22 ต.ค. 2566 – ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวถึงเป้าหมายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ประกาศหลายครั้งจะทำให้เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2567 จีดีพีอยู่ที่ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยจะใช้ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเห็นชัดว่าลักษณะเป็นการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับมาตราการฉีดสเตียรอยด์ที่ฉีดไปแล้วสักพักก็หมดไป แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ มันต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นั่นหมายถึงเราต้องตอบโจทย์ตลาดโลกให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ฉีดเข้าไปแล้ว พอคนใช้เงินหมดก็จบกัน เพราะฉะนั้นการทำให้จีดีพีขยับขึ้นมาเป็น5 เปอร์เซ็นต์ได้อาจจะทำได้เพราะใช้การฉีดสเตียรอยด์เข้าไป แต่พอเข้าปีที่ 2-4 สเตียรอยด์ก็หมดฤทธิ์ไปแล้ว หากจะทำให้จีดีพีโตตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็ต้องไปเน้นเรื่องที่กล่าวไว้ข้างต้นทั้งการท่องเที่ยว-การลงทุนจากต่างประเทศ-การส่งออก
“หากคิดว่าจะใช้เงินในการทำดิจิทัลวอลเล็ตแล้วเงินจะหมุนในระบบเศรษฐกิจไปได้ตลอดสามถึงสี่ปี ในทางวิชาการมันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น ก่อนที่จะมีการทำดิจิทัลวอลเล็ตมีการประมาณการว่าตัวเลขการเติบโตจะอยู่ที
ประมาณ4เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการทำดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เศรษฐกิจโตที่ประมาณ 4.4 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับนโยบายนี้จะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ0.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี”
เมื่อถามถึงว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวนโยบายที่ประกาศไว้ว่าจะขับเคลื่อนหลายเรื่องเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นรวมถึงเพื่อกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมลำเช่น ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’มีทัศนะอย่างไร นายนณริฏ-นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ มองว่า การมีไอเดียใหม่ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหา เป็นเรื่องที่ดี แต่เหมือนอย่างที่ชาวตะวันตกเคยบอกว่า มันไม่ได้อยู่ที่ไอเดีย คือไอเดียมีได้ แต่มันอยู่ที่การลงรายละเอียด เช่นลงรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ที่หมายถึงจะต้องมีกลไกล-ฟีดแบ็ค ที่จะต้องเรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำไป มันถูกหรือไม่ คล้ายๆกับการโยนหินถามทาง ดังนั้น หากถามผมว่าคาดหวังหรือไม่ ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี น่าชื่นชม แต่ว่า ก็อยากให้ผลักดันให้ถึงที่สุดแล้วให้มีกลไกตรวจสอบด้วย หลายครั้งหากนโยบายที่คาดหวังไว้แต่ทำไม่ได้จริง สิ่งที่ดีกว่าอาจเป็นการยกเลิกนโยบาย ก็เป็นไปได้ ไม่ใช่การดันทุรังทำต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้านโยบายที่ทำไป มันใช่ มันพิสูจน์ได้แล้วว่าทำได้จริง ก็อยากให้ทำต่อไป
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ควรให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจ การหารายได้เข้าประเทศมมองว่า ควรเน้นสามเรื่องใหญ่คือ การส่งออก-การท่องเที่ยว-การลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤต มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดี เช่นก่อนวิกฤตปี ค.ศ. 1997 (วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540) ประเทศไทยเคยมีเศรษฐกิจเติบโตถึง 7 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ดังกล่าว เศรษฐกิจประเทศไทย กลับมาเติบโตได้แค่4-5 เปอร์เซ็นต์ ถัดมาในปี 2007-2008 เราเจอปัญหา Us Subprime Crisis (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ) จากที่เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตปีละเฉลี่ย 4-5 เปอร์เซ็นต์ หลังวิกฤต ค.ศ.1997 พอมาถึงช่วงปีนี้ ค.ศ. 2023 หรือปี 2566 เศรษฐกิจเราโตแค่ประมาณ 3.6 เปอร์เซ็นต์ และจนถึงช่วงโควิดจนถึงหลังโควิด พบว่าถ้าเราประมาณการจนไปถึงปีหน้า พ.ศ. 2567 แนวโน้ม เศรษฐกิจไทยจะเหลือโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์
