ผอ.ทีดีอาร์ไอ ชำแหละหลุมดำดิจิทัลวอลเล็ต เกิดค่าเสียโอกาสพัฒนาประเทศ เตือนกระทบความเชื่อมั่นในเรื่องของวินัยการคลังของรัฐบาล จนนำไปสู่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ กระทบการลงทุนจากต่างชาติ
15 ต.ค.2566- นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) และอดีตกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า แม้จะไม่ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าวกับกลุ่มนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ต แต่ตนก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันคือ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และควรยกเลิก เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันไม่มีเหตุจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะเกิดค่าเสียโอกาสของงบประมาณดังกล่าวที่นำไปใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ตที่มีเยอะมาก โดยหากไม่นำงบประมาณมาทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่นำไปใช้ทำอย่างอื่นจะได้ประโยชน์มากกว่า และที่บอกว่าเงินในนโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบ ตอนแรกก็บอกว่า จะหมุนได้ 4-6 รอบ แต่ระยะหลังก็ลดลงมาเหลือ 1-2 รอบ ที่ก็คิดว่าไม่น่าจะได้ขนาดนั้น
นายสมชัยกล่าวว่า จนถึงขณะนี้เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต สิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนจากฝ่ายรัฐบาลก็คือ จะนำงบประมาณจากส่วนใดมาทำ แต่รัฐบาลก็สัญญาไว้ว่าจะมีความชัดเจน ต้องรอฟัง ที่ก็ต้องฝากด้วยว่า เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ต้องบอกด้วยว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต จะมีต้นทุนด้านการคลังเท่าใด ที่บอกว่าจะไม่เป็นหนี้สาธารณะมันไม่เป็นจริงหรือ เพราะพวกนี้เล่นแร่แปรธาตุได้ เช่น บอกจะไปกู้จากธนาคารออมสิน โดยใช้มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ฯ จะทำให้ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งในทางกฎหมายก็จริง ไม่นับจริง แต่มันไม่นับเฉพาะช่วงแรก หมายถึงตอนที่ให้ธนาคารออมสินออกเงินให้ก่อน มันไม่นับ มันเหมือนกับการยืมเงินหรือสั่งให้ทำงาน แต่กฎหมายก็เขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาชดใช้เขาในภายหลัง เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นหนี้วันนี้ แต่สมมุติปีหน้า ตอนจัดสรรงบประมาณ ก็ต้องไปจัดสรรงบประมาณเพื่อไปชดเชยให้(ธนาคารออมสิน) และทุกบาททุกสตางค์ที่ต้องเพิ่มในรายจ่ายงบประมาณประจำปี มันก็จะไปโผล่ที่การขาดดุล เพราะโครงสร้างของการคลังไทยมันขาดดุลกันเยอะอยู่แล้ว คือรายได้น้อยกว่ารายจ่าย
“หากการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี แล้วงบขาดดุลมันเพิ่มขึ้น โดยที่การขาดดุลทุกบาททุกสตางค์คือการกู้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่การกู้ ณ วันนี้แต่ว่า ถ้าเวลาผ่านไปปีหนึ่ง เดี๋ยวมันก็กู้เพิ่ม สมมุติต้องชดเชยสิบปี ก็จะเป็นหนี้เพิ่มมาอีกสิบปี ทยอยขึ้น เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลจะแจกแจง ต้องแจกแจงให้ชัดด้วยว่า ที่บอกจะไม่เป็นหนี้ จะไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม หมายความว่าอย่างไรที่บอกไม่เป็นหนี้ ไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง สิ่งที่เรียกร้องก็คือรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนและอธิบายต่อด้วยว่า ทำไมถึงไม่เป็นหนี้สาธารณะ เอาให้ชัด จะได้รู้ว่าเขาพูดจริงหรือไม่จริง”
นอกจากนี้เรื่องที่ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลก็คือ ที่รัฐบาลบอกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ดี ทำให้เศรษฐกิจหมุนหลายรอบ ช่วยนำหลักฐานเชิงวิชาการมาแสดงให้ดูด้วยได้หรือไม่ว่ามีที่ไหนที่ทำแล้วมันหมุนได้หลายรอบจริงอย่างที่พยายามจะบอก เพราะเห็นเขาพยายามโต้ว่าที่บางคนบอกว่าจะหมุนได้ไม่ถึงหนึ่งรอบ ผมก็เขียนในเฟซบุ๊ก ส่วนตัวว่าหมุนแค่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ เขาก็โต้มาว่ามันไม่จริง มันต้องสูงกว่านั้นเยอะ ก็อยากให้บอกมาว่าอะไรที่ทำให้คิดว่าจะหมุนได้สูงกว่านั้น และจะหมุนได้เท่าใด รวมถึงมีเหตุผลทางวิชาการและข้อมูลรองรับหรือไม่ รวมถึงที่รัฐบาลบอกว่า เมื่อทำดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้ว จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย จะพลิกโฉมแบบ Jump start เศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบถาวร
“ช่วยบอกให้เราเชื่อได้ไหมว่ามันจะเป็นแบบนั้นจริง เพราะวิเคราะห์ยังไง มันก็ไม่ใช่ เพราะการเอาเงินให้ไปรอบเดียวให้ใช้ภายในหกเดือน พอผ่านหกเดือนก็หมดไป ที่บอกว่าหมื่นบาทที่คนได้ไป จะไม่ได้แค่ไปบริโภค แต่จะนำไปลงทุนด้วย จะเกิดอาชีพใหม่ เขาแน่ใจมากแค่ไหน เพราะการทำอาชีพ ไม่ใช่ว่ามีหนึ่งหมื่นบาท ก็จะทำอาชีพได้ถาวร เพราะการทำอาชีพมันมีเงื่อนไขเยอะ ไม่ใช่ว่าใช้เงินตั้งต้นก้อนเดียวแล้วก็จบ ต้องหาแหล่งตลาดได้ ต้องมีเงินเข้ามาซับพอร์ตเป็นระยะ -เข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะการทำธุรกิจก็ต้องมีการบริหารสภาพคล่อง อันนี้คือการทำธุรกิจในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเอาเงินหมื่นบาทให้ไป จากที่ทำอะไรไม่เป็น ไม่เคยทำการค้า แล้วจู่ๆ ก็ทำการค้าได้แบบยั่งยืนถาวรเป็นสิบปี มันฟังไม่ขึ้น”
นายสมชัย กล่าวว่า นโยบายดังกล่าว ที่นำเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ไปทำ แล้วนำไปสู่ความเสี่ยงด้านการคลัง ซึ่งเราก็รู้กันดีเรื่องวินัยการคลังมันจะหายไป ต่างชาติ ก็เริ่มมองเราไม่ดี อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรก็ขึ้นไปแล้ว ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวรัฐบาลก็ขึ้น ความเสี่ยงมันสูงมาก สูงเกินกว่าที่จะเอาความคาดหวังว่ามันน่าจะดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ แล้วมาตัดสินใจเดินหน้าเลย โดยความเสี่ยงต่างๆ คนที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นออกมาแล้ว แถลงการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมา ได้พูดถึงความเสี่ยงไว้เยอะ
อย่างไรก็ตาม ตัวที่สาหัสสากรรจ์ที่สุด ก็คือ ความเชื่อมั่นในเรื่องของวินัยการคลังที่มีต่อรัฐบาล เพราะตรงท่าทีของคนในรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงใคร จะเดินหน้าแน่ วาดฝันว่าจะต้องดีแน่นอน มันชวนให้คนหวั่นใจ ความหวั่นใจต่อเรื่องความตั้งใจในการที่จะรักษาวินัยการคลังของรัฐบาลเวลามันสั่นคลอนแล้ว มันทำให้เช่นบริษัทจัดอันดับ ก็จะปรับอันดับลง ซึ่งหากปรับอันดับลง คราวนี้งานใหญ่เลย ดอกเบี้ยขึ้นแน่นอน ต่อไปประเทศไทยไปกู้ใครเขา ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงหมดเลย ต่อไป นักลงทุนอาจจะไม่เข้ามาก็ได้ เพราะว่าการขาดวินัยด้านการคลัง
“ในที่สุด มักนำไปสู่ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ ก็คือ จะมีเศรษฐกิจถดถอย ที่ก็จะไม่ใช่ปีที่ทำนโยบายแต่เว้นระยะไปสัก 3-4 ปี จะเกิดปัญหาได้ นักลงทุนที่ฉลาด ที่เวลาลงทุน ก็ต้องลงทุนกันยาวๆ เป็นสิบปี ที่เขาต้องอ่านเกมยาว ถ้าเป็นแบบนี้เขาจะมองว่ามันไม่น่าเชื่อถือแล้ว เขาก็จะไม่มาลงทุนในประเทศไทย จะไปลงทุนประเทศอื่น ดังนั้นที่รัฐบาลบอกว่านโยบายนี้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโตแบบถาวร มันก็จะไม่เกิด เพราะคนก็ไม่มาลงทุน”