16 ต.ค.2566-นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุ Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล เรื่อง “ความรุนแรงทางเพศ คือ ปัญหาของทุกคน” ระบุว่า จากประเด็นเรื่องข้อร้องเรียนปัญหาความรุนแรงทางเพศที่กระทำโดยผู้สมัครและ ส.ส. ของพรรคก้าวไกล หลายกรณีที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเฝ้ารอการแสดงออกของคนของพรรคก้าวไกลต่อเรื่องดังกล่าว พบว่ามีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ น้อยจนไม่สมกับเป็นพรรคที่ประกาศจุดยืนและคุณค่าพื้นฐานของพรรคในเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ว่าน้อยนั้นก็ยังล่าช้าอีกด้วย กล่าวคือ ต้องให้สังคมและมวลชนของพรรคกดดันก่อนจึงจะมีเสียงของพรรคออกมา ต้องเกิดกรณีอื้อฉาวใหม่ จนคนโวยวายทักท้วง จึงค่อยพูดถึงกรณีอื้อฉาวเก่า ต้องมี ส.ส. ผู้ถูกร้องเรียน ไปไลฟ์สดแถลงเอง จนยิ่งเสียหายกับพรรค ทางพรรคถึงเกิดอาการตระหนก รีบออกมาแก้ไขแก้เกม มีเพียงการแถลงข่าวโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ์ และศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ และมีแกนนำบางคนที่ถูกบังคับให้ตอบ เพราะหนีการสัมภาษณ์ไมค์รวมจากสื่อมวลชนไม่พ้น ในขณะที่มวลชนผู้สนับสนุนพรรคเรียกร้องให้พรรคก้าวไกลแสดงจุดยืนในประเด็นนี้ให้ชัดเจน
ปัญหาความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาของสังคมไทยและสังคมต่างๆ ทั่วโลก จำเป็นต้องมีการถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนควรร่วมกันถกเถียง แก้ไข หาทางออก และป้องกัน ไม่ใช่ว่าพอเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแล้ว พอเรื่องเกิดกับพรรค ก็เลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าการพูดถึงปัญหานี้แล้วกลายเป็นการจ้องทำลายพรรคก้าวไกลหรือเลิกสนับสนุนพรรคก้าวไกลไป
หลายๆ คนถามไถ่ผมเข้ามาทั้งต่อหน้า ทั้งทางกล่องข้อความ โทรศัพท์ และโพสถามผมในโลกออนไลน์ ว่าผมคิดเห็นอย่างไร ขอให้ผมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา หรือแสดงจุดยืนในเรื่องนี้
ผมมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ดังนี้ พรรคก้าวไกลควรรับมือ จัดการ ป้องกัน เรื่องความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศอย่างไร?
พรรคก้าวไกลต้องพัฒนาแนวทางและนโยบายต่อต้านการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ครอบคลุมทั้ง ส.ส. ผู้สมัคร ส.ส. นายกท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ทีมงานจังหวัด พนักงาน อาสาสมัคร จากข่าวในหลายกรณี จะเห็นได้ว่า ไม่มีการกำหนดช่องทางร้องเรียนกรณีการคุกคามทางเพศหรือความรุนแรงทางเพศที่ชัดเจน ผู้ที่ถูกกระทำมักต้องร้องเรียนไปที่ ส.ส. เป็นรายบุคคล หรือส่งเรื่องหาบุคคลในพรรคที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกวางใจ หรือต้องส่งเรื่องหลายต่อกว่าจะถึงหูคณะนำพรรค
หากจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ พรรคต้องกำหนดขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างระบบช่องทางร้องเรียนในเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมเผยแพร่ช่องทางให้ทุกคนทราบ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้เสียหายจะได้รู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร กระบวนการร้องเรียนต้องเป็นความลับ เพื่อให้ผู้ที่ร้องเรียนไม่ต้องกังวลว่าการร้องเรียนจะเกิดผลกระทบกับหน้าที่การงาน เมื่อมีรายงานเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ความต้องการและความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนทั้งในระหว่างและหลังกระบวนการ พรรคต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สอบสวนโดยคณะกรรมการที่เป็นกลาง อิสระ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือรู้จักมักคุ้นกับผู้ถูกกล่าวหา การให้ ส.ส. หรือคณะผู้บริหารพรรคไปเป็นกรรมการสอบสวน แบบที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ อาจทำให้เกิด “ความเกรงใจ” กันเอง จนตัดสินใจกันไปแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” เช่นกัน การให้องค์ประกอบคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องนี้ มีแต่ “ชายแท้” หรือ “ชายเป็นใหญ่” หรือ “คนที่ไม่เข้าใจประเด็นปัญหาเหล่านี้” ก็จะยิ่งทำให้การดำเนินการสอบสวน ให้ความเป็นธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด และเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ผิดทิศผิดทางไปกันใหญ่
นอกจากนี้ พรรคต้องมีกระบวนการช่วยเหลือให้ผู้ถูกกระทำพบแพทย์หรือนักจิตวิทยา ในท้ายที่สุด เมื่อคณะกรรมกาพิจารณาแล้วว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็ต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อผู้กระทำความผิดอย่างได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน อาจกำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจ หรือ Guideline ในเรื่องอัตราโทษเอาไว้ เช่น การกระทำแบบใด ถือว่าร้ายแรง การกระทำแบบใด จะรับอัตราโทษเท่าไร เป็นต้น
หากพรรคไม่มีบุคลากรที่ชำนาญ มีความรู้ประสบการณ์ในการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ พรรคก็ต้องสรรหาเชิญชวนบุคคลภายนอกเข้ามา ผมเชื่อว่ามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ที่รักพรรคก้าวไกลและพร้อมช่วยเหลือ ในส่วนของบุคคลผู้กระทำผิดนั้น เขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง กล้าหาญออกมายอมรับผิด ขอโทษต่อผู้เสียหาย พรรค และประชาชน มิใช่ปล่อยให้คนอื่นในองค์กรมารับผิดชอบแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เพื่อน ส.ส. ที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหารพรรคหรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบพิจารณาโทษทางวินัยมารับหน้าที่แถลงอธิบายกับสังคม หรือให้สัมภาษณ์สื่อ เพื่อจัดการปัญหาแทน หากทำเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เรื่องใหญ่พอถึงขนาดต้องให้ผู้บริหารมาร่วมดำเนินการรับผิดชอบ
กรณีการแถลงข่าวของพรรคล่าสุด แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คณะนำพรรคไม่กล้าเผชิญปัญหาเหล่านี้อย่างซึ่งหน้าและตรงไปตรงมา พรรคต้องไปเข็นเอา พริษฐ์ และศศินันท์ มา “รับเผือกร้อน แบกพรรค” แทน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่ในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน หรือสืบสวนสอบสวน แต่พรรคเลือกพวกเขามาแถลง เพราะทั้งสองคนนี้ มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีจุดยืนชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ส่วนคณะนำของพรรค คณะกรรมการสอบสวน และผู้กระทำความผิดก็ “ลอยตัว” ไป ไม่ต้องถูกสื่อถาม ไม่ต้อง “ช้ำ” จากการแถลงข่าว
พรรคก้าวไกลต้องสร้างบรรยากาศการสื่อสารเรื่องความรุนแรงทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ไม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ รอให้เกิดเรื่องแล้วค่อยแก้ไข พรรคต้องจัดการฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศให้กับบุคลากรทุกคน และหมั่นทำความเข้าใจในทุกสถานการณ์อย่างจริงจัง เท่าที่ผมทราบ พรรคก็มีความพยายามจัดอบรมในเรื่องเหล่านี้ แต่ให้เวลาน้อยไปหน่อย ในการประชุมหลายๆ ครั้ง เวทีอบรมเรื่องนี้มักเป็น “ของแถม” ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และบรรดาคนในพรรค และ ส.ส. ก็มักไม่ค่อยให้ความสนใจ บรรยายไปแต่ละครั้ง กลับกลายเป็นเรื่องตลกโปกฮา แซวกันไปมาว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไรเสียมากกว่า