นายนณริฏ ย้ำว่า บทเรียนที่สำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ควรต้องทราบก็คือ หลังวิกฤตสำคัญๆ ครั้งใด พอผ่านมาแล้ว เราจะทำได้ไม่เท่าเดิม เพราะโลกมันเปลี่ยนไปหลังวิกฤต สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ เราพ้นวิกฤตโควิดมาด้วยสภาวะหนี้ เพราะฉะนั้นในระยะสั้นถึงระยะกลางและระยะยาว ยังไง ก็ตาม ต้องจัดการหนี้ให้ได้ ซึ่งเรื่องหนี้มีสามเรื่องที่สำคัญ หนึ่งคือหนี้ครัวเรือน เราจะเห็นหนี้รถ หนี้ที่พักอาศัยพวกคอนโดมีเนียม เริ่มมีปัญหา รถยนต์เริ่มโดนยึดกันเยอะ ต้องเข้าไปแก้ตรงนี้ สอง หนี้ภาคธุรกิจ SME คือแม้ว่าตัวเลขเอ็นพีแอลอาจจะลดลง แต่หากไปดูตัวเลขหนี้ในส่วนของหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดไปเป็นเอ็นพีแอลหรือหนี้ที่สงสัยจะสูญ มันยังสูงอยู่ รัฐต้องหาทางไปช่วย สาม คือหนี้ของภาครัฐ เราเห็นหนี้ของภาครัฐ อยู่ที่หกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ทั้งที่ในอดีตก่อนโควิด เราอยู่แค่ที่สี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ นี้คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลตั้งแต่ตอนนี้
นายนณริฏ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ดูแล้วเศรษฐกิจประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะตกลง ซึ่งก่อนเกิดโควิด จีนคือผู้นำของโลก เป็นผู้ซื้อสินค้าไทย-นักลงทุนรายใหญ่ของไทย เศรษฐกิจจีนก่อนโควิดเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-7 เปอร์เซ็นต์ แต่ในอนาคต มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะโตปีละไม่ถึง5 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราต้องหา Growth Engine ใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ เช่นการต้องไปหาตลาดที่เป็นแหล่งซื้อใหม่ๆ แต่แหล่งเดิม ก็ยังสำคัญเพราะจีนเป็นประเทศที่ใหญ่ แม้จะโตเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยความที่จีนเป็นฐานที่ใหญ่ทำให้ยังคงสำคัญ แต่เราก็ต้องหาแหล่งอื่นเพิ่มเติมด้วย อันนี้คือภาคส่งออก
ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) พบว่านายกรัฐมนตรีก็ทำเช่นเดียวกับนายกฯคนก่อนๆ คือพยายามดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย แต่พบว่าการลงทุนในระยะหลัง มันกลายเป็นเงินลงทุนที่ได้ประโยชน์กับประเทศน้อยลงเรื่อยๆ ผมยกตัวอย่างเช่น รถ EV จากรถยนต์ที่การผลิตก่อนหน้านี้ เคยมีชิ้นส่วนเป็นหมื่นๆ ชิ้น มีชิ้นส่วนเยอะ แต่ปัจจุบันเป็นรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ มันใช้แผงวงจรอะไรต่างๆ ซึ่งชิ้นส่วนน้อยลงมาก ทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์แบบเดิม ทำให้โจทย์เรื่องการลงทุน ต่อไปเราจะไปเน้นแต่ปริมาณไม่ได้ มูลค่ามันไม่ได้สะท้อนว่าผลประโยชน์จะเกิดกับประเทศไทย แต่เราต้องหาทางที่จะทำอย่างไรให้คนไทย สามารถเข้าไปอยู่ในสายการผลิตที่ผลิตชิ้นส่วนให้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้สร้างมูลค่า เพื่อให้มีรายได้มากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุตสาหกรรมจัดการลงทุนกับโจทย์ Climate Finance: กรณีศึกษาจากยุโรป
เดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย ... ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” ผมติดภารกิจไม่ได้ไปร่วมงาน เพิ่งมีโอกาสตามอ่านบทความและดูคลิปย้อนหลังในช่วงปิดปีใหม่ที่ผ่านมา
นายกฯ ยิ้มรับถูกถามศาลรธน. ตีตกคำร้องดิจิทัลวอลเล็ต ย้อนถามสื่อต้องหน้าบึ้งเหรอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
'แจกเงินหมื่น' เฟส 3 ไม่ใช้แอปเป๋าตัง กำลังจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาระบบ คาดเสร็จ มี.ค.68
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแอปพลิเคชันที่ใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงิน 10,000 บาท เฟส 3 หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกมนตรี
'สนธิญา' ยื่นหลักฐานเพิ่ม ร้องศาลรธน. สั่ง 'อิ๊งค์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก
นายสนธิญา สวัสดี นำเอกสารหลักฐานไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาลดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นแตกต่างจากนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท
รัฐบาลโต้ถังแตก ขึ้นภาษีแวต 15% โยนคลังสรุปให้ชัดก่อน
'ภูมิธรรม' บอกรอคลังสรุปให้ชัดเจน ปมขึ้นภาษีแวต 15% ปัดถังแตกจากโครงการแจกหมื่น ยันทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด