'รองอ๋อง' กางรายละเอียดดูงานสิงคโปร์ ใช้จริง 9 แสนบาท ถูกกว่างบที่ตั้งไว้ ยก 3 ข้อควรแก้ไข เพื่อยกระดับสภาไทย รับดื่มเบียร์จริง แต่ควรตัดสินภาพลักษณ์จากการทำงาน ถามกลับจะตรวจสอบเรื่องนี้เพื่ออะไร
27 ก.ย.2566 - นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง แถลงสรุปรายละเอียดโครงการดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ของสภาผู้แทนราษฎร ว่าค่าใช้จ่ายจากงบประมาณที่ตั้งไว้ 1,493,800 บาท ใช้จริงไป 917,009.51 บาท ถือว่าเราใช้ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ประมาณ 500,000 บาท ในเรื่องของงบรับรองตั้งไว้ 200,000 บาท ใช้จริงไป 61,742 บาท ส่งคืนคลังจำนวน 138,257 บาท ซึ่งรายละเอียดในการใช้จ่าย หมดไปกับการรับรองใช้ใน 2 งานหลัก คืองานเลี้ยงรับรองนักศึกษาและคนทำงานไทยในสิงคโปร์ที่ได้เชิญมาหารือกันในสถานทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรับรอง สส.สิงคโปร์ ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรายละเอียดการดูงานอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล แต่สิ่งที่ได้จากการดูงานครั้งนี้มี 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.เราต้องเตรียมความพร้อมในด้านกฎหมาย ที่จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) ในอนาคต โดยได้พบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าแล้ว พบว่าหากประเทศไทยไม่เตรียมโครงสร้างทางกฎหมายรองรับ การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเป็นไปไม่ได้ เช่น เรายังไม่มีการตกลงกันเรื่องเบ้าชาร์จรถไฟฟ้า ทุกคนอยากมีรถไฟฟ้า แต่ยังไม่ตกลงเรื่องกระบวนการชาร์จ ยังไม่ตกลงกันเรื่องรูปแบบของตัวถังที่จะมีการใช้แบตเตอรีของทุกค่ายผู้ผลิต ซึ่งทั้งหมดต้องใช้มาตรการที่ออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายที่เตรียมไว้ก่อน ผู้ประกอบการจึงสามารถลงทุน และสามารถที่จะดำเนินการได้ ตนจะส่งให้พรรคการเมืองต่างๆ และรัฐบาลเพื่อพิจารณา
2.เรื่องปัญหาความท้าทายของคนไทยที่ทำงานในระดับโลกที่อยู่สิงคโปร์ ที่ไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่พร้อม ยังไม่ดึงดูดชาวต่างชาติมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีมาตรการทางภาษีในการสนับสนุน ปัญหา Open Data ยังไม่มีเพียงพอที่ทำให้บริษัทมาลงทุนในประเทศไทยได้
3.เรื่องแรงงานไทยในสิงคโปร์ จากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมพบว่า ในขณะที่เราได้ยินการอภิปรายเรื่องปัญหาแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประเทศฟินแลนด์ ประเทศสิงคโปร์ไม่มีรายงานเรื่องนี้ แรงงานไทยเต็มใจ และตั้งใจที่จะอยู่สิงคโปร์ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้น และต้องการการสนับสนุนจากการที่แรงงานไทยจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น และมีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อทำให้เราแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นได้
นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการพัฒนาสภาให้ก้าวหน้าและโปร่งใส ในสภาสิงคโปร์มีระบบที่ต่างกับประเทศไทยมาก และประเทศสิงคโปร์ลงทุนกับประสิทธิภาพของสภาสูงมาก พบว่าสภาสิงคโปร์มีขนาดเล็ก เนื่องจากประเทศเล็ก มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อยคน แต่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากให้คุณภาพกับการประชุมสูงมาก
“ประชุมเต็มที่เดือนละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 3-4 วันประชาชนสามารถนั่งในสภาได้ทั้งวัน เพื่อดูเรื่องการดีเบต การเสนอญัตติ และการตัดสินใจต่างๆ ของ สส. เพราะฉะนั้นในสภาชุดนี้ ผมจะมีส่วนที่ทำให้ประชาชนสามารถมานั่งดูได้”
นายปดิพัทธ์ กล่าวย้ำว่า สำหรับเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเราไม่สามารถทำ Open Parliament ได้ ถ้ายังไม่มีนโยบายคลาวด์ ข้อมูลที่อยู่ในสำนักประชุม สำนักชวเลข ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลให้ทันสมัยขึ้นได้ เรื่องนี้ตนจะนำเข้าสู่กรรมการ ICT ของรัฐสภา เพราะว่าการลงทุนในระบบคลาวด์จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในอนาคต เพื่อทำให้การทำงานของสส. ทันสมัยที่สุด และสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีข้อมูลมากมายของสภาได้อย่างไร้รอยต่อให้ได้มากที่สุด
นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงข้อครหาในการดูงาน ว่า ในส่วนของคนที่ไป ก็จะมีสมาชิกที่ตามไป และกลับก่อน ซึ่งสมาชิกที่ตามไป ได้แก่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เนื่องจากติดโควิด-19 ส่วนสมาชิกที่กลับก่อนมี 2 คน ได้แก่ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และนายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลยพรรคเพื่อไทย ซึ่งทั้งคู่ติดภารกิจ แต่ได้มีการปรับตารางดูงานแล้ว
เมื่อถามถึงภาพการดื่มเบียร์ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มีความเข้าใจผิดว่า ตนไปในช่วงเทศกาลคราฟท์เบียร์ ตนยืนยันว่าเราไม่ได้ไป เราไปแคมป์คนงาน และได้พบคนงานกว่า 30 คน เราพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว มีการเชิญชวนกันว่าไปดูสถานที่ในหอพัก ดูว่าพวกเขากินอยู่อย่างไร เราได้ไปเยี่ยมสอบถามสารทุกข์สุขดิบ จึงเกิดภาพแบบที่เห็นขึ้นมา และไม่ได้เป็นภาพในร้านอาหาร แต่เป็นภาพในโรงอาหารของไซต์คนงานอยู่แล้ว
“ผมถือกระป๋องเบียร์ และก็ชนในวงต่างๆ ทำให้พวกเขากล้าที่จะพูดคุยกับผมมากขึ้น กล้าที่จะพูดคุยเรื่องความเป็นอยู่ ทำให้เกิดบรรยากาศแลกเปลี่ยน” นายปดิพัทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ยังมีคนมองว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงเวลาของการดูงานอยู่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของตนเองต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน ไม่สามารถแก้ตัวได้ เพราะก็ดื่ม แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เลิกงาน ชีวิตส่วนตัวพร้อมถูกตรวจสอบ และสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เรื่องดังกล่าวจะถูกตรวจสอบเพื่อนำไปสู่อะไร เหตุผลของการตรวจสอบเป็นอย่างไร และตรวจสอบทุกหน่วยงานเท่าเทียมกันหรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ต้องถามกลับไปยังผู้ที่ต้องการตรวจสอบ แต่หากภาพลักษณ์ของตนเอง ไม่น่าเชื่อถือในการทำงานสภา หรือไม่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ก็พร้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เคยกล่าวไว้ก่อนไปว่า จะไปในฐานะทูต และเกิดภาพดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น คิดว่าการชนแก้วในทุกวาระโอกาส ได้เข้าพบกับเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย รวมถึงพบกับ สส.ของประเทศสิงคโปร์ ก็มีการดื่มไวน์กัน ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเท่านั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรี การที่ดื่มไวน์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง และดื่มแอลกอฮอล์กับคนไทยที่ไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ เป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ได้มีผลต่อภาพลักษณ์แต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศร้า! รับร่างไร้วิญญาณแรงงานไทย เหยื่อสู้รบในอิสราเอลกลับถึงบ้านแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถยนต์ตู้ยี่ห้อ โตโยต้า สีขาว ทะเบียน นจ 3915 นนทบุรี ของร้านสุริยาหีบศพ แคราย ได้เคลื่อนย้ายร่างของนายประหยัด
'มาริษ' ร่อนหนังสือประท้วงทางการอิสราเอล หลังแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเหตุยิงจรวดเข้าไปในเขตประเทศอิสราเอล และทำให้คนไทยเสียชีวิต 4 ราย แล
นายกฯ เสียใจสุดซึ้ง เหตุแรงงานไทยเสียชีวิต ใกล้ชายแดนเลบานอน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความ ว่า เมื่อคืนนี้(31 ต.ค.) ได้รับรายงานจากนายมาริษ เสงียมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ @AmbPoohMaris
"พิพัฒน์" แสดงความเสียใจ 4 แรงงานเสียชีวิตในอิสราเอล สั่งการปลัดประสานเอกอัคราชทูต อพยพแรงงานภาคเหนือ ไปทางภาคใต้ของอิสราเอล ด่วน
1 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกมาแสดงความเสียใจ กรณีแรงงานไทยเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ว่า
“พิพัฒน์” ย้ำ ในเวทีรัฐมนตรีอาเซียน แรงงานไทยรุ่นใหม่ มีทักษะ รองรับงานท่องเที่ยว เทคโนโลยี เกษตรอัจฉริยะ พร้อมเป็นเจ้าภาพ ปี 69 ต่อจากสิงคโปร์
วันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน
‘พิพัฒน์’ ปั้นผู้ประกอบการช่างตัดผม ช่างเสริมสวย อัพสกิลแรงงาน สร้างรายได้สูง มั่นคง ยกระดับฝึมือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
วันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการแข่งขันตัดผมและมอบถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันในงานครบรอบ 10 ปี กลุ่มช่างตัดผมชาย ในงาน 10 th Anniversary Barber Society of Thailand 2024