คปท.เดินหน้าสู้ ยื่นผู้ว่าฯสตง.ระงับแจกเงินดิจิทัล แจ้งปปช.-กกต.ให้สอบสวน

คปท.ยื่นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ระงับโครงการแจกเงินดิจิทัล ชี้เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลัง มีพฤติการณ์ทุจริตตต่อหน้าที่ ขัดรธน. แนะ แจ้งปปช.-กกต.หรือหน่วยงานอื่นให้สอบสวน

20 ต.ค.2566 - ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายสอและ กูมุดา นายภิมะ สิทธิ์ประเสริฐ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ดำเนินการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐในโครงการแจกเงิน ดิจิทัลของรัฐบาล โดยมีที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รับหนังสือแทน

เนื้อหาในหนังสือ ระบุว่า ด้วยขณะนี้รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายการแจกเงินดิจิทัลแก่ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ ๑๖ ปี ขึ้นไป คนละ ๑๐,๐๐๐ บาท อ้างเหตุต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยอ้างว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ในระยะสั้นว่าเพื่อเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจ ๖ เท่าตัว (ราว ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท(สามล้านล้านบาทถ้วน) อ้างว่าสร้างประโยชน์ระยะกลาง เพื่อวางมาตรการและเงื่อนไขให้รัฐเก็บภาษีคืนได้ และอ้างประโยชน์ระยะยาวว่า เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๕๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท(ห้าแสนหกหมื่นล้านบาทถ้วน) โดยใช้วิธีการกู้เงินมาทำโครงการนั้น ภายหลังประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงนโยบายดังกล่าว ต่างวิพากษ์วิจารณ์ และชี้ให้เห็นถึงผลเสียของโครงการนี้ รวมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการแจกเงินคราวนี้เป็นจำนวนมาก หากยังคงดำเนินการตามนโยบายนี้ต่อไป ประเทศชาติจะได้รับความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้ และจะตกเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินต่อไปในอนาคต ที่จะต้องเข้ามารับภาระชำระหนี้หรือรับภาระในความเสียหายทางเศรษฐกิจการเงิน-การคลังของประเทศ

โดยผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายแจกเงินคนละ ๑๐,๐๐๐ บาทต่อคน ซึ่งต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า ๕๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงิน-การคลังของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง ไม่เกิดผลต่อการใช้จ่าย และจะไม่ทำให้เกิดการเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้อ้างต่อประชาชน แต่จะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเงินที่นำมาทำโครงการนั้น ได้มาจากการกู้ที่มีค่าใช้จ่าย เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดิจิตอล และค่าใช้จ่ายในการจัดการรูปแบบการใช้เงินดิจิตอล อีกไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท(ห้าหมื่นล้านบาทถ้วน) รวมแล้วจะต้องใช้เงินตลอดทั้งโครงการไม่น้อยกว่า ๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท(หกแสนล้านล้านบาทถ้วน) ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณประจำปีงบประมาณ ทั้งยังมีพฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่า จะมีการทุจริตตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการตามนโยบายนี้ อันเนื่องจากเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ให้บริการ หรือเจ้าของสกุลเงินดิจิตอลรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน

นอกจากนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการนี้ออกมาส่งเสียงเพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้ทำโครงการนี้ให้แล้วเสร็จ ซึ่งการร้องขอดังกล่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีลักษณะการแบ่งแยกประชาชนออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุน กับฝ่ายคัดค้านการจัดทำโครงการแจกเงินดิจิตอลคนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นการกระทำเพื่อแบ่งแยกประชาชน และทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน อันเป็นการกระทำขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๕ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เห็นว่า การดำเนินการในนโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ และมีพฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่า จะมีการทุจริตตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๔ และมาตรา ๒๔๕ ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจโดยตรงของท่าน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่การเงิน-การคลังของประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งเป็นการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจแก่การเงินการ-คลังอย่างร้ายแรง

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) จึงขอให้ท่านดำเนินการดังนี้

๑.ขอให้ระงับโครงการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแก่ระบบการเงินการคลังของประเทศโดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ท่านสามารถกระทำได้ ตามและโดยอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๔ และมาตรา ๒๔๕

๒.แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน หรือปฏิบัติตามหน้าที่ในการดำเนินการเอาผิดต่อผู้กระทำการทุจริต หรือแจ้งเหตุว่าจะมีการทุจริตในโครงการจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการเงิน-การคลังของประเทศ

๓.แจ้งรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ให้ยกเลิกโครงการแจกเงินดิจิตอล เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นแก่การเงินการ-คลังของประเทศ พร้อมทั้งเปิดเผยผลการสืบสวนสอบสวนตามข้อ ๑. ต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน 'ยิ่งลักษณ์' กลับมาแบบ 'นักโทษนางฟ้า' ทำลายระบบแบบพี่ชาย ยิ่งจุดชนวนระเบิด

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหนีคดีทุจริตจำนำข้าว อาจจะกลับประเทศไทยช่วงก่อนสงกรานต์ปีหน้า ว่า

'ทักษิณ' กลับสู่สนามการเมือง 100 % ถ้าเป็นฟุตบอลก็ในฐานะเจ้าของทีม ชอบเอาเปรียบคู่ต่อสู้

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

คปท.บุกทำเนียบฯ ยื่น นายกฯ-ครม. ค้าน ‘กิตติรัตน์’ นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

คปท. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี คัดค้านการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ดแบงก์ชาติ

แกนนำคปท.ซัด 'ทักษิณ' นายเสือกทุกเรื่อง ทำตัวเป็นศูนย์กลางจักรวาล แนะชะโงกดูเงาตัวเอง

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอบโต้กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปราศรัยช่วยหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานีว่าตนเองมีตำแหน่งสทร. หรือ เสือกทุกเรื่อง ว่า