'วราวุธ' ย้ำ พม. ประสานงาน ตำรวจ-กทม.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง ลุยแก้ปมขอทาน ระบุ หากขบวนการข้ามชาติ ต้องถูกดำเนินคดี-ส่งกลับ
23 พ.ย.2566 - นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาขอทานชาวต่างชาติที่เข้ามาหากินในประเทศไทย ว่ากรณีขอทานที่มาหากินในประเทศไทย ยืนยันว่าขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ไม่สามารถมาขอทานได้เพราะเรามีกฎหมายเอาผิด และเมื่อจับตัวได้แล้วหากเป็นคนไทยทาง พม.ก็จะรับช่วงต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนำตัวเข้าสู่สถานคุ้มครอง แต่หากเป็นขอทานชาวต่างชาติ พม.จะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ส่งกลับประเทศต้นทาง หรือหากพิสูจน์ได้ว่าหากเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการภายหลังการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) ในการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป
นายวราวุธ กล่าวว่า การที่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐเราก็ต้องขอขอบคุณ การที่ออกสื่อเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ช่วยในการแจ้งเบาะแสได้ ทางเจ้าหน้าที่ พม. ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนคนใดพบเห็นเหตุ ขอให้แจ้งเบาะแสเข้ามาได้ เพราะนอกจากเอกชนแล้ว พม. และหน่วยงานของรัฐเราก็มีศูนย์รับแจ้งโดยตรงเช่นกัน อาจจะทำงานไม่ทันใจเราก็ต้องขออภัย เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีอยู่หยิบมือเดียวหากเทียบกับประชาชนทั่วประเทศที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาได้ หากทุกคนช่วยกันแจ้งเบาะแสเข้ามาเราต้องขอขอบคุณ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ขอทานต่างชาติเป็นชาวจีนถูกจับถึง 7 คน นั้น มองว่าเป็นขบวนการหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ก็ต้องดูสาเหตุว่าการที่เขาเดินทางเข้าประเทศ เป็นการเดินทางเข้ามาอย่างไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการใดหรือไม่ แต่ พม.เราไม่มีอำนาจในการสอบสวนหรือดำเนินการ ดังนั้นต้องรอข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อถามว่า ในส่วนประเทศไทยเองก็มีขบวนการขอทาน ในเชิงธุรกิจสงเคราะห์เช่นกัน ตรงนี้ พม.จะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างไร รมว.พม. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการของ พม. เราทำงานร่วมกับอีกหลายภาคส่วน มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำงานควบคู่กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การที่จะบอกว่าเป็นขบวนการหรือไม่นั้น เราก็ต้องทำงานร่วมกับตำรวจในการดูว่า มีการทำงานอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ ขอย้ำว่า ปัญหาเรื่องขอทานไม่ยากเลยหากประชาชนที่เดินผ่านไปผ่านมา ร่วมใจกันอย่าให้เงินแก่ขอทาน เมื่อเขาไม่ได้เงินมันก็ไม่เป็นธุรกิจ ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วการแก้ปัญหาขอทานถ้าว่ายากมันก็ยาก ปราบปรามเก็บกวาดเท่าไหร่ก็เกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ การแก้ปัญหาขอทาน คือ ไม่ให้เงินขอทานเท่านั้นก็จบ เพราะเท่าที่มีข้อมูลขอทานบางคนมีเงินมากกว่านักศึกษาจบปริญญาตรีเสียอีก ดังนั้นสำคัญที่สุดคือคนไทยเป็นคนใจบุญแต่เราต้องใจบุญในทางที่ถูกต้องดีกว่า อย่าส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย
เมื่อถามว่า ล่าสุดมีการสรุปหรือไม่ว่าขอทานชาวจีนที่ถูกจับนั้น ร่วมขบวนการขอทานข้ามชาติหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า การจะได้ข้อมูลดังกล่าวเราต้องรอทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ พม.ไม่มีอำนาจไปสอบสวน และที่สำคัญเราต้องใช้ทีมสหวิชาชีพในการเข้าพูดคุย ตรวจสอบกับผู้เสียหายก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และทำงานเพื่อนำข้อมูลประสานงานกับทางตำรวจ การจะตัดสินได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ หรือเป็นขบวนการอย่างไรนั้น มีขั้นตอน และมีองค์ประกอบอยู่ ซึ่งการตรวจสอบในชั้นนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบว่าเข้าข่ายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากทราบผลตำรวจคงได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียก่อน
เมื่อถามว่า ในบ้านเราที่ผ่านมาเคยมีกระบวนการลักษณะนี้หรือไม่ที่จะเข้าข่ายค้ามนุษย์ และนำเข้ามาเพื่อการแสวงหาประโยชน์ นายวราวุธ กล่าวว่า เคยมี ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราต้องเร่งทำงาน เพราะประเทศไทยต้องส่งทริปรีพอร์ตให้กับสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ ดังนั้นเท่ากับว่ายังไม่กระทบกับการทำทริปรีพอร์ตของไทย ยังมีเวลาอีกสักพักหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มีล่ามหรือทนายความคนเดิมๆ เข้ามาช่วยในคดีขอทานจีน จะสามารถมองได้หรือไม่ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ นายวราวุธ กล่าวว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็น แต่การที่จะยืนยันให้ได้ว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้นต้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนยืนยัน คงจะไม่ใช่ทาง พม.ที่จะยืนยัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'มาริษ' บอกยิ่งลักษณ์ยังไม่ประสานกลับไทยไม่รู้พ่อนายกฯ มีกี่สัญชาติ!
'มาริษ' เผยคืบตั้ง คกก.เจทีซี รอพิจารณาเพิ่มบุคคล ยันชง ครม. เร็วที่สุด ปัด 'ยิ่งลักษณ์' ยังไม่ประสานกลับไทย
'มาริษ' มั่นใจไม่ว่าใครเป็นประธานธิบดีสหรัฐความสัมพันธ์ก็ยังมั่นคงเหมือนเดิม!
'มาริษ' บอกไม่มีปัญหาใครมาเป็นหัวเรือสหรัฐฯ ความสัมพันธ์กับไทยยังมั่นคงชัดเจนเหมือนเดิม ตามนโยบาย 'นายกฯอิ๊งค์' ผลประโยชน์ต้องวินๆทั้งสองฝ่าย
'มาริษ' ยันเจรจาพื้นที่ทับซ้อน กต.จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด!
รมว.กต.ยืนยันผลการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องเห็นชอบก่อน - ย้ำผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน – ชี้ MOU44 เป็นกลไกทำให้การเจรจาเดินหน้าได้
'แพทองธาร' ปลื้มไทยได้รับเลือกเป็นคณะมนตรี UNHRC ด้วยคะแนนสูงสุด
นายกฯ รับรายงาน เวที UN โหวตให้ไทยเป็นคณะมนตรี UNHRC 1 ใน 18 ประเทศด้วยคะแนนสูงสุด
'มาริษ' ขอบคุณนานาชาติเลือกไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
'รมว.กต.' ขอบคุณ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ
การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์