ผมยังเห็นอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่พรรคก้าวไกลต้องกล้าหาญทำเรื่องเหล่านี้ เผชิญหน้ากับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา มิใช่คิดแต่ “ผลลัพธ์ทางการเมือง” เป็นตัวนำ เช่น ไม่กล้าจัดการเรื่องนี้ตอนนี้ เพราะกลัวอื้อฉาว เดี๋ยวกระทบต่อการหาเสียงของพรรค เดี๋ยวกระทบกับการเลือกคนไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดี๋ยวกระทบกับการเลือกตั้งซ่อม เดี๋ยวกระทบนั่น เดี๋ยวกระทบนี่ หากคิดแต่เอาปัจจัยการเมืองมาเป็นองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจเช่นนี้ พรรคก้าวไกลก็จะไม่กล้าทำอะไรในเรื่องดังกล่าวเลย ต้องยอมรับว่า เมื่อไรเกิดกรณีความรุนแรงทางเพศหรือการคุกคามทางเพศภายในพรรคขึ้น ก็ย่อมส่งผลร้ายต่อภาพลักษณ์ของพรรคอยู่แล้ว แต่การกลัวหรือกังวลใจกับภาพลักษณ์ของพรรคจนไม่กล้าตัดสินใจ จนปิดเรื่องซ่อนเอาไว้ หรือ “ซื้อเวลา” ออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเรื่องแดงออกมา แล้วก็มาตามแก้ไข สุดท้ายพรรคก็เสียหายอยู่ดี และเสียหายเพิ่มเป็นหลายเท่า จนคนในสังคมเริ่ม “เอ๊ะ” ว่าพรรคก้าวไกลก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคอื่นๆ ในเรื่องเหล่านี้ พรรคก้าวไกลได้แต่โม้โฆษณาชวนเชื่อเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมไปอย่างนั้นเอง
(นี่ไม่ใช่การกล่าวหาลอยๆ หรือตั้งสมมุติฐาน แต่คือข้อเท็จจริง มีคนในพรรคหลายคนมาเล่าให้ผมฟังว่า ความล่าช้าในการตัดสินใจในการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ ส่วนหนึ่งเกิดจากคณะนำพรรคมัวแต่กังวลกับแต้มทางการเมือง กังวลว่าพรรคจะเสียหายโดนโจมตีในช่วงเลือกตั้ง หรือตั้งรัฐบาล)
ในส่วนของคณะนำและผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค ต้องช่วยกันปรับทัศนคติตนเอง ให้คิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตระหนักรู้ถึงปัญหา และต้องการจัดการแก้ไขปัญหา ไม่ให้มีความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในองค์กรของตน คณะนำต้องอย่าคิดแต่เรื่องภาพลักษณ์พรรค อย่าคิดแต่ว่า ปัญหาเหล่านี้เหมือน “ยุงรำคาญ” ที่บินมาไต่ตอมพรรค พอเกิดเรื่องที ก็ได้แต่บ่นกันในหมู่คณะนำของตนเองว่า “อีกแล้ว มีปัญหาอีกแล้ว ไอ้ห่าเอ๊ย เมื่อไรจะจบสักที เมื่อไรจะทำตัวดีๆ สักที เมื่อไรจะหยุดสร้างปัญหาให้พรรคเสียที” หากคณะนำและผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคมีทัศนคติแบบนี้ ก็จะไม่หาทางแก้ปัญหาให้ตรงจุด แต่จะเน้นแก้ปัญหาไม่ให้พรรคเสียหาย เสียภาพ มากกว่าคิดหาหนทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้อีก นานวันเข้าก็อาจนำไปสู่การคิดค้นหาวิธีการ “ปิดลับไม่ให้เรื่องแดง” ไม่ได้สนใจแก้ปัญหายุติความรุนแรงทางเพศภายในองค์กร
ข้อเสนอแนะถึง ส.ส. ผู้สมัคร ทีมงานทุกจังหวัด พนักงานพรรค การร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการคุกคามและความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นแต่เฉพาะกับคนของพรรคก้าวไกล มีแต่พรรคก้าวไกลที่มีแต่คนประพฤติปฏิบัติเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งที่พรรคก้าวไกลถูกโจมตีและเป็นข่าวในเรื่องเหล่านี้บ่อยกว่าพรรคอื่นๆ ก็เพราะพรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนเรื่องความเท่าเทียม แสดงตนว่าจะเอาจริงเอาจังกับปัญหาความรุนแรงทางเพศ ในขณะที่พรรคอื่นๆ อาจไม่สนใจหรือถือเป็นประเด็นใหญ่
ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ปรากฏให้เห็นตามหน้าข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ความรุนแรงทางเพศสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะมีเพศสภาพ เพศวิถี หรือรสนิยมทางเพศอย่างไร อายุเท่าไร อยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม ตามรายงานของ UN WOMEN พบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกต้องเคยเผชิญความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในชีวิต สำหรับประเทศไทย 44% ของผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือจากคนที่ตนรู้จัก โดยสาเหตุของความรุนแรงเกิดจากความมีอคติต่อผู้หญิงและระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจหลัก
คนในพรรคก้าวไกลทั้งหมดสามารถร่วมมือกัน ช่วยกันจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ สิ่งที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอ ไม่ต้องให้พรรคกำหนดกฎกติกาหรือออกแบบระบบ นั่นก็คือ ส.ส. และคนของพรรคก้าวไกล ต้องไม่ปล่อยให้เรื่องความรุนแรงทางเพศและความเท่าเทียมระหว่างเพศเป็นประเด็นที่ ส.ส. หญิง และ ส.ส. LGBTIQ+ ทำงาน รณรงค์ หรือต่อสู้เท่านั้น คนของพรรคก้าวไกล และ สส. ทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน ส.ส. ชาย ที่มีความคิดแบบชายเป็นใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะรูัตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ต้องหาความรู้ ค้นคว้า อ่านหนังสือ ฟังเสวนา ในเรื่องสตรีนิยมและความเท่าเทียมทางเพศ ให้มากขึ้น อย่ามองว่าสตรีนิยมคือเรื่องของการเกลียดผู้ชาย ต้องหันมาทำความเข้าใจปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศให้ได้ก่อน
คนรุ่นเราหรือก่อนเรา ถูกปลูกฝังเลี้ยงดู ถูกสื่อ ภาพยนตร์ โฆษณา วัฒนธรรม ครอบงำ มาในแบบ “ชายเป็นใหญ่” วิธีคิดเหล่านี้ฝังหัวเราลงไป จนบางครั้ง เราไม่รู้ตัว เราไม่รู้สึกว่า การกระทำของเราแบบนี้ผิด เราคิดว่า นี่คือเรื่องปกติธรรมดา แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมก้าวหน้ามากขึ้น กฎเกณฑ์ทางสังคมทางวัฒนธรรมเปลี่ยนไปมากขึ้น และเมื่อพรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ บรรดาผู้ชายในพรรคทั้งหมด ก็ต้องปรับตัว พร้อมเรียนรู้
ส.ส. ชาย ผู้ชายในพรรค ต้องไม่เป็น bystanders หรือผู้เห็นเหตุการณ์แล้วแต่ไม่ทำอะไร เลือกที่จะนิ่งเฉย ธุระไม่ใช่ อย่าไปยุ่งเลย เดี๋ยวจะซวยเปล่าๆ ส.ส. ชาย ผู้ชายในพรรค ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และความมีอคติต่อผู้หญิง เมื่อไรก็ตามที่เราพบเห็นการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่เหมาะสม พฤติกรรมที่สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตร เช่น การเล่าเรื่องตลกทางเพศที่ลามกอนาจาร การประพฤติที่ไม่พึงประสงค์ ล่วงละเมิด หรือคุกคามอันเป็นเงื่อนไขในการจ้างงานหรือความก้าวหน้าต่างๆ เป็นต้น เราทุกคนสามารถทำอะไรบางอย่างกับเรี่องนี้ได้ โดยไม่ต้องแกล้งทำเป็นขำๆ ไปตามสถานการณ์ ต้องรู้จักตักเตือนกัน และทำความเช้าใจกันในเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ
ผมขอแนะนำให้ ส.ส. ชายทุกคนเริ่มจากการชมคลิป Ted Talk ของ Jackson Katz ที่พูดถึงบทบาทของผู้ชายในการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศไว้ได้เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติต่อได้ง่าย https://www.npr.org/…/jackson-katz-why-we-can-no-longer… คนของพรรคก้าวไกลต้องตระหนักว่า การจัดการปัญหาความรุนแรงทางเพศ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ต้องทำเพราะกลัวเป็นข่าวหรือกลัวตนเองเดือดร้อนหรือกลัวพรรคเสียคะแนน แต่เราต้องทำ เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการรื้อถอนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคม และสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ความเคารพต่อผู้อื่นให้เกิดขึ้นจริง
