'จักรภพ' วิเคราะห์ภาพมังกรจีนบนเวทีเอเปก!

'จักรภพ' คืนวิญญาณนักวิเคราะห์ ชี้จีนยุคนี้ต้องก้มหน้าเข้าประชุมเอเปก เพราะมีแต่ปัญหารุมเร้า สอนรัฐไทยจับตาผลเจรจาสหรัฐ-จีนให้ดี พร้อมแนะหาความหมายและเจตนาของการมีชีวิตให้ได้ก่อน แล้วจึงหาวิธีหาเงิน

16 พ.ย.2566 - นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกมนตรีคนใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “คราวนี้อาจต้องก้มหน้าเข้าอเมริกา?” มีเนื้อหาว่า ผู้นำสูงสุดของจีน สี จิ้นผิง มาสหรัฐอเมริกาครั้งก่อนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2561 โดยมาแบบเชิดหน้าและมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม ภาพ สี นั่งชนแก้วกับ โดนัลด์ ทรัมป์ที่บ้านของทรัมป์ "มาร์-ลา-โก้" ฟลอริด้า ยังหาดูได้ทั่วไป แต่การมาอเมริกาเพื่อร่วมประชุมเอเปกเที่ยวนี้ สี อาจจะลดความภาคภูมิลงไปไม่น้อย เพราะเมืองจีนในครั้งนั้นกับในครั้งนี้มีความแตกต่างกันอยู่มาก สถานที่ประชุมในครั้งนี้คือ นครซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางเวสต์โคสต์ (West Coast) หรือฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และการประชุมครั้งนี้คือ APEC 2023 (เอเปก 2023) หรือ The Asia-Pacific Economic Cooperation 2023 ที่ไทยเราเคยรับเป็นเจ้าภาพจนโด่งดังไปทั่วโลกมาแล้ว

เมื่อ พ.ศ. 2561 ผู้คนในโลกเชื่อกันมากว่า จีนกำลังจะเข้ามาแทนที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะโมเดล / ตัวแบบ ในเศรษฐกิจโลก ขณะนั้นเศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างเร่าร้อนรุนแรง เสี่ยงต่อภาวะ overheated หรือ ร้อนจนเดือดอยู่หลายครั้ง สูงกว่าผลพยากรณ์ในทางเศรษฐกิจของประเทศไหนทั้งนั้น อัตราการว่างงานของประเทศอยู่ในช่วงที่ต่ำที่สุดห้วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะเสมือนนำคนจีนทั้งเมืองเข้าสู่การฝึกอบรมเพื่อเตรียมตัวเป็น กองทัพพคนงานสมัยใหม่ (economic workforce) ตัว สี จิ้นผิง ในขณะนั้น ก็กำลังรวบรวมพละกำลังทางการเมืองในการก้าวจากผู้นำที่มีสิทธิ์ครองอำนาจได้ 5 ปี 2 สมัย มาสู่ความเป็นผู้นำที่ไม่มีกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่ง ต่ออายุได้ทีละ 5 ปีเรื่อยไปอย่างไม่มีกำหนด หรือจะเรียกว่าผู้นำตลอดชีพก็ยังได้ รวมความว่า ในขณะนั้น สี จิ้นผิง และสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังเรืองรองอยู่บนยอดเขาแห่งอำนาจในระดับโลก

แต่เมื่อเขาก้าวเท้าลงสัมผัสพื้นคอนกรีตของสนามบินซานฟรานซิสโกในครั้งนี้ เมืองจีนช่วงหลังวินาศภัยโควิดฯ กลายเป็นเศรษฐกิจที่เครื่องยนต์ยังเดินไปข้างหน้าแต่ติดๆ ขัด ๆ ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังเกิดวิกฤติหนี้สิน (credit crisis) ที่ทับถมกันอย่างรวดเร็ว รอบตัวมีสิ่งที่คนจีนเรียกขานว่า "ระเบิดหนี้" หรือ "debt bombs" ทั่วไปหมด อัตราว่างงานสูงลิ่วเพราะการไล่คนออกจากธุรกิจต่างๆ รวมทั้งธุรกิจเทค ทำให้มีคนรุ่นหนุ่มสาวอยู่ในภาวะว่างงานหลายสิบล้านคนทั่วประเทศ ในหมู่คนจีนเกิดสำนวนถากถางที่เรียกกันว่า "lying flat" หรือ "นอนแผ่" ว่างกันมากมายถึงขนาดที่รัฐบาลจีนไม่ยอมออกประกาศอัตราคนว่างงานมานานแล้ว ความวิตกจริตเรื่องสายลับต่างชาติที่ถูกส่งมาก่อวินาศกรรมในเมืองจีน ที่ดูจะกลายเป็นโรคจิตชนิดใหม่ ส่งผลทำให้รัฐบาลจีนควักเอากฎหมายต่อต้านการทำจารกรรม (anti-espionage) มาใช้แบบบ่อยครั้งจนพร่ำเพรื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐบุกเข้าตรวจสอบแทรกแซงการทำงานของบริษัทต่างชาติบ่อยครั้งและเป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าของบริษัทและนายทุนจำนวนที่สูงมากจนน่าตกใจ ไหลออกจากเมืองจีนแบบไม่เหลียวหลัง ในทางการเมือง สี จิ้นผิง ก็กวาดล้างผู้นำวงในที่อยู่รอบตัวด้วยข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ความประพฤติส่วนตัวไม่เหมาะสม และแม้แต่ด้วยข้อหาจารกรรมเลยด้วยซ้ำ ผู้นำในตำแหน่งระดับสูงขนาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหมเริ่มหายตัวไปเฉย ๆ ได้ เมืองจีนภายใต้ สี จิ้นผิง วันนี้จึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอนาคตเริ่มเลือนราง ดูจะระมัดระวังมากขึ้นในการแสดงอำนาจ

เมื่อคืนนี้ของไทย ตามเวลาท้องถิ่นในภาคตะวันตกของสหรัฐฯ 11.17 น. สี จิ้นผิง กับ โจ ไบเดน ได้พบปะกันเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี หลังจากที่พบกันในที่ประชุม G-20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย เรื่องที่ทั้งสองฝ่ายเตรียมมาคุย (ต่อว่า) กันนับเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะแก้ไขให้ลุล่วงได้ในการประชุมเพียงรอบเดียว เราลองดูตัวอย่างสักนิดทางฝั่งจีนก่อนก็ได้ครับ

1.จีนต่อว่าสหรัฐอเมริกาว่า ตั้งใจเก็บภาษี (tariffs) สินค้านำเข้าจากเมืองจีนในอัตราที่สูงลิบลิ่ว โดยมีเจตนาให้ราคาขายต้องแพงตามและไม่สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้
2.จีนต่อว่าสหรัฐอเมริกาว่า เจตนาหาเรื่องบริษัทของจีนด้วยคำกล่าวหาจารกรรมและอื่น ๆ จนรายการบริษัทต้องห้าม (black list) จากจีน สูงขึ้นเป็นเท่าตัวของอดีตอันใกล้
3.ต่อเรื่องจากข้อ 2 จีนยังกล่าวหาว่ารัฐบาลไบเดนจงใจเจตนาเก็บกฎหมายและระเบียบที่ออกมาในสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อต่อต้านจีน เอาไว้ใช้ต่อ ทั้งที่ประกาศว่ามีนโยบายที่สวนทางกัน
4.จีนต่อว่าสหรัฐอเมริกาว่า กีดกันจีนในการเข้าถึงไมโครชิปของสหรัฐ ทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานของหลายธุรกิจโดยไม่จำเป็น
5.เหตุการณ์บอลลูนจารกรรมลึกลับที่ถูกส่งเข้าไปในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก
6.การเลือกตั้งในไต้หวันที่จะมีขึ้นและอาจจะเป็นเชื้อไฟในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาได้ทุกเมื่อ
7.ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ของหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
8.ปัญหารัสเซียและยูเครน
9.ปัญหาเกาหลีเหนือ

ความจริงแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสอง มากกว่าการตั้งสมมติฐานอยู่บนความขัดแย้งหรือข้อพิพาทและบริหารไปตามนั้น ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (economic partnership) เป็นสิ่งที่จำเป็นในเรื่องบางเรื่องโดยเฉพาะ เช่น AI (Artificial Intelligence) อาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิคส์ (Cyber Crimes) การเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศโลก (Climate Change) เป็นต้น ถ้าผู้นำ (ในวัยชรา) ทั้งสองคนสามารถมองเห็นการณ์ไกลและก้าวข้ามความขัดแย้งในเรื่องที่เล็กกว่าได้ โอกาสในการแก้ไขปัญหาของโลกก็จะสูงขึ้น

มองแบบวิเคราะห์กันแล้ว ผมคิดว่านี่คือการแข่งขันระหว่างรูปแบบทางเศรษฐกิจ 2 รูปแบบของโลกหลังระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้สหภาพโซเวียต ได้แก่:
1.จีน = ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบควบคุมโดยรัฐ
2.สหรัฐอเมริกา = ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์และกลไกตลาด

จะเห็นได้ว่า กลไกทุนนิยม (capitalistic mechanisms) คือปัจจัยร่วมกันระหว่างทั้งสหรัฐฯ และจีน จะมาแตกต่างกันก็ที่ระบบการ "ควบคุม" และการบริหารจัดการระบบทุนนิยมนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวคิดสังคมนิยม ทั้งโครงสร้างและองคาพยพ ถูกลดรูปลงมาเป็นนโยบายสวัสดิการสังคมที่มีความหลากหลายทั้งในแง่การลงทุนและการมอบสิทธิประโยชน์ ตลอดจนอำนาจควบคุมของรัฐต่อระบอบเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งก็ไม่ได้หายไปไหน มีแต่หด

อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับผลการคุยนี้มาก แต่เราก็ต้องมุ่งหน้าสร้างตลาดภายในและภายนอกไว้รองรับตัวเราอย่างเต็มที่ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าตลาดคือ วิถีชีวิต ที่เราเริ่มคิดได้แล้วว่าตัวเราต้องมีวิถีชีวิตแบบไหนและรัฐไทยควรมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมสิ่งเหล่านี้

พูดง่ายๆ คือ หาความหมายและเจตนาของการมีชีวิตให้ได้ก่อน แล้วจึงหาวิธีแสวงหาทุนหรือเงิน.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'มาริษ' ขอบคุณนานาชาติเลือกไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

'รมว.กต.' ขอบคุณ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ

'ดร.ธรณ์' ชี้มหาพายุเฮอริเคน 'มินตัน' สภาพอากาศสุดขั้ว คนอเมริกานับล้านต้องอพยพหนี

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

หยาม 'ธนาธร' ไม่กล้าดีเบต คนเห็นต่าง ถนัดแต่ดีเบตคนเดียวตามรร.มัธยมให้เด็กฟัง

วิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ธนาธร บอกว่า"ไปดีเบตไม่ได้ครับผม มีเงื่อนไขบางประการที่ไม่สามารถบอกได้"