เสียงปชช.ต่อเงินดิจิทัล! อยากเห็น'เศรษฐา'vs'ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ'  

โพลเปิดผลเสียงสะท้อนประชาชน ต่อเงินดิจิทัลวอลเล็ต  ไม่เชื่อมั่น กังขาที่มาเรื่องเงิน –ใครได้ใครเสีย หนุนนายกฯ ถกสดปัญหา ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

8 ต.ค.2566จากกรณีนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคนที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วไปนั้น สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง เสียงประชาชน ต่อ เงินดิจิทัล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงกาทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,111 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 – 7 ตุลาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อถามถึง ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ นโยบายแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาล พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 42.0 ไม่แน่ใจต่อความเชื่อมั่นเพราะรัฐบาลไม่ชัดเจนเอาเงินมาจากที่ไหน ใครได้ใครเสีย ป้องกันทุจริต สวมสิทธิ์รับเงิน ไม่ได้ติดตามข่าว ไม่รู้เรื่องนี้ ในขณะที่ ร้อยละ 32.1 เชื่อมั่น เพราะ นโยบายดีมีเงินใช้เพิ่ม แก้ปัญหาปากท้องได้ เงินกำลังขาดมือ แก้ตรงจุดได้เงินก้อน กระจายรายได้เงินหมุนเวียน เป็นต้น และร้อยละ 25.9 ไม่เชื่อมั่น เพราะ รัฐบาลไม่ชัดเจนกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ไม่คิดว่าจะทำได้จริง ส่งผลกระทบเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรวม เงินเฟ้อ เกิดทุจริตเชิงนโยบาย คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ ทุจริต สวมสิทธิ์รับเงิน บางคนจะตกสำรวจ ไม่ได้เงิน ระบบล่ม เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึง ความอยากเห็น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถกสดปัญหาการเงินของประเทศ ให้ ประชาชนทั้งประเทศรู้ และประชันวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 อยากเห็น ร้อยละ 25.0 ไม่อยากเห็น และร้อยละ 12.5 ไม่มีความเห็น

ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนต่อการสนับสนุนรัฐบาล พบว่า สัดส่วนพอพอกัน คือ ร้อยละ 37.3 สนับสนุนรัฐบาล นั่นหมายความว่า ในการสำรวจครั้งนี้ รัฐบาลยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เพราะ ร้อยละ 31.3 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และ ร้อยละ 31.4 อยู่กลาง ๆ เป็น พลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้ง ซูเปอร์โพล กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลในการช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนในยามวิกฤตปัญหาเงินขาดมือเป็นนโยบายที่ดีและเป็นเรื่องจำเป็นแต่มาตรการแจกเงินดิจิทัลยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่เพราะประชาชนจำนวนมากที่สุดยังไม่แน่ใจในหลายมิติของการแจกเงินดิจิทัล เช่น ความไม่ชัดเจนเอาเงินจากที่ไหนมาแจกประชาชน ใครได้ใครเสีย ป้องกันทุจริต สวมสิทธิ์รับเงินได้หรือไม่ รวมถึง ยังไม่เห็นความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ไม่คิดว่าจะทำได้จริง ส่งผลกระทบเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจรวม เงินเฟ้อ เกิดทุจริตเชิงนโยบาย คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ ทุจริต สวมสิทธิ์รับเงิน บางคนจะตกสำรวจ ไม่ได้เงิน ระบบล่มที่เคยเกิดขึ้นในการใช้เทคโนโลยีแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ผ่านมา

“ ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการถ่ายทอดสดการถกปัญหาการเงินของประเทศระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้ทำให้ประชาชนทั้งประเทศรู้สถานะที่พึงรู้เป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมปกป้องรักษาความมั่นคงทางการเงินเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมต่อไปเพื่อค้นหาแนวทางดึงฐานสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลเพิ่มขึ้นได้” ผศ.ดร.นพดล ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

สงสารประเทศไทย! แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ทุกอย่างจะกลับมาดี เป็นแค่ฝัน

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่าไม่แปลกใจที่งบประมาณกลางปี 2567 ซึ่งรัฐบาลขอตั้งเป็นพิเศษอีก 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้กับการแจกเงิน

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

เปิดรายละเอียดโหวตงบ 1.22 แสนล้านบาท 'งูเห่าพรึ่บ-บิ๊กเนมแห่โดดร่ม'

เช็กเสียงโหวตร่างงบเพิ่มเติม 2567 เสียงฝ่ายค้านหายไป 21 เสียง อึ้ง! งูเห่า 6 เสียง 3 ทสท.-พรรคเล็กโผล่โหวตหนุนฝ่ายรบ. ด้าน ปชป.ครองแชมป์หายเยอะสุด 10 คน รบ.หาย 23 เสียง ทั้งรมต.-สส.ตัวเป้ง