UN 6 คณะ ส่งหนังสือถึงรัฐไทยเรียกร้องให้ชี้แจงข้อเท็จจริงจากการขาดความรับผิดและมาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่และการคุกคามทางออนไลน์ต่อ“อังคณา-อัญชนา” พร้อมเสนอ 5 ข้อ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
29 ต.ค.2566 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กร Protection International ซึ่งทำงานสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและอำนวยความสะดวกให้ นางอังคณา นีละไพจิตร และ น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้เข้าถึงความยุติธรรมกรณีการถูกโจมตีและละเมิดสิทธิออนไลน์โดยการทำไอโอ ได้เผยแพร่เอกสารแปลของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติที่ส่งถึงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดยคณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ 6 คณะซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง , ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม , ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง สาเหตุ และผลลัพธ์ ได้ส่งหนังสือ(ลำดับที่ AL THA 3/2023 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2566) ถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้รัฐบาลไทยชี้แจงข้อเท็จจริงจากการขาดความรับผิดและมาตรการคุ้มครองต่อการข่มขู่ และการคุกคามทางออนไลน์ ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสองท่าน ได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ
ในบางช่วงของหนังสือ ระบุว่า แม้ว่าศาลแพ่งกรุงเทพฯ จะมีคำพิพากษาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีรายงานว่า ศาลตระหนักว่าบุคคลทั้งสองได้รับผลกระทบจากการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ จากการทำหน้าที่ในฐานะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งสมควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รายงานเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามทางอินเทอร์เน็ตต่อ อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID) และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน
ผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ต่ออังคณา นีละไพจิตร ซึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ฟาร์มไก่ของบริษัทไทยแห่งนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้รายงานพิเศษได้นำเสนอ ในจดหมายที่ส่งถึงรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 (เลขที่ AL THA 3/2020) ด้วย
คณะผู้รายงานสหประชาชาติ ได้ตั้งคำถามรัฐบาลไทยโดยให้รัฐบาลระบุถึงมาตรการ ภายหลังจดหมายก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลของไทยนำมาใช้เพื่อประกันว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะสามารถดำเนินงานอันชอบธรรมของตนต่อไปได้ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน โดยไม่ต้องกลัวต่อการข่มขู่หรือความเสี่ยงที่จะถูกตอบโต้และคุกคาม ทั้งออฟไลน์และออนไลน์
ทั้งนี้คณะผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ยังได้มีคำถาม 5 ข้อถึงรัฐบาลไทยในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ให้รัฐบาลไทยระบุถึงมาตรการที่ได้นำมาใช้ เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การเยียวยา และการประกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร และ น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ และ ขอให้รัฐบาลไทยระบุถึงมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่นำมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงให้รัฐบาลไทย ระบุถึงมาตรการที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองบูรณภาพทางกายและใจของ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ เมื่อคำนึงถึงการข่มขู่และคุกคามที่เกิดขึ้นกับพวกเธออย่างต่อเนื่อง
“แม้เราไม่ประสงค์จะตัดสินล่วงหน้าเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อกล่าวหาเหล่านี้ เราขอแสดงความกังวลต่อรายงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการข่มขู่และคุกคามทางอินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพ ต่อ อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ซึ่งเป็นการขัดขวางความพยายามที่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพด้านการชุมนุมอย่างสงบ การสมาคม การแสดงความเห็น และการแสดงออกของพวกเธอ รวมทั้งสิทธิที่จะปลอดจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ” คณะผู้รายงาน กล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบกลับผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ว่าได้รับหนังสือของคณะผู้รายงานพิเศษ สหประชาชาติแล้ว และจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยหนังสืบตอบกลับไม่ได้ตอบข้อคำถาม หรือชี้แจงข้อห่วงกังวลของคณะผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด
ขณะที่ น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่ผู้ถืออาณัติของวิธีพิจารณาวิสามัญคือผู้รายงานพิเศษ UN 6 คณะให้ความสนใจและมีคำถามมายังรัฐบาลไทย นั่นหมายถึงว่าต้องการให้มีการให้ความสนับสนุนให้เกิดการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทั้งสองคน รวมถึงให้ระบุถึงมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมที่นำมาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจมตีทำร้ายด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนท่านอื่นๆด้วย
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า นับเป็นเวลาหลายปีที่ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยรัฐไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการยุติการคุกคามในการทำงานในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ยืนเคียงข้างผู้เสียหายและไม่มีความรับผิดชอบใดๆต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนังสือที่คณะผู้แทนพิเศษทั้ง 6 ส่งถึงรัฐบาลไทยถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเพราะน่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่ผู้รายงานพิเศษด้านต่างๆของสหประชาชาติพร้อมใจกันลงนามในหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการคุกคาม การด้อยค่า การใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์
“ที่ผ่านมาได้เคยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหลายครั้งเพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และยุติการคุกคามนี้ แต่หน่วยงานของรัฐกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้นำปัญหานี้มาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าหน่วยงานของรัฐอาจเป็นผู้สนับสนุนเว็บไซต์ pulony.blogspot.com ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ที่ใส่ร้ายป้ายสี ด้อยค่าและใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กรณีของตัวเองถือเป็นเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกมากมายที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดบางประการโดยเฉพาะความกังวลต่อผลกระทบต่อครอบครัวจึงทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงเหล่านี้ไม่กล้าแจ้งความหรือเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ ผลการถูกคุกคามยังส่งผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้พวกเธอรู้สึกไร้อำนาจและไร้คุณค่า” นางอังคณา ระบุ
เธอระบุด้วยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยประกาศตัวเพื่อสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (HRC) ในปี 2568 ประเทศไทยจึงควรแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ให้คำมั่นต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องไม่อดทนต่อการใส่ร้ายป้ายสี และการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และต้องมีมาตราเร่งด่วนที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการยุติการคุกคาม และมีการชดใช้การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น” –ขณะที่อัญชนาระบุเช่นกันว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีองค์กรระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและได้เน้นย้ำในเรื่องของความยุติธรรมที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจะต้องได้รับทั้งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา ซึ่งในกระบวนการต่อสู้ที่ผ่านมาที่เรายังขาดอยู่มันสอดคล้องต่อการลุกขึ้นมาเรียกร้องของเราด้วย
ด้าน น.ส. อัญชนา ระบุถึง กรณีที่ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบกลับผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 คณะโดยไม่ได้ตอบข้อคำถามหรือชี้แจงข้อห่วงกังวลของคณะผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใดแต่ระบุเพียงว่าจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ตระหนักถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับสหประชาชาติโดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ต่อการสื่อสารกับสหประชาชาติ กระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการเพื่อชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายต่างๆ มันแสดงให้เห็นถึงกลไกของระบบของความไม่รับผิดชอบและการไม่รับผิดใดๆ ของรัฐในประเทศไทยถึงแม้ ซึ่งเราจะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้รัฐปรับปรุงในสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่ดี
” หนังสือที่คณะผู้แทนพิเศษทั้ง 6 ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยส่งผลดีในแง่ที่ทำให้ศาลไทยเข้าใจถึงกลไกระหว่างประเทศ มันไม่ใช่เป็นการแทรกแซงระหว่างประเทศแต่มันทำให้องคาพยพของรัฐในประเทศไทยเข้าใจกลไกระหว่างประเทศมากขึ้นและทำให้รัฐมีความเป็นสากลมากขึ้น อยากบอกให้ทุกคนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือผู้ที่ถูกละเมิดโดยรัฐลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเองเพื่อที่จะทำให้ความรับผิดชอบของรัฐเกิดขึ้น ทำให้รัฐเปลี่ยนแปลงเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น” น.ส.อัญชนา ระบุ
ด้านนายสัญญา เอียดจงดี ทนายความกล่าวว่าหนังสือที่ผู้แทนยูเอ็นทั้ง 6 มีออกมาในครั้งนี้นั้นจะมีผลทางนโยบายของรัฐที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตถ้ารัฐบาลปัจจุบันได้รับหนังสือแล้วนำไปอนุวัติต่อ โดยสิ่งที่รัฐตอบกลับผู้แทนยูเอ็นคือได้ส่งต่อหนังสือไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งประเด็นที่เราอยากเห็นความชัดเจนคือการหาตัวคนกระทำความผิดซึ่งหมายความว่าจะเป็นคู่ขนานไปกับการพิสูจน์ในคดีของเรา และเราได้ตั้งไว้แล้วว่าคนทำผิดไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐสุดท้ายแล้วถ้าภาพใหญ่ก็คือรัฐและมันจะนำมาสู่การเยียวยา ซึ่งจะเป็นการเยียวยาโดยอำนาจศาลหรืออำนาจบริหารก็ได้
“แต่การเยียวยาถ้าจะให้ล้ำไปอีกต้องให้เป็นการเยียวยาภายใต้กติกาสากล ซึ่งมันจะหลุดกรอบการพิสูจน์ตามกฎหมายไทยไปอีกระดับหนึ่ง และหลังจากนี้หากมีการดำเนินการเป็นรูปธรรมจริงๆตามคำร้องขอของคณะผู้แทนพิเศษยูเอ็นมันอาจจะอนุวัติมาเป็นกฎหมายภายในหรือมีบทบัญญัติรองรับให้ความเสียหายในส่วนนี้แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครทำแต่ถ้ามันเป็นความเสียหายที่เกิดจากบุคคลคนนั้นเป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิคนอื่นแล้วถูกกระทำ เป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบเยียวยาหรือออกบทบัญญัติต่างๆ ออกมารองรับตรงนี้ เพราะเราต้องสร้างคนที่ปกป้องคนอื่นขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อให้ขบวนการสิทธินุษยชนในประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง” ทนายความ ระบุ
ทั้งนี้ สองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้ถูกข่มขู่คุกคามและใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์และออฟไลน์จากการปฎิบัติหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน โดยอังคณาได้ถูกบริษัทธรรมเกษตร จำกัดฟ้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณากรณีที่ออกมาทวิตสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนให้กับแรงงานข้ามชาติในบริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ ซึ่งในคดีดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกฟ้องและยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ในการต่อสู้คดี
จากการทำงานร่วมกับ Protection International และทีมทนายความ อังคณา และอัญชนา ยังได้ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กอ.รมน. และกองทัพบก เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กรณีสนับสนุนการทำไอโอเพื่อด้อยค่า เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com
โดยคดีดังกล่าวนี้แม้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ได้รับรองว่าทั้งสองเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและรับรองว่าการดำเนินการของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลการละเมิดหรือข้อความทั้ง 13 โพสต์ในเว็บไซต์พูโลนี (pulony.blogspot.com) ตามคำฟ้อง ศาลเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่โพสต์โดยไม่สุจริต เป็นการใส่ความ ทำให้อังคณา และอัญชนาได้รับความเสียหาย และรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเยียวยาความเสียหายเมื่อมีการละเมิดละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยคดีดังนี้อยู่ในชั้นการยื่นอุทธรณ์เช่นกัน
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้รับรายงานเกี่ยวกับคดีและการคุกคามต่างๆที่เกิดขึ้นกับสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 24 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาคณะผู้รายงานพิเศษของ UN ทั้ง 6 จึงส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงใน 5 ประเด็นสำคัญที่จะต้องแก้ไขปัญหาการคุกคาม 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้รัฐบาลไทยส่งคำตอบกลับไปยังผู้รายงานพิเศษภายในเวลา 60 วัน (นับแต่วันที่ออกหนังสือ โดยหลังจากนั้นหนังสือของคณะผู้รายงานพิเศษทั้ง 6 จะเผยแพร่สาธารณะ ผ่านเว็บไซต์ขององค์การสหประชาชาติ ข้อมูลดังกล่าวยังจะถูกรวมอยู่ในรายงานที่ผู้รายงานพิเศษยื่นต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไปอีกด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ภูมิธรรม’ มั่นใจนายกฯกลับมาประชุมตั้ง ‘เจทีซี’ เสร็จ ชงเข้าครม.19 พ.ย.ทันที
‘ภูมิธรรม’ ระบุ หากนายกฯกลับมา เรียกถก ตั้ง เจทีซี วันนี้ก็ เข้าครม.ทันพรุ่งนี้ โยน กต.เคาะรายชื่อ ลั่น เกาะกูดไม่จบซํ้ารอยเขาพระวิหารแน่ ยัน ไม่มีเหตุผลต้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ชาวนาต้นทุนกระฉูด! ปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์
บุรีรัมย์ ชาวนา เรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละพัน แบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขายได้ราคาต่ำ
'นิพิฏฐ์' ท้าเดิมพัน! 'ทักษิณ' ไม่ผิด112-ชั้น14 ยอมเอาตะกร้อครอบปาก
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ขอให้มนุษย์เข้าใจหมาด้วย" โดยระบุว่า
'ภูมิใจไทย' นัดหลังปีใหม่ ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลครั้งต่อไป ว่า
ระวังปากพาจน! 'ทักษิณ' สามหาว เสี่ยงขัดแย้งประเทศเพื่อนบ้าน
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ทักษิณ ปราศรัย ระวังปากพาจน" โดยระบุว่า