มีหน้าแหก โพลสภาเสียงโหวตส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ร่างพรบ. ยุบกอ.รมน. ของก้าวไกล ส่อวืด เหตุเป็นร่างพรบ.การเงินต้องให้นายกฯเซ็นรับรอง แต่ 'เศรษฐา' ค้าน มีแววเป็นหมัน!
01 พ.ย.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงความเคลื่อนไหวในการเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือที่เรียกกัน ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.ของส.ส.พรรคก้าวไกล ที่นำโดย นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พบว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของ สส.พรรคก้าวไกล ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นร่างพรบ.เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งทำให้ ต้องไปเข้าองค์ประกอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่บัญญัติว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภา โดย สส.หรือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน หากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเซ็นชื่อรับรองให้ ทางสภาถึงจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกขั้นรับหลักการได้ โดยหากนายเศรษฐา ไม่เซ็นรับรอง ก็ไม่สามารถส่งร่างดังกล่าวไปบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.กอ.รมน.ดังกล่าวของพรรคก้าวไกล อยู่ในขั้นตอน รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บไซด์ของรัฐสภา ซึ่งได้มีการเปิดรับฟังตั้งแต่ วันที่ 30 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา พบว่า ในช่องแบบสอบถามความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพรบ.ยกเลิกพรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พ.ศ. ...ที่ปรากฏในเว็บไซด์ของสภาผู้แทนราษฎร มีการตั้งคำถามเช่น ท่านเห็นด้วยกับการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หรือไม่ อย่างไร และท่านเห็นด้วยกับการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ข้าราชการพลเรือนที่ประจำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไปเป็นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
โดยมีคำถามสำคัญคือคำถามสุดท้ายที่ว่า “ท่านเห็นสมควรให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านเป็นกฎหมายหรือไม่” โดยมีช่องให้กรอกสามคำตอบคือ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย-งดออกเสียง ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปแสดงความเห็น จะต้องกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักด้วย ความเห็นดังกล่าวจึงจะได้รับการบันทึกไว้ ที่น่าสนใจคือ พบข้อมูลจากเว็บไซด์ของสภาฯเมื่อช่วงเช้ามืด วันที่ 1 พ.ย. ตามลิงค์นี้ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=285 พบว่ามี ผู้แสดงความคิดเห็น 46179 คน โดย เห็นด้วย 27.66% ไม่เห็นด้วย 71.77% งดออกเสียง 0.57%
ขณะเดียวกัน พบว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 มีการบัญญัติว่า "ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาฯกับประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะร่วมกันวินิจฉัย โดยใช้เสียงข้างมากตัดสิน ซึ่งช่องทางดังกล่าว ก็พบว่า จากปัจจุบันที่มีประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภารวม 35 คนจาก 35 คณะ พบว่าเสียงส่วนใหญ่ เป็นประธานกรรมาธิการจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีประธานกรรมาธิการที่มาจากฝ่ายค้านที่นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว ก็ยังมี จากพรรคประชาธิปัตย์และไทยสร้างไทย ประมาณ 11 คนเท่านั้น ทำให้เสียงน้อยกว่าประธานกรรมาธิการจากพรรคร่วมรัฐบาล
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ฯ ดังกล่าวของพรรคก้าวไกล ระบุหลักการ-เหตุผลในการเสนอร่างฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ให้ทหารมีอำนาจมากในการดำเนินงานเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ผ่าน กอ.รมน.ที่มีลักษณะความสลับซับซ้อนภายในองค์กร และยังเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น ทำให้สิ้นเปลืองกำลังคน งบประมาณของประเทศ จึงไม่เหมาะสมให้มีหน่วยงานนี้ในบริบทสังคมปัจจุบันอีกต่อไป เห็นสมควรยุบ กอ.รมน.จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้
โดยพบว่าร่าง พ.ร.บ.ยุบกอ.รมน.ของพรรคก้าวไกล มีด้วยกัน 5 มาตรา ซึ่งนอกจากเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.กอ.รมน.ที่หากยกเลิกสำเร็จจะทำให้ กอ.รมน.สิ้นสภาพไปตามกฎหมาย ก็พบว่าในมาตรา 4 เขียนไว้ว่าให้โอนบรรดา กิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ข้าราชการพลเรือน ที่ประจำ กอ.รมน. พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของ กอ.รมน.ไปเป็นของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งการเสนอให้โอนทรัพย์สินดังกล่าว จึงน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สภาเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.ของพรรคก้าวไกล ถือเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินที่ต้องให้นายกฯเซ็นรับรองนั่นเอง
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ใช้ในปัจจุบัน ให้ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง และมี ผู้บัญชาการทหารบกเป็น รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ตามกฎหมายดังกล่าว ในส่วนของ โครงสร้างกอ.รมน.ยังให้มี กอ.รมน.ภาค ที่จะมี แม่ทัพภาค เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค หรือ ผอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดหรือ ผอ.รมน.จังหวัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปปช.เปิดทรัพย์สิน 'ก่อแก้ว' สุดอู้ฟู่รวย 263 ล้านบาท
เปิดเซฟ 'ชัยธวัช ตุลาธน' อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล 19.3 ล้านบาท 'อภิชาติ' อดีตเลขาธิการพรรค 13.2 ล้านบาท 'ก่อแก้ว' อู้ฟู่ 263 ล้าน
ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
'รอมฎอน' โต้ 'อ.สุรชาติ' ยังคงละเลย การตายที่ไร้เสียง หลายเหตุการณ์
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บทความล่าสุดของ อ.สุรชาติ บำรุงสุข มาแล้วครับ แม้ว่าจะออกตัวว่าเป็นการสำรวจ
'รอมฎอน' ชี้ช่องใช้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศลุยคดีตากใบ!
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
'รอมฎอน' ชี้คำขอโทษของนายกฯจะมีความหมาย เมื่อได้ทำทุกอย่างไม่ให้เกิดอันตรายต่อปชช.
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงวันครบรอบ 20 ปีคดีตากใบ ว่า