กสม. แนะกลาโหม ติดตามและแจ้งญาติในทันที กรณีทหารกองเกินหายตัว ระหว่างการดูแลของสัสดี

กสม. แนะกลาโหม ติดตามและแจ้งญาติในทันที กรณีทหารกองเกินหายตัวไปในระหว่างการดูแลของสัสดี ก่อนพบเป็นศพจมน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้า

15ก.ย. 2566 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ กล่าวว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมี.ค. 2566 ระบุว่า บุตรชายของผู้ร้อง ผ่านการตรวจคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2565 ผู้ร้องส่งตัวบุตรชายให้สัสดีอำเภอคลองหลวง (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งนำส่งตัวบุตรชายของผู้ร้องและทหารกองเกินรายอื่นไปยังสถานที่นัดรวมพลเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการ เมื่อไปถึงสถานที่นัดรวมพล เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสัสดีจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ให้บุตรชายของผู้ร้องและทหารกองเกินรายอื่นนั่งพักคอยรอเรียกชื่อ เมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 2 เรียกชื่อทหารกองเกินเพื่อขึ้นทะเบียน ปรากฏว่าบุตรชายของผู้ร้องไม่อยู่ในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมามีผู้พบศพบุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ผู้ร้องเห็นว่าเมื่อผู้ถูกร้องทั้งสองรับตัวบุตรชายของผู้ร้องแล้ว มีหน้าที่ต้องดูแลผู้อยู่ในปกครอง การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องเป็นการประมาทเลินเล่อ ขาดความระมัดระวัง และเมื่อทราบว่าบุตรชายของผู้ร้องหายตัวไป ไม่ติดตามหรือดำเนินการตามหน้าที่เพื่อนำตัวบุตรชายของผู้ร้องกลับมารับการฝึกแต่อย่างใด หลังจากนั้น ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย จังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกร้องที่ 3) ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิต และจงใจปล่อยปละละเลย ประมาทเลินเล่อ ละเว้น และบกพร่องต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้บุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิต แต่ระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้วผู้ร้องยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดี จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. เห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นต้องพิจารณา ว่า สัสดีอำเภอคลองหลวง และสำนักงานสัสดีจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีปล่อยปละละเลยให้บุตรชายของผู้ร้องหายตัวไปจากสถานที่นัดรวมพลจนนำไปสู่การเสียชีวิต หรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 จนทำให้บุตรชายของผู้ร้องเสียชีวิต และศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว กสม. จึงไม่อาจใช้หน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว ซึ่ง กสม. จะติดตามผลการพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม กสม. มีข้อสังเกตว่า เมื่อบุตรชายของผู้ร้องได้เข้ารายงานตัวตามนัดหมายเข้ารับราชการทหารของอำเภอคลองหลวง โดยมีผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก มารับตัว มีการแจกเบี้ยเลี้ยงและให้ขึ้นรถบัสนำส่งตัวไปยังสถานที่รวมพลที่ผู้ถูกร้องที่ 2 กำหนด จึงเห็นว่า บุตรชายผู้ร้องอยู่ในความดูแลและภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ถูกร้องทั้งสองแล้ว ซึ่งหากผู้ร้องได้รับแจ้งกรณีที่บุตรชายหายตัวไปจากสถานที่ดังกล่าวอย่างรวดเร็วและทันท่วงที อาจจะแก้ไขสถานการณ์ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แต่จากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้ติดตามหาตัวบุตรชายของผู้ร้อง หรือมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการติดตามหรือแจ้งให้ผู้ปกครองหรือญาติทราบอย่างรวดเร็ว

ส่วนประเด็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย (ผู้ถูกร้องที่ 3) ไม่แจ้งความคืบหน้าการสอบสวนในคดีที่ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ไว้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนได้มีหนังสือแจ้งความคืบหน้าการสอบสวนคดีอาญาให้ผู้ร้องทราบ 2 ครั้ง ซึ่งระยะเวลาการแจ้งความคืบหน้าเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 ก.ค. 2556 เรื่องการแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้แจ้งความร้องทุกข์ ทราบแล้ว ในชั้นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การร้องทุกข์ของผู้ร้องที่ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นกรณีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์ ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ต่อผู้ถูกร้องที่ 3 และส่งเรื่องร้องทุกข์ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นระยะเวลากว่า 178 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงกลาโหมให้ปรับปรุงวิธีการหรือขั้นตอน กรณีพบว่าทหารกองเกินที่ได้มารายงานตัวต่อสัสดีแล้ว แต่ต่อมาได้หายตัวไประหว่างรอขึ้นทะเบียนกองประจำการหรือระหว่างการนำส่งตัว โดยให้มีการติดตามตัวและแจ้งครอบครัวหรือญาติของทหารกองเกินทราบในทันที และให้ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทยที่ไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นได้ทันตามกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด แล้วนำผลการตรวจสอบไปกำหนดมาตรการหรือแนวทางเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. ชี้ตร.ปล่อยให้มีการถ่ายภาพ-คลิปเด็กกราดยิงในห้างฯเผยแพร่ในโซเชียล ละเมิดสิทธิ

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการถ่ายภาพและคลิปวิดีโอของเด็กผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการละเมิดสิทธิฯ

'สุทิน' ยันไม่ล้วงลูก ทอ. เลือก 'กริพเพน' หรือ 'เอฟ-16' เชื่อไม่กระทบสัมพันธ์ สองค่ายขั้วเดียวกัน

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ ภายหลังกองทัพอากาศ ได้สรุปข้อมูล 2 แบบ ได้แก่ F-16 Block 70 บริษัท Lockheed Martin สหรัฐ​อเมริกา และ Gripen E บริษัท SABB สวีเดน ผ่านมายัง รมว.กลาโหม

ครม. อนุมัติโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกลาโหม ปีงบประมาณ 68-70

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม (กห.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570

กมธ.งบฯ68 จ่อถก 'กลาโหม' สัปดาห์หน้า ตั้ง 9 อนุฯ หวังเพิ่มประสิทธิภาพ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 แถลงผลการพิจารณาของกมธ.ฯประจำสัปดาห์

เปิดผลตรวจสอบ 'คดีไซยาไนด์' ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนคดีไซยาไนด์ ชี้ตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ สื่อเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและตีตราผู้ต้องหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

'สุทิน' เผยทูตสหรัฐ เสนอขายเครื่องบินรบ เอฟ-16 พร้อมปล่อยกู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังทูตสหรัฐฯ เข้าพบ เพื่อสนับสนุนเครื่องบินเอฟ 16 พร้อมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ว่า เขามาเสนอขายธรรมดา อยากให้เราช่วยพิจารณา