'แอมเนสตี้' จี้ทางการไทยคืนความยุติธรรมเหยื่อเหตุการณ์ตากใบ ในวาระครบรอบ 19 ปี

(แฟ้มภาพ)

25 ต.ค.2566 - แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ ในวาระครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ มีเนื้อหาดังนี้

เนื่องในวาระครบรอบ 19 ปีของการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายในอำเภอตากใบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการรับผิดของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อนที่อายุความ 20 ปีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ทั้งยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ และการปฏิบัติของทางการทั้งหลายทั้งปวง เพื่อประกันว่าเจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนประมาณ 2,000 คนได้มารวมตัวกันโดยสงบบริเวณด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบในจังหวัดนราธิวาส หนึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ของประเทศไทยที่มีปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชาวมลายูมุสลิม 6 คนที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว ในการรับมือกับการรวมตัวโดยสงบครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้พยายามสลายการชุมนุม ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมประท้วง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเจ็ดคนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วง 1,370 คน ผูกมือไพล่หลัง และบังคับให้ขึ้นไปนอนคว่ำทับซ้อนกันด้านหลังรถบรรทุกทหาร เพื่อขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหาร ส่งผลให้มี 78 คนที่เสียชีวิตจากการถูกกดทับหรือขาดอากาศหายใจในระหว่างการขนส่ง

แอมเนสตี้ระบุเพิ่มเติมว่า จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์แล้ว ผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวโดยทหาร และต่อมามีการส่งตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในภาคใต้ตอนบนของไทย เพื่อควบคุมตัวเพิ่มเติมอีกเป็นเวลาเจ็ดวัน ในวันที่ 24 มกราคม 2548 พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสได้สั่งฟ้องผู้ถูกควบคุมตัว 59 คนในข้อหาร้ายแรง รวมทั้งขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามมาตรา 139 และ 215 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามลำดับ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 พนักงานอัยการได้ถอนฟ้องคดีทั้งหมดโดยอ้างเหตุว่าไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามที่คณะกรรมการระบุถึงแต่อย่างใด มีเพียงแต่รายงานข่าวว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นถูกโยกย้ายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่น ระบุรัฐบาลล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ในทางตรงข้าม รัฐบาลกลับช่วยให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เกี่ยวข้องสามารถลอยนวลพ้นผิดไปได้

ดังนั้น เนื่องในวาระครบ 19 ปีเหตุการณ์ตากใบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ใช้โอกาสนี้ อำนวยให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม 2567 โดยขอกระตุ้นให้ทางการไทยดำเนินการดังต่อไปนี้

สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

-ให้รื้อฟื้นการสอบสวนต่อการดำเนินงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ระหว่างเหตุการณ์นี้โดยทันที และให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาในช่วงเวลาดังกล่าว การสอบสวนกรณีนี้อาจใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล และจากการให้ปากคำขององค์กรภาคประชาสังคม ผู้ชำนาญการอิสระ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการรับฟังความเห็นจากผู้เสียหายและครอบครัว

-ให้การประกันว่า แนวทางและการปฏิบัติที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการชุมนุมสาธารณะ จะสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากต้องมีการใช้กำลังใดๆ ให้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย และให้ใช้อย่างจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุด
-สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาซึ่งรับผิดชอบต่อการควบคุมการชุมนุมประท้วง ในอำเภอตากใบ การสั่งฟ้องคดีนี้ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาที่เป็นธรรม

สำหรับกระทรวงยุติธรรม
-ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งทรัพยากรการเงินและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับช่องทางที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
-จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชายแดนใต้ (ตราบที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่) เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญารว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่าในการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับรัฐบาลไทย
-ในบริบทของพื้นที่ จชต. ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ในภูมิภาคนี้ และแก้ปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด
-ให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ จชต.
-ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติและการปฏิบัติของทางการทั้งปวง เพื่อประกันว่า เจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะ สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
-ชี้ชัดถึงความผิดพลาดในอดีต ยอมรับข้อผิดพลาด และใช้บทเรียนดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลจากกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลัง) เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรในการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
-ทำการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นองค์รวม ในส่วนที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ เพื่อจำแนกมาตรการเพิ่มเติมที่อาจนำมาใช้ให้เกิดการเยียวยาที่เป็นผล การประเมินดังกล่าวต้องครอบคลุมมุมมองด้านเพศสภาพ เพื่อจำแนกความต้องการเป็นการเฉพาะของผู้หญิงชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู
-ดูแลให้แนวทางการควบคุมการชุมนุม นำไปสู่การคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการชุมนุมประท้วงมีความสงบ มุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง และรับประกันว่า จะไม่มีการใช้กำลังอย่างมิชอบต่อผู้ชุมนุมประท้วงอีกต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั่วโลกจับตา! 'คดีตากใบ' สะท้อนไทยล้มเหลว ปล่อยละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำ

แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย หวั่นคดีตากใบหมดอายุความ กลายเป็นใบเบิกทางละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก ชี้ชัด ทั่วโลกจับตาดูอยู่ เชื่อจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงบนเวทีสาธารณะระหว่างประเทศต่อเนื่อง

ขอไปก่อนนะคะ นายกฯ ไม่ตอบต่ออายุความคดี'ตากใบ'

น.ส.แพทองธาร​ ชินวัตร​ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้ความเห็นถึงข้อเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดหรือ​ พ.ร.ก.​ ต่ออายุคดีสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ​ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้​

'อังคณา' ชวนนายกฯไปนั่งฟังความทุกข์ทรมานของแม่ๆที่สูญเสียจากเหตุการณ์ 'ตากใบ'

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

'อนุทิน' ชี้คนหนีคดีตากใบจนหมดอายุความก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย!

'อนุทิน'​ ย้ำ​ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย​ หลังคดีตากใบใกล้หมดอายุความ​ 25 ต.ค.นี้​ เชื่อทำหน้าที่ติดตามอย่างเต็มที่​ ชี้​ไม่กระทบความเชื่อมั่น แก้ปัญหาไฟใต้​

กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