ส.ส. หญิงของพรรคก้าวไกลก็ต้องอย่านิ่งเฉยกับสถานการณ์ ต้องหมั่นเรียกร้องภายในพรรคให้มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ และให้การช่วยเหลือ การเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เข้ามีบทบาทางการเมืองอย่างแท้จริง ต้องมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศสำหรับผู้หญิงและคนทุกเพศด้วย มิใช่แข่งกันแต่เพียงว่าพรรคไหนมี ส.ส. หญิงมากกว่ากันเท่านั้น
การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค มิใช่ การเอาอกเอาใจคณะนำ มิใช่ การเงียบ ไม่โต้เถียง ไม่แสดงความเห็นตรงไปตรงมาต่อคณะนำ เพราะกลัวตนเองถูกหมายหัว ไม่ได้ลง ส.ส. ครั้งหน้า
การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค มิใช่ คิดแต่เรื่องตนเอง คิดแต่เรื่องพื้นที่ตนเอง คิดแต่ความนิยมของตนเอง ส่วนเรื่องไหนที่เป็นเรื่องส่วนรวม ก็ไม่ยุ่ง ยุ่งแล้วเดี๋ยวซวย
การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค มิใช่ การร่วมมือกันปกปิดความผิด เพื่อปกป้องภาพลักษณ์พรรค
แต่การเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรค ต้องอยากให้พรรคดี
แล้วพรรคก้าวไกลจะดีได้อย่างไร หากทุกคนพบเห็นพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศหรือการคุกคามทางเพศ แล้วเลือกที่จะ “เงียบ” แล้วปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างเป็นไปสุดแท้แต่คณะนำกำหนดให้เป็น
ข้อสังเกตส่งท้าย พรรคก้าวไกลพยายามยกระดับมาตรฐานการเมืองไทย ประกาศจุดยืนเรื่องความเท่าเทียม และต่อต้านการคุกคามทางเพศและความรุนแรงทางเพศ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พรรคก้าวไกลจะถูกเรียกร้องมากกว่าพรรคอื่นๆ เช่นเดียวกัน ก็ถูกตามจับผิดในเรื่องเหล่านี้มากกว่าพรรคอื่นๆ ด้วย
เมื่อพรรคก้าวไกลเป็นความหวังของผู้คนจำนวนมาก พรรคก้าวไกลก็ต้องจัดการเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จ การวางมาตรฐานการยุติความรุนแรงทางเพศในระดับพรรค จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ระดับสังคมด้วย หากพรรคก้าวไกลทำสำเร็จ ก็จะส่งผลแรงกดดันไปถึงพรรคอื่นๆ องค์กรอื่นๆ ช่วยยกมาตรฐานให้การเมืองไทยได้
ในส่วนของพรรคอื่นๆ หรือผู้สนับสนุนพรรคอื่น หรือผู้ที่ไม่นิยมพรรคก้าวไกล หากจริงจังกับปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างแท้จริง ก็ต้องไม่นำปัญหาความรุนแรงทางเพศมาเป็นแค่เครื่องมือโจมตีทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพูดถึงประเด็นนี้ด้วยความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาจริงๆ มิใช่ พอเกิดเรื่องกับพรรคก้าวไกลที ก็ “ถูมือ ลูบปาก” เอาล่ะ ได้ทีแล้ว พวกเรา ถล่มมันเลย แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้กับพรรคที่ตนสนับสนุนหรือพรรคอื่นๆ ก็เงียบกริบ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น
ความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ คือ ปัญหาสำคัญของสังคมไทย คือ ปัญหาร่วมกันของทุกคน ต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มิใช่มุ่งเน้นแต่เอามาใช้โจมตีกันทางการเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปปช.เปิดทรัพย์สิน 'ก่อแก้ว' สุดอู้ฟู่รวย 263 ล้านบาท
เปิดเซฟ 'ชัยธวัช ตุลาธน' อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล 19.3 ล้านบาท 'อภิชาติ' อดีตเลขาธิการพรรค 13.2 ล้านบาท 'ก่อแก้ว' อู้ฟู่ 263 ล้าน
ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง
'ธนาธร' ร่อนหนังสือถึงนายกฯอิ๊งค์ จี้เบรกรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ศาลรธน.ยืนยัน ‘อุดม’ ไม่เสียดสี แค่ตอบ ‘ข้อกม.’
ศาลรัฐธรรมนูญทำหนังสือตอบกลับสภาผู้แทนฯ ยืนยัน "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาล รธน. แสดงความเห็นหลังยุบพรรคก้าวไกล "ยุบ 3 วันตั้งพรรค"