แรงงานไทยเผยนาทีชีวิต! ฮามาสปลอมตัวเป็นพ่อค้าพูดไทยชัด

14 ต.ค.2566 - ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบนายสุพล นิชำนาญ หรือหลอด อายุ 39 ปี แรงงานไทยชาว อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่หนีเอาตัวรอดไปอยู่ที่สนามบินในอิสราเอล และเดินทางกลับบ้านที่ประเทศไทยขณะนี้เดินทางถึงบ้าน ที่ จ.ขอนแก่น เป็นที่เรียบร้อย โดยมี นางเจนจิรา พรหมหล้า อายุ 38 ปี ภรรยาและลูกทั้ง 4 คน และญาติพี่น้องทยอยเดินทางมาเยี่ยมและผูกข้อมือรับขวัญอย่างไม่ขาดสาย

นายสุพล เล่าว่า ก่อนตัดสินใจไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ได้ศึกษา สถานการณ์ในอิสราเอลว่า เคยเกิดการสู้รบ แต่ภาพที่เคยเห็นคือ การสู้รบทางอากาศ ไม่เห็นเหตุการณ์ทางภาคพื้นดิน และค่าจ้างที่เป็นค่าแรงก็มีส่วนดึงดูดใจให้ไปทำงาน จึงตัดสินใจไป โดยกู้หนี้ไปทั้งหมดเกือบ 200,000 บาท ทำเรื่องไปอย่างถูกต้องและมีสัญญาการจ้างงาน 5 ปี 3 เดือน จนได้เดินทางไปทำงานในสวนเกษตร ปลูกมะเขือเทศ ได้เงินเดือนๆละ 60,000 บาท ความเป็นอยู่ก็ใช้ได้ ซึ่งจุดที่เป็นสวนเกษตร และแคมป์ที่พักคนงานอยู่ห่างจากฉนวนกาซ่า ประมาณ 3 กม.

"วันเกิดความรุนแรงหนักคือวันที่ 7-9 ต.ค. โดยเช้าวันที่ 7 ต.ค.นั้น เริ่มจากการยิงจรวดและทิ้งระเบิดจากบนฟ้า ช่วงสายก็มีกลุ่มฮามาสเดินเท้าในภาคพื้นดิน จับตัวแรงงานไทยไปเป็นตัวประกัน และฆ่าแรงงานไทย ขณะนั้นผมได้หลบอยู่ในป่ามะเขือเทศจนค่ำ จึงมีทหารอิสราเอลมาขับไล่กลุ่มฮามาสออกนอกพื้นที่ และทหารอิสราเอลก็มาช่วยเหลือแรงงานไทยออกมาได้หลายคน จากนั้นกลุ่มทหารพาไปอยู่ที่ในพื้นที่เบนกามา แต่อยู่ได้ไม่นาน ทหารก็มาบอกว่า ไม่ปลอดภัย จะพาไปอยู่ที่พื้นที่ทูฟา พื้นที่ทางภาคเหนือ จึงเดินทางออกไปกับเพื่อนคนไทยรวม 6 คน ไปอยู่ที่ทูฟา และถูกส่งตัวไปทำงานในสวนเกษตร ปลูกแตงกวา"

นายสุพล เล่าต่อว่า ทำงานในสวนแตงกวาก็ไม่สบายใจ เพราะการสู้รบ เข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว มีเสียงปืน เสียงระเบิดตลอดเวลา แรงงานไทยทุกคนจึงพยายามติดต่อกับญาติพี่น้องและติดต่อกับสถานทูตไทยและทางการไทยตลอดเวลา เพื่อลงชื่อกลับบ้าน จนได้รับการติดต่อกลับจากทางสถานทูตว่า จะมีเครื่องบินไปรับแรงงานไทย จำนวน 2 คนในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ก็สรุปได้ว่าแรงงานไทย จะได้กลับบ้านเพียง 2 คน อีก 4 คน น่าจะรออีกนาน

“ความปลอดภัย ไม่มีใครรับรองได้ การสู้รบขยับเข้ามาใกล้ตลอดเวลา จึงบอกนายจ้างว่า หากทางการไทยมารับ ก็ต้องเดินทางกลับ และถ้ามีทางที่จะสามารถกลับไทยได้ก็จะพากันออกไปทันที นายจ้างก็บอกว่า ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ให้ออกไป จึงตัดสินใจจ้างรถแท็กซี่ไปส่งที่สนามบิน เพื่อหาซื้อตั๋วกลับประเทศไทย โดยภรรยาโอนเงินให้ เมื่อได้ตั๋วก็ขึ้นเครืองบิน กลับมาที่ประเทศไทยทันที จากนั้นก็นั่งรถรับจ้างมาที่หมอชิต 2 ซื้อตั๋วรถทัวร์เดินทางกลับมาที่บ้านที่อ.ชุมแพทันที เพื่อ กลับมาหาลูกเมียที่บ้าน โดยเฉพาะลูกชายคนเล็ก วัย 7 เดือน ที่เกิดมายังไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลย”

นายสุพล เล่าอีกว่า เท่าที่ทราบจากข่าวสารในอิสราเอลทราบว่า คนที่เป็นแรงงานไทยชาย ถูกจับไปถ้าขัดขืน จะถูกฆ่าทิ้ง ส่วนผู้หญิงจะถูกทรมานและถูกข่มขืน และกักขังแยกกัน ขณะที่นางณัฐฐาวรี มูลกัน อายุ 35 ปี หรือน้องโย แรงงานหญิงชาวไทยที่ถูกจับตัวไปพร้อมแฟนนั้น ก็เป็นแรงงานไทยที่พักในแคมป์เดียวกัน ในวันที่ถูกจับตัวไป ทั้งคู่จะออกไปทำงานพิเศษ แล้วไปเจอกลุ่มฮามาสที่มาภาคพื้นดิน จับตัวไป ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ทราบชะตากรรม ว่า เป็นอย่างไร จึงอยากฝากบอกแรงงานไทยในอิสราเอลว่า สถานการณ์รุนแรง ควรกลับมาบ้านเราก่อน เพราะถ้าเสียชีวิตมันไม่คุ้ม

" โดยส่วนตัวจะไม่กลับไปอิสราเอลอีก แต่ก็ยังไม่ทิ้งความตั้งใจยังจะไปทำงานต่างประเทศเช่นเดิม เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวและใช้หนี้ ตอนนี้ได้กำลังใจจากครอบครัวญาติพี่น้องก็จะอยู่กับครอบครัวก่อน ยังไม่คิดจะไปทำงาน ส่วนการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการที่จะถือติดตัวไปด้วยคือ เครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะคุ้มครองให้ตัวเองปลอดภัย ตนเองก็เช่นกัน พี่ชายได้มอบหลวงปู่ทวดให้ติดตัวไป และคิดว่า หลวงปู่ทวด มีส่วนช่วยให้ตนเองปลอดภัยกลับมาหาลูกเมียได้"

นายสุพล กล่าวต่ออีกว่า จากประสบการณ์การทำงานในอิสราเอลมา 8 เดือน จะเห็นชาวอาหรับผู้ชาย มาในคราบของพ่อค้า สามารถพูดภาษาไทยได้ สื่อสารเป็นภาษาไทยรู้เรื่อง เหมือนแขกขายโรตีบ้านเรา ซึ่งในเรื่องนี้เคยคุยกันและมองว่าอาจจะเป็นกลุ่มฮามาสปลอมตัวมา เพื่อสืบค้นข้อมูลในแต่ละแคมป์ซึ่งมีคนไทยทำงานเป็นจำนวนมาก กระทั่งมีเหตุการณ์รุนแรง และแรงงานไทยก็ถูกกลุ่มฮามาสฆ่าตายจำนวนมาก สาเหตุที่กลุ่มฮามาสฆ่าคนไทย อาจจะมีสาเหตุ ซึ่งมีการพูดคุยในกลุ่มแรงงานว่า คนไทยอาจจะมาแย่งงานคนอาหรับ เพราะจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่มีแต่คนไทยมาทำงาน แต่ก็ไม่ขอยืนยันในเรื่องนี้ เพราะเป็นเพียงเรื่องเล่าในกลุ่มแรงงานไทย เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พิพัฒน์” เยือนญี่ปุ่น ถกรัฐมนตรีแรงงาน นายจ้างญี่ปุ่นต้องการแรงงานทักษะ16 สาขา 820,000คน ที่แรกกรุงโตเกียว

วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบเข้าพบ Mr. Takamaro FUKUOKA

“พิพัฒน์” พบ รมว.แรงงาน ญี่ปุ่น ถกเพิ่มอัตราจ้างคนไทยดูแลผู้สูงอายุ พร้อมหนุนองค์กรรับส่งแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี

อิสราเอลต้องการ 'ซีเรียในแบบอื่น'

หลังจากการโค่นล้มบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย กองทัพอิสราเอลได้ดำเนินการโจมตีเป้าหมายทางทหารในซีเรียรวมแล้วประมาณ 480 ครั้งนับตั้งแต่วั

ฝนและความหนาวเย็นทำให้สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นและตัวประกันในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น

ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญกับภาว