิก ความเป็น Hygge (ความพร้อมหน้าพร้อมตาและอบอุ่น)

กรณีเนเธอร์แลนด์ Soft power ที่มีต่อผมคือ ความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ตลาดประมูลดอกไม้/ผัก การจัดการน้ำ ลำคลอง และกังหัน วิชาเศรษฐศาสตร์ที่คำนึงถึงสังคม การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา การเล่นฟุตบอลแบบโททัลฟุตบอล เจ้าชายที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ปัจจุบันเป็นกษัตริย์) ฯลฯ

เพราะฉะนั้น การถกเถียงถึง Soft power ไปทีละตัว (หรือทีละผลิตภัณฑ์) อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสังเกตจากคำตอบของผมจะเห็นว่า Soft power ไม่ใช่เพียง "สินค้าทางวัฒนธรรม" ที่เราชื่นชอบเท่านั้น หากแต่ในความรู้สึกของผมแล้ว soft power ที่จะมีให้แก่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะประกอบด้วย 5 อย่างด้วยกันคือ

หนึ่ง ความยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง/ควรจะเป็น (ข้อนี้ พูดกันน้อยไปหน่อยในประเทศไทย)

สอง ความสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์/ดีงาม และคิดไม่ถึง

สาม บรรยากาศโดยรวมของสังคม ที่สงบ อบอุ่น และไว้วางใจกันได้ในสังคม (องค์ประกอบนี้ ญี่ปุ่น ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่คนไทยชอบ)

สี่ สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและเราชื่นชอบ

ห้า โอกาสที่เราแต่ละคนจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศนั้น หรือคนนั้นโดยตรง (เช่น ไปเที่ยว อ่านหนังสือ ไปเรียนต่อ)

ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเขียนว่าเป็นคำนิยามที่ถูกต้องนะครับ เราอาจมีคำนิยามที่แตกต่างกันได้ และถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน

อย่างไรก็ดี ผมอยากให้รัฐบาลอธิบายความหมาย soft power ในมุมมองของรัฐบาลให้ชัดเจนนะครับ ไม่ใช่ในฐานะ อาจารย์ (หรือนักวิชาการหรือฝ่ายค้าน) ที่จะมาตรวจสอบรัฐบาลนะครับ แต่ในฐานะ "คนไทย" ที่จะช่วยรัฐบาลสร้าง soft power ร่วมกันนะครับ

และแม้กระทั่ง สิ่งใดที่รัฐบาลอาจไม่ได้กำหนดว่าเป็น soft power แต่ผมเห็นว่าสำคัญ ผมก็ยังจะพยายามช่วยทำต่อไป และจะช่วยทำให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อค้านหรือเพื่อแข่งกับรัฐบาลนะครับ แต่อยากจะช่วยเสริมสิ่งที่ผมเห็นว่ายังขาดอยู่เท่านั้น

เพราะท้ายที่สุดแล้วคำว่า "soft power" ไม่ได้เป็นของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งนะครับ แต่เป็นความรู้สึกที่ทั่วโลก (หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง) มีต่อ "คนไทย (หรือสังคมไทย) ทั้งมวล" ครับ

ป.ล. ภาพห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยลุนด์ที่แดนไทเรียนอยู่ครับ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปธ.กมธ.มั่นคง แนะ กต. ถกชาติมหาอำนาจช่วยกดดัน 'ว้าแดง' ถอนทัพเขตแดนไทย

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม

'โรม' สับรัฐบาลอ่อน เมียนมายังไม่ปล่อยตัวลูกเรือไทย แนะต้องประท้วงให้เข้มแข็งกว่านี้

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม

กกต.มอง ยิง 'สจ.โต้ง' เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กระทบเลือกตั้งอบจ. แต่ไม่ประมาท

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงเหตุยิงนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรืออดีตสจ.โต้ง ที่จ.ปราจีนบุรี

เลือกตั้งแปลกประหลาด 1ก.พ.เลือกส.อบจ. 76 จังหวัด เลือกนายกอบจ. 47 จังหวัด

กกต. เผยจัดเลือกตั้ง 1 ก.พ.68 เลือก ส.อบจ. 76 จังหวัด เลือก นายก อบจ. 47 จังหวัด เหตุลาออกก่อนและจัดเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้แปลกประหลาด ชี้การออกไปใช้สิทธิของประชาชน คือความชอบธรรมของผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง

ชาวแพรกษา เฮ! ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนให้ชนะคดีบ่อขยะส่งกลิ่นเหม็น

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางให้ "ชาวแพรกษา" สมุทรปราการ 163 คน ชนะคดีฟ้อง "ผู้ว่าฯ – นายก อบต.แพรกษา" ละเลยหน้าที่ ปล่อยเอกชนเช่าที่ทำบ่อขยะส่งกลิ่นเหม็นไฟไหม้ซ้ำซ้อนสร้างมลพิษ