16 ธ.ค.2564 - นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่าตามที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้รับการประสานจากพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งรวบรวมชื่อประชาชนจำนวนประมาณ 700,000 คน ที่ได้รับความเสียหายจากการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผิดพลาดของรัฐบาล โดยไม่สามารถควบคุม ป้องกันโรค และให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
สมาคมฯ ได้รับเป็นทนายความให้โดยได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลตรวจฟ้องแล้วเห็นว่าเป็นการฟ้องนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวหาว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จึงเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น
ด้วยความเคารพต่อความเห็นของประธานศาลอุทธรณ์ แต่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เฉพาะกรณีที่ความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นกับรัฐในภาพรวม เช่น การทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือการใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อันมีลักษณะเป็นความผิดต่อรัฐที่รัฐเท่านั้นจึงจะเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้
แต่หากผลการกระทำความผิดต่อรัฐดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายด้วย ประชาชนย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องบุคคลดังกล่าวที่ทำให้ตนได้รับความเสียหายได้ โดยเทียบเคียงกับคดีอาญาทั่วไปที่แม้จะเป็นความผิดต่อรัฐ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองได้โดยไม่จำเป็นต้องให้พนักงานอัยการเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องคดี
สำหรับคดีนี้ แม้จะเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่ผลของความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นกับรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ชีวิต ประชาชนที่ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิฟ้องนายกรัฐมนตรีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา194 และเทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาฎีกา (ประชุมใหญ่) ที่ 5673/2562 ซึ่งได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้วย่อมถึงที่สุดตามกฎหมาย สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอน้อมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวและขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่ไม่อาจใช้สิทธิของตนทางศาลต่อไปได้ หากประชาชนที่ได้รับความเสียหายยังประสงค์จะดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีต่อไปจะต้องไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1) เพื่อให้ ป.ป.ช. ไต่สวนซึ่งหาก ป.ป.ช. เห็นว่ามีมูลก็จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้อง ทั้งนี้ สมาคมยินดีที่จะร่วมมือกับพรรคไทยสร้างไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ประสงค์จะดำเนินคดีโดยผ่านช่องทางของ ป.ป.ช. ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลางอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 11 เห็นควรส่งสำนวนในชั้นตรวจฟ้องนี้ให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ และรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวก่อน
ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตฯ อ่านคำสั่งนายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ทั้งแปดฟ้องจำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจำเลยไม่สามารถจัดหาสถานที่รองรับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับสิทธิในการรักษามีผู้เสียชีวิตระบบสาธารณสุขของประเทศล้มเหลวเกิดความเสียหายต่อชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้จำเลยยังร่วมกับคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าวสำหรับบริการประชาชนอันเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดเพราะวัคซีนมีประสิทธิผลในการสร้างภูมิคุ้มกันการอนุมัติสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวเพิ่มเติม จึงไม่สามารถป้องกันโรคจำเลยทราบดี แต่กลับดำเนินการอนุมัติโดยใช้เงินงบประมาณสูงถึง 6,111,420,000 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งแปดและประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวและเป็นการอนุมัติสั่งซื้อโดยมีเจตนาทุจริตและจำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้นขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 165
คดีของโจทก์ทั้งแปด จึงเป็นการฟ้องนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 เป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดย พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10(1) บัญญัติให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายประกอบกับพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 5 ยังได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษาอันสอดคล้องกับพรบ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (1) ที่กำหนดว่า “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” มิให้รวมถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามความในมาตรา 7 วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ศิริกัญญา' ปูดรัฐบาลวางแผนยึดการบินไทย
“ศิริกัญญา” ชวนจับตา “รัฐบาล” วางแผนยึด “การบินไทย” ส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม 2 คน กุมเสียงข้างมาก คลังจ่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสิทธิ์ ถามเอาเงินจากไหน ไม่พ้นต้องควักเงินภาษี
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
'หมอวรงค์' จับโป๊ะ! ยิ่งฟังรัฐบาลแจง ยิ่งต้องรีบยกเลิก 'MOU 44'
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ยิ่งฟังคำชี้แจงต้องยิ่งยกเลิก MOU 44
'อิ๊งค์' แค่พยักหน้า ปม รพ.ตร. ไม่ยอมส่งเวชระเบียน 'พ่อนายกฯ' ให้ ป.ป.ช.
'นายกฯอิ๊งค์' ปฏิเสธตอบคำถาม ปม รพ.ตำรวจ ไม่ส่งเวชระเบียนรักษาตัว 'ทักษิณ' หลัง ‘ป.ป.ช.’ ทวงแล้ว 3 ครั้ง ทำแค่พยักหน้ารับทราบ
'นายกฯอิ๊งค์' ถกหัวหน้าส่วนราชการ ลุยลงทุน 9.6 แสนล้าน กระตุ้นจีดีพีประเทศ
นายกฯ ถกหัวหน้าส่วนราชการฯ กำชับผลักดันเม็ดเงินลงทุน 9.6 แสนล้าน สู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้น ‘จีดีพี’ ประเทศ
'เอ็ดดี้' ชำแหละ! แผนรัฐบาลคุม 'แบงก์ชาติ' บรรลุ 6 เป้าหลัก
นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เอ็ดดี้ อัษฎางค์" ในหัวข้อ "อะไรคือจุดประสงค์ของการแทรกแซงแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง"