3 พ.ย. 2566 – ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เชื่อมั้ย ? ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ต่ำสุด 3 บาท !
หลายคนคงไม่เชื่อว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ต่ำสุด แค่เพียง 3 บาทเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบจากการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเหลือ 20 บาทตลอดสาย ทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายหนึ่งมีราคาสูงสุดเพียง 6 บาทเท่านั้น ถูกกว่าค่าโดยสารรถเมล์ !
1.ทำความเข้าใจนโยบาย 20 บาทตลอดสาย
นโยบาย 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงนั้นไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องจ่าย 20 บาท แต่หมายความว่าค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท นั่นคือก่อนมีนโยบายนี้ผู้โดยสารที่เคยจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท ก็ยังคงจ่ายราคาเดิมหลังจากมีนโยบายนี้แล้ว เช่น เคยจ่าย 17 บาท ก็จ่าย 17 บาทเท่าเดิมต่อไป
2.รถไฟฟ้าสายไหนมีค่าโดยสารต่ำสุด 3 บาท ?
การเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปยังสายสีม่วง จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีค่าโดยสารต่ำสุดเพียง 3 บาทเท่านั้น
ในปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 17 – 43 บาท และค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง 14 – 20 บาท (ไม่ใช่ 20 บาทตลอดสาย)
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 17 – 43 บาท หมายถึงค่าโดยสารต่ำสุด 17 บาท สูงสุด 43 บาท ในส่วนของค่าโดยสารต่ำสุด 17 บาทนั้น ประกอบด้วย “ค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้า” 14 บาท ซึ่งเป็นค่าเข้าสู่ชานชาลารถไฟฟ้าที่สถานีแรก ยังไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้า และค่านั่งรถไฟฟ้าจากสถานีแรกไปสู่สถานีที่ 2 ราคา 3 บาท
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง 14 – 20 บาท หมายถึงค่าโดยสารต่ำสุด 14 บาท สูงสุด 20 บาท ในส่วนของค่าโดยสารต่ำสุด 14 บาทนั้น คิดเฉพาะ “ค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้า” เท่านั้น ซึ่งหมายถึงค่าเข้าสู่ชานชาลารถไฟฟ้าที่สถานีแรก ยังไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้า เมื่อขึ้นรถไฟฟ้าแล้วค่าโดยสารจะเพิ่มเป็น 17 บาท ไปจนถึงสถานีที่ 2 ดังนั้น อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ถูกต้องคือ 17 – 20 บาท
ยกตัวอย่างการเดินทางจากสถานีบางอ้อไปสู่สถานีบางซ่อน จะต้องนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีบางอ้อไปสู่สถานีเตาปูน ค่าโดยสาร 19 บาท แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากสถานีเตาปูนไปสู่สถานีบางซ่อน ค่าโดยสาร 17 บาท แต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลดค่าโดยสารบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ 14 บาท (ซึ่งเป็นค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้า) เหลือ 3 บาท (17 – 14) นั่นหมายความว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงบนเส้นทางนี้ถูกมากคือแค่เพียง 3 บาทเท่านั้น ทำให้ค่าโดยสารรวมตลอดเส้นทางจากสถานีบางอ้อไปถึงสถานีบางซ่อนเท่ากับ 22 บาท (19+3)
3.ทำไม รฟม. จึงลดค่าโดยสารให้ 14 บาท สำหรับการเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปสู่สายสีม่วง ?
14 บาท เป็น “ค่าแรกเข้าระบบรถไฟฟ้า” ซึ่งหมายถึงค่าเข้าสู่ชานชาลารถไฟฟ้าที่สถานีแรก ยังไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้า เมื่อขึ้นรถไฟฟ้าแล้วค่าโดยสารจะเพิ่มเป็น 17 บาท และจะเพิ่มขึ้นต่อไปตามจำนวนสถานีแต่ไม่เกินค่าโดยสารสูงสุด
เหตุที่ รฟม. ลดค่าแรกเข้าให้ก็เพราะว่าได้เก็บค่าแรกเข้าที่สถานีแรกบนสายสีน้ำเงินแล้ว ไม่ต้องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนบนสายสีม่วงอีก กรณีเดินทางจากสถานีบางอ้อไปสู่สถานีบางซ่อน รฟม. ได้เก็บค่าแรกเข้าที่สถานีบางอ้อแล้ว จึงไม่ต้องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำอีกครั้งที่สถานีเตาปูนเมื่อผู้โดยสารเปลี่ยนจากสายสีน้ำเงินไปสู่สายสีม่วงที่สถานีเตาปูน
4.นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีค่าโดยสารสูงสุดเพียง 6 บาทเท่านั้น สำหรับการเดินทางจากสายสีน้ำเงินไปสู่สายสีม่วง
ยกตัวอย่างการเดินทางจากสถานีบางอ้อไปสู่สถานีตลาดบางใหญ่ จะต้องนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีบางอ้อไปสู่สถานีเตาปูน ค่าโดยสาร 19 บาท แล้วเปลี่ยนไปนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากสถานีเตาปูนไปสู่สถานีตลาดบางใหญ่ ค่าโดยสาร 20 บาท ซึ่งเป็นค่าโดยสารสูงสุดของสายสีม่วง แต่ รฟม. ลดค่าโดยสารบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้ 14 บาท เหลือ 6 บาท (20-14) นั่นหมายความว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงสูงสุดบนเส้นทางนี้เท่ากับ 6 บาทเท่านั้น ทำให้ค่าโดยสารรวมตลอดเส้นทางจากสถานีบางอ้อไปถึงสถานีตลาดบางใหญ่เท่ากับ 25 บาท (19+6)
5.สรุป การเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปสู่สายสีม่วง (ขอย้ำว่าเป็นการเดินทางตามเงื่อนไขนี้คือจากสายสีน้ำเงินไปสู่สายสีม่วงเท่านั้น) ส่งผลให้ค่าโดยสารบนสายสีม่วงต่ำสุด 3 บาท สูงสุด 6 บาท ถูกกว่าค่าโดยสารรถเมล์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนบักโกรกไปอีกนานแสนนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟท.จัด 4 มาตรการพิเศษรับช่วงเทศกาลปีใหม่
'ศศิกานต์' เผยการรถไฟแห่งประเทศไทย จัด 4 มาตรการพิเศษ ส่งประชาชนกลับบ้านปลอดภัยช่วงปีใหม่ 2568
เช็กเลย! ค่าฝุ่น PM2.5 รายพื้นที่ทั่วไทย
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